เจาะลึกกระจังหน้าแต่ละยุคของ Mercedes-Benz จากซี่โครเมียม สู่ดีไซน์เรียบหรู แต่แฝงด้วยเซ็นเซอร์

ในอดีต กระจังหน้ารถยนต์ หรือ Grille ถูกทำขึ้นมาเพื่อรับอากาศ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับหม้อน้ำ และเครื่องยนต์ แต่ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งรถยนต์แบบดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์ และหม้อน้ำ ทำให้การออกแบบกระจังหน้าไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ อีกต่อไป

Mercedes-Benz หนึ่งในค่ายผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่ของโลกจึงรวบรวมการเปลี่ยนแปลงของกระจังหน้าของแต่ละรุ่น แต่ละยุค เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมเปิดเผยรายละเอียดของกระจังหน้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีไว้แค่รับลม หรือป้องกันความเสียหาย แต่คือศูนย์รวมของเซ็นเซอร์จำนวนมากเพื่อช่วยเหลือการขับขี่

Mercedes-Benz

จากระบบหม้อน้ำ สู่กระจังหน้าเอกลักษณ์

จุดเริ่มต้นในการออกแบบกระจังหน้าของ Mercedes-Benz คือ การต่อยอดมาจากการออกแบบหม้อน้ำรถยนต์ โดยในปี 1900 ทางค่ายได้ออกแบบหม้อน้ำทรงรังผึ้งขนาดใหญ่ที่ภายในมีท่อขนาดเล็กกว่า 8,000 ชิ้น เพื่อช่วยระบายอากาศ และนั่นคือมาตรฐานใหม่ของวงการรถยนต์ ผ่านการที่หลายค่ายนำการออกแบบนี้ไปประยุกต์ใช้

อย่างไรก็ตามการจะปล่อยให้หม้อน้ำแผงรังผึ้งติดไว้ที่หน้าตัวรถเลยก็คงไม่ปลอดภัยในการขับขี่ ทำให้ปี 1931 ทาง Mercedes-Benz ได้ออกแบบกระจังหน้าโครเมียมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับหม้อน้ำ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวถูกใช้มาต่อเนื่องมากกว่า 50 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ Mercedes-Benz

ถ้าเอาที่คนทั่วไปรู้จักมีตั้งแต่ W 110 หรือฉายา เบนซ์หางปลา, W115 หรือ เบนซ์ตาตั้ง และ W124 หรือ เบนซ์โลงจำปา ที่ต่างมีกระจังหน้าขนาดใหญ่กว่ารถยนต์แบรนด์อื่น มากับการชุบโครเมียมจนเงา จนเมื่อเห็นแค่กระจังหน้าหลายคนก็รู้ว่านี่คือรถยนต์ของแบรนด์ Mercedes-Benz

เปลี่ยนผ่านสู่ยุค 2000s ที่ใช้ความโมเดิร์นเข้าแทน

จนกระทั่งถึงยุค 2000s การออกแบบกระจังหน้าของ Mercedes-Benz เริ่มเปลี่ยนไป จะอยู่แค่ดีไซน์รังผึ้งขนาดใหญ่คงไม่ได้ โดยทางแบรนด์เลือกลดขนาดความใหญ่ของกระจังหน้า และปรับเหลือเพียงเส้นยาวแนวขวางแทน โดยช่วงแรกอาจมากับ 5 เส้น แต่สุดท้ายค่อย ๆ ลดลงจนเหลือ 1-2 เส้น

ขณะเดียวกันการทำตลาดของ Mercedes-Benz ในเวลานั้นค่อย ๆ เพิ่มความชัดเจนระหว่างรถยนต์หรูแบบดั้งเดิม และรถยนต์แบบสปอร์ต ทำให้กระจังหน้าในเวลานั้นมีความหลากหลาย ผ่านการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

จนเมื่อยุค 2010s การออกแบบเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะ Mercedes-Benz มากับกระจังหน้าใหม่ในชื่อ Diamond Grille ที่โดดเด่นกว่ารถยนต์หรู และมีแบรนด์อื่น ๆ ได้แรงบันดาลใจไปปรับใช้ ส่วนฝั่งรถสปอร์ตก็มีกระจังหน้าแบบ Mercedes-AMG ที่มากับเส้นยาวแนวดิ่ง เพิ่มความดุดัน และยกระดับสมรรถนะได้จริง

Mercedes-Benz
กระจังหน้ายุคใหม่ของ Mercedes-Benz

เข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าที่กระจังหน้าไม่ใช่แบบเดิม

ตอนนี้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ รวมถึง Mercedes-Benz ได้เข้ามาสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว ทำให้ประโยชน์ดั้งเดิมของกระจังหน้าที่ใช้ป้องกันหม้อน้ำ และรับอากาศไม่มีอีกต่อไป ซึ่ง Mercedes-Benz เลือกยกเครื่องกระจังหน้าใหม่ทั้งหมด โดยทำเป็นกระจังหน้าทึบสีดำ และมากับชื่อ Black Panel

กระจังหน้าแบบทึบช่วยให้การขับขี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะถ้าคิดตามหลักอากาศพลศาสตร์ หรือ Aerodynamic อากาศจะวิ่งขึ้นไป และกดตัวรถได้ทันที ไม่ได้ลอดเข้าไปในเครื่องยนต์เหมือนในอดีต แต่ใช่ว่า Mercedes-Benz จะปิดไว้แค่นั้น เพราะภายใน Black Panel เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ช่วยเหลือการขับขี่

ตั้งแต่กล้อง, ระบบอัลตราซาวด์ และเรดาร์ กับไลดาร์ ที่ตัวรถจะนำข้อมูลต่าง ๆ มาคำนวณเพื่อประยุกต์ใช้ในระบบรถยนต์ไร้คนขับ และระบบแจ้งเตือนการขับขี่ แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน Mercedes-Benz ยังแทรกดีไซน์ในอดีตไว้ใน Black Panel เช่น เส้นขีดขวาง และ Diamond Grille อีกด้วย

สรุป

กระจังหน้าถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ และสัญลักษณ์ของรถยนต์แต่ละแบรนด์ เพราะถ้าออกแบบดี ๆ เพียงแค่มองก็รู้ว่าคือรถยนต์แบรนด์อะไร ซึ่ง Mercedes-Benz คือหนึ่งในผู้สร้างมาตรฐาน และได้รับการจดจำจากผู้บริโภคมาตลอด ซึ่งในยุค Black Panel ก็คงไม่ยากที่ทางแบรนด์จะประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตเช่นกัน

อ้างอิง // Mercedes-Benz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา