เจาะลึกข้อมูลสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอัตราโรคซึมเศร้าสูงอันดับ 2 ของโลก แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไร

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารวมกันกว่า 264 ล้านคน และไม่ว่าช่วงปีใด อาการซึมเศร้าจะปรากฏในผู้ใหญ่ 1:15 คน ซึ่งที่สหรัฐอเมริกานั้นมีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าสูงเป็นอันดับสองของโลก

ซึมเศร้า

เปิดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในสหรัฐอเมริกา

WHO เปิดเผยว่า ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปแล้วกว่า 17 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 300 ล้านคน

โดยหน่วยงาน Mental Health America พบว่า แม้จะเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2017-2018 ก็มีผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน

ส่วนในฝั่งของวัยรุ่นนั้นมีอัตราการคิดฆ่าตัวตายและอัตราการทำร้ายตัวเองเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะในเยาวชนกลุ่ม LGBTQ+

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้ารับการรักษากว่า 60% และมีผู้ป่วยซึมเศร้ารุนแรงเพียง 27.3% เท่านั้นที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 

Richard Branson

ตัวอย่างบริษัทใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตพนักงาน

บริษัท Virgin ของ Richard Branson จะจัดเวิร์คชอปที่เรียกว่า MindCoach เป็นประจำ เพื่อให้พนักงานรับมือกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งผู้จัดการทุกคนในบริษัทยังได้รับการเทรนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพนักงานอีกด้วย

ในฝั่งของบริษัท Johnson & Johnson ทั้งพนักงานและคนในครอบครัวจะได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพจิต เพราะทางบริษัทเชื่อว่าหากครอบครัวของพนักงานมีสุขภาพจิตดี พนักงานก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย และทางบริษัทยังเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ารับการบำบัดได้ถึง 6 ครั้งต่อปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ที่ Microsoft ผู้บริหารมักจะกล้าขึ้นมาแชร์เรื่องราวหรือปัญหาส่วนตัวของตนเอง พนักงานจึงมองว่าบริษัทเป็นพื้นที่ปลอดภัย และกล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสุขภาพจิตด้วยกัน ทำให้ช่วยบรรเทาความเครียดทั้งจากเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวลงได้

เมื่อคนไทยก็เผชิญปัญหาสุขภาพใจไม่แพ้กัน

ในฝั่งของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เป็นทุนเดิม ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่ต้องกักตัว สาเหตุหลักคือพิษความเครียดและอาการซึมเศร้าจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของสถานการณ์โควิด-19 

อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอีก เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว และภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

กรณีศึกษาจากธุรกิจฝั่งอเมริกาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเยียวยาสุขภาพจิตคนไทย

  • อาหารเสริมที่ช่วยด้านสุขภาพจิต

โดยปกติบริษัท Natural Stacks จะผลิตอาหารเสริมเพื่อช่วยบำรุงสมองเป็นหลัก และผลิตอาหารเสริมด้านสุขภาพจิตบ้าง ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เช่น ผลิตภัณฑ์ Serotonin Brain Food ที่ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเซโรโทนิน เพื่อคลายเครียดและมีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้น

  • สมุดแพลนเนอร์ด้านไลฟ์สไตล์

Saint Belford เป็นธุรกิจผลิตสมุดแพลนเนอร์ที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยสมุดแพลนเนอร์ของบริษัทนี้มีความพิเศษคือนอกจากสามารถนำมาใช้วางแผนเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตแล้ว ยังมีหลายพาร์ทในเล่มที่ให้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตนเองอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในชีวิตประจำวันซึ่งถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพจิตของลูกค้ามากขึ้น เช่น Baloo Living แบรนด์ผ้าห่มสุดหรูซึ่งชูจุดขายว่าเป็นผ้าห่มที่นุ่มและให้ความอบอุ่นเหมือนถูกโอบกอดเบาๆ โดยทางเจ้าของแบรนด์เชื่อว่า ไม่ว่าใครจะเหนื่อยล้าจากการทำงานมาขนาดไหน หากได้นอนหลับไปพร้อมกับผ้าห่มผืนนี้จะรู้สึกดีขึ้นอย่างแน่นอน

โดยสรุป

เทรนด์ธุรกิจด้านสุขภาพจิตนั้นน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่ช่วยให้คนทั่วไปดำเนินชีวิตต่อได้โดยมีสุขภาพใจที่ดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา worldpopulationreview, mhanational, ripplematch, starterstory, matichon

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา