อ่านเกม Metro Mall มากกว่าพื้นที่ค้าปลีกใน MRT แต่เป็น Rest Area ให้คนกรุง

เมื่อ Metro Mall กลายเป็นอีกหนึ่งเกมรุกของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT จุดรวมร้านค้าปลีก เพิ่มทราฟิกให้เข้าสถานีมากขึ้น กลายเป็นจุด Rest Area ที่ตอบโจทย์คนกรุงได้ครบ

เทรนด์การใช้ชีวิตกับการเดินทางมาแรง Metro Mall จึงมีที่ยืน

คนกรุงที่ได้สัญจรด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่เป็นประจำ คงจะคุ้นเคยกับ Metro Mall หรือพื้นที่ค้าปลีกภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT บริหารงานโดย บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ได้หมายมั่นปั้นมือให้เป็นแม็คเน็ตที่ดึงคนเข้าสถานีให้มากขึ้น

จริงๆ แล้ว Metro Mall ได้มีมาเป็น 10 แล้ว แต่เดิมจะเป็นในส่วนของร้านค้า SME และร้านขายอุปกรณ์ไอที แก็ดเจ็ตเสียมากกว่า จนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้ได้ทำการรีแบรนด์ และรีโนเวทปรับโฉมใหม่ เพิ่มร้านค้าให้มากขึ้น จนมีทราฟิกผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Metro Mall ได้เปิดใน 11 สถานีของ MRT ได้แก่ คลองเตย, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, สุขุมวิท, เพชรบุรี, พระราม 9, ศูนย์วัฒนธรรม, รัชดาภิเษก, ลาดพร้าว, พหลโยธิน, จตุจักร และกำแพงเพชร หลักการเลือกที่จะเปิดก็ดูทราฟิกคนใช้บริการ และกลุ่มเป้าหมายในระแวกนั้นว่ามีศักยภาพมากแค่ไหน

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด ผู้ที่เข้ามารีโนเวท Metro Mall ให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น ได้เล่าว่า

“จริงๆ Metro Mall เปิดมาแล้ว 10 ปี แต่เริ่มมาบุกจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ผมเข้ามาบริหาร ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างมาก เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการใช้ชีวิตกับรถไฟฟ้าอยู่ตลอด เป็นเทรนด์การใช้ชีวิตกับการเดินทาง

ในยุคแรกๆ ใน Metro Mall จะมีร้าน SME และร้านขายแก็ดเจ็ตต่างๆ แต่คิดว่าไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ยุคนี้ต้องเรื่องอาหารการกิน ซึ่งก็มี Lawson108 กับ Cafe Amazon ที่เป็นพาร์ทเนอร์ตั้งแต่แรกเริ่ม เปิดทุกสาขา ตอนนี้ก็พยายามเพิ่มร้านอาหารมากขึ้น”

ณัฐวุฒิบอกว่า ได้มอง Role Model ของพื้นที่ค้าปลีกในรถไฟฟ้าใต้ดินก็คือประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีในส่วนของร้านอาหารเยอะมาก ซึ่งมีการเติบโตสูง ต้องปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

เมื่อมีการปรับเปลี่ยน รีโนเวทใหม่ ก็ทำให้ Metro Mall มีทิศทางในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 เติบโต 40% และในปี 2018 เติบโตถึง 50%

เป็น Rest Area ที่มากกว่าห้างฯ เปิดเร็ว มีห้องน้ำ พร้อมไวไฟ

ปัจจุบัน Metro Mall มีพื้นที่สำหรับค้าปลีกรวมทั้งหมด 10,000 ตารางเมตร เฉลี่ยสถานีละ 1,000 ตารางเมตร มีบางสถานีที่ยังเปิดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นอย่าง ลาดพร้าว รัชดา และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในช่วงรีโนเวทได้ทำการเพิ่มร้านอาหารใหม่ๆ ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ร้านอาหารแบบ Grab & Go รวมถึงร้านค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ เพิ่มห้องน้ำ และอินเตอร์เน็ตไวไฟ

ณัฐวุฒิบอกว่า ในอดีตนั้น Pain Point สำคัญที่ทำให้ Metro Mall ยังไม่แจ้งเกิด เพราะยังจับจับความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้ ยังเป็นภาพเทาๆ รวมถึงผู้บริหารของแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์อาจจะไม่ได้ใช้บริการ MRT ไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค Awareness ในตลาดเลยน้อย แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มเข้าใจมากขึ้น

ซึ่งทาง BMN ได้พยายามสร้างจุดยืนให้ Metro Mall เป็น Rest Area จุดพักคอยเพื่อตอบโจทย์คนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงคนอื่นๆ แต่มีจุดแข็งที่มากกว่าห้างคือเปิดตั้งแต่ 6.30-21.00 น. มีพื้นที่นั่ง มีห้องน้ำ และไวไฟฟรี

กลายเป็นว่า Metro Mall ทำให้แบรนด์ต่างๆ ที่มาเป็นพาร์ทเนอร์เปิดร้านในโมเดลใหม่ๆ เพื่อจับกลุ่มคนที่เดินทางรถไฟฟ้าจริงๆ ล่าสุดร้าน A&W ก็ออกโมเดล A&W Express เป็นรูปแบบ Grab & Go รับประทานอาหารได้ง่าย ถ้ามาเปิดแบบร้านใหญ่ๆ ที่เปิดในห้างก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะพฤติกรรมต่างกัน

ชา-กาแฟขายดีสุด สถานีพระรามเก้าทราฟิกดีสุด

ทำให้ในตอนนี้ Metro Mall มีสัดส่วนร้านค้าแบ่งเป็น อาหาร 60% แฟชั่น 10% SME 10% และอื่นๆ เช่น สถาบันการเงิน ร้านตัดผม ทำเล็บ ทำผม 20%

Metro Mall ได้เพิ่มพาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ อย่างตอ่เนื่อง เช่น สตาร์บัคส์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ราเม็งบอย สิ่งที่มองหาเพื่อมาตอบโจทย์เพิ่มเติมก็คือกลุ่มสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารในรูปแบบ Grab & Go แต่อยากได้กลุ่มอาหารไทยเข้ามามากขึ้นเช่นกัน เน้นร้านค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันในทุกๆ วัน

ถ้าพูดถึงทราฟิกผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 5 สถานีที่มีผู้ใช้มากที่สุด ได้แก่ สุขุมวิท พระรามเก้า เพชรบุรี จตุจักร และสีลม อย่างสถานีสุขุมวิทมีทราฟิกเฉลี่ย 80,000-90,000 คน/วัน มีสัดส่วนคนใช้บริการ Metro Mall 25% เติบโตเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการรีโนเวท จากแต่ก่อนมีสัดส่วนใช้บริการแค่ 10% เท่านั้น

ส่วนสถานีพระราม 9 มีทราฟิกการใช้บริการ Metro Mall มากที่สุด เพราะมีทางเชื่อมทั้งศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ มีทราฟิกเข้าสถานี 50,000 คน แต่เข้าใช้บริการ Metro Mall 20,000 คน

ส่วนแผนในปีนี้ได้เตรียมรีโนเวท Metro Mall สถานีจตุจักร ใช้งบลงทุน 25 ล้านบาท มีแผนที่จะรีโนเวทสถานีพหลโยธินเพิ่มเติมด้วย ส่วนในปีหน้ามีแผนที่จะเปิดพื้นที่ในสถานีลาดพร้าวเพิ่มเติม หลังจากที่เปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ตไป รวมถึงสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย

เป้ารายได้ 650 ล้าน เข้าตลาดอีก 3 ปี

ปัจจุบัน BMN มีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. โฆษณา 60% 2. ให้บริการโครงข่ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT 30% และพื้นที่ค้าปลีก 10% ซึ่งรายได้จากค้าปลีกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 3 ปีก่อนมีสัดส่วน 5-6% มีการตั้งเป้าให้มีสัดส่วน 10-20% ในอนาคต

ตอนนี้ MRT มีทราฟิกรวม 350,000 เที่ยว/วัน หรือคิดเป็น 700,000 ครั้งในการแตะบัตรเข้าระบบ ปีหน้าจะเปิดสายหัวลำโพง-บางแค ยิ่งทำให้ีผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะเพิ่มทราฟิกเป็น 500,000 เที่ยว/วัน

ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 650 ล้านบาท และมีการศึกษาในการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

สรุป

ธุรกิจค้าปลีกยังไม่ตาย เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้อยู่กับการเดินทาง การที่ Metro Mall ทำการบ้าน แล้วจับตลาดอย่างจริงจัง จะทำให้มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา