สุขภาพจิตแย่ แต่ไม่กล้าไปหาหมอ เรื่องใหญ่อันดับ 1 ของคนอินเดีย

ปัญหาสุขภาพจิต (mental health) กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่อินเดียที่แรกและที่เดียว ก่อนหน้านี้ก็มีทั้งในญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ แต่ในอินเดีย อาจได้รับผลกระทบหนักหนากว่าที่อื่น เมื่อรู้สึกว่าไม่สบายใจ แต่หาหมอไม่ได้ เพราะกลัวคนตัดสินว่าผิดปกติ

อินเดีย India
Photo by Nitin Gupta on Unsplash

ชเวตามีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ ต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 หลังจากประสบภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล แพทย์ระบุว่า เธอมีความเครียดในชีวิตสูง เนื่องจากเธอต้องการหางาน ต้องดูแลลูก 3 คน ต้องดูแลคนสูงวัย ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อสุขภาพจิตของเธอ นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว เธอก็ไม่เข้ารับการบำบัดหรือพบจิตแพทย์แต่อย่างใด เธอบอกว่าถ้าเธอทำเช่นนั้น คนอื่นจะมองว่าเธอผิดปกติ

ทัศนคติของเธอที่มีความอายที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต (mental health) นั้น คือกลัวการถูกตัดสิน ซึ่ง WHO เคยระบุว่า ชาวอินเดียมีมีปัญหาสุขภาพจิตราว 7.5% โดย 56 ล้านคนมีอาการซึมเศร้า และ 38 ล้านคนเป็นโรคกังวล

นอกจากนี้ มีผลการศึกษาโดย Assocham เมื่อปี 2015 พบว่า พนักงานในองค์กรเอกชนราว 42.5% แสดงอาการกังวลหรือแสดงอาการซึมเศร้าให้เห็น ขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนที่มีการดำเนิน 1,000 แห่ง จาก 1.1 ล้านแห่งของประเทศมีโครงการให้ความช่วยเหลือพนักงานด้านสุขภาพจิตด้วย Lancet ระบุว่า อินเดียมีจำนวนประชากร 1.3 พันล้านคน คิดเป็น 36.6% ของการฆ่าตัวตายทั่วโลก ปี 1990 มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 25.3% ปี 2016 ผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 36.6% ผู้ชายอยู่ที่ 24.3%

depress เศร้า ซึมเศร้า mental health
ภาพจาก Shutterstock

เดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ก็มีนักแสดงชื่อดังของบอลลีวูดที่ฆ่าตัวตายเช่นกัน สำหรับอินเดียแล้ว สังคมไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ คือศัตรูหมายเลข 1 สำหรับการคิดจะเข้ารักการรักษาด้านสุขภาพจิต เรื่องนี้ ดร. สัมฤทธิ์ นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า อินเดียเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม การไปพบแพทย์เพราะอาการซึมเศร้าหรือมีความกังวลใจจะทำให้ผู้คนในสังคมมองว่า บุคคลที่มีอาการเช่นนี้มีความผิดปกติ เหมือนเวลาเห็นผู้ชายร้องไห้ แทนที่จะมีการปลอบประโลม ผู้ชายคนนั้นกลับถูกตั้งคำถามว่าเป็นผู้หญิงหรือ ถึงร้องไห้? ในสังคมเอเชีย เด็กส่วนใหญ่มักเติบโตมาด้วยการถูกควบคุมหรือต้องพยายามปกปิด ซุกซ่อนอารมณ์ ความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้

การรักษาในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น นักจิตวิทยาที่ศึกษาทั้งในสหรัฐฯ สิงคโปร์ ระบุว่าปัจจจัยร่วมที่เหมือนกันในเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น คือวัฒนธรรมที่ผู้คนไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมา พวกเขาเลือกที่จะเก็บซ่อนเป็นความลับ เป็นเรื่องส่วนตัว และจัดการต่อสู้กับจิตใจตัวเองเพียงลำพัง

ประเด็นเรื่องสุขภาพจิต (mental health) ได้รับการยอมรับทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป มีการให้รับการรักษาทั้งการให้เข้าบำบัด ให้คำปรึกษา มีเครือข่ายสนับสนุน มีองค์กรที่สามารถเข้าถึงประชาชนเพื่อให้ความช่วยเหลือได้

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสร้างแรงกดดันให้ผู้คนมากขึ้น ลักษณะครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) และการแยกตัวออกจากบ้านที่เคยเป็นครอบครัวขยายซึ่งเคยมีทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมอารมณ์ความรู้สึกให้คนเติบโตและมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ขึ้น สิ่งเหล่านี้หายไปในสังคมอินเดียปัจจุบัน (ในที่นี้หมายความถึงครอบครัวที่อบอุ่น ไม่สร้างปัญหาสุขภาพจิต)

อินเดีย India
Photo by Tiago Rosado on Unsplash

ถ้าพูดถึงเรื่องการดูแลด้านสาธารณสุข อินเดียจัดสรรงบประมาณด้านนี้อยู่ที่ 1.6% ของ GDP ขณะที่ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์จัดงบประมาณที่ 4.4% มาเลเซีย 4.7% ไทย 9.6% ญี่ปุ่นมากกว่า 10% และจีน 12.6% ของ GDP

ในปี 2017 อินเดียออกกฎหมายดูแลสุขภาพจิต (Mental Healthcare Act) เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้ แต่ก็เป็นการลงทุนในระดับต่ำ ทำให้มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในอัตราที่น้อยตามไปด้วย

WHO เคยระบุว่า อินเดียมีจิตแพทย์ 30 คน พยาบาล 12 คน นักจิตวิทยา 7 คน คนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ 7 คน ต่อคนอินเดียจำนวน 10 ล้านคน สัดส่วนขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 300 คนต่อแผนก แต่อัตราที่เห็นมันต่ำเกินไป ขณะที่ต้นทุนในการรักษานั้น ในหลายประเทศส่วนใหญ่จะคิดค่ารักษาอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อระยะเวลา 40 นาที (นาทีละ 1 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย) แต่ก็มีหลายแห่งที่ค่ารักษาแพงกว่านี้

IMF ระบุว่า อินเดียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 1,876 เหรียญสหรัฐต่อปี ปัญหาสุขภาพจิตมีโควิด-19 ระบาดเป็นปัจจัยเร่ง ทำให้คนมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นกว่าเก่า มีการรายงานจากมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตายของอินเดียระบุว่า มีการทำร้ายตัวเอง และมีคนที่คิดจะฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น

India อินเดีย
Photo by Varun Gaba on Unsplash

ผลสำรวจในอดีตพบว่า โรคระบาดมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย สมัยไข้หวัดสเปนที่เกิดขึ้นในปี 1918-1919 คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และฮ่องกงในหมู่คนสูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ การที่ผู้คนต้องอยู่ติดบ้านยาวนานขึ้นมันทำให้คนมีเวลาไตร่ตรองมากขึ้น โดดเดี่ยวยาวนานขึ้น กอปรกับความรุนแรงในครอบครัว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ นักจิตวิทยาคลินิกให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า คนที่รู้สึกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ควรเลิกสนใจความคิดเห็นของผู้อื่นและเข้ารับการรักษา

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา