คุยกับ คม-ณัฐพล CEO ของ Mentagram ที่นำความชอบใน Active Lifestyle ปั้นธุรกิจสู่รายได้ 1,000 ล้านบาท

ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ และเศรษฐกิจที่ไม่อำนวย หลายคนจึงเริ่มทิ้งความฝันในการนำสิ่งที่ชอบมาก่อให้เกิดรายได้ หรือสร้างเป็นธุรกิจตัวเอง และยอมจะอยู่กับงานประจำ หรืองานที่มั่นคงเพื่อประคองชีวิตให้อยู่รอด แต่ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนาน ๆ คงจะไม่ดี ซึ่งนั่นคือที่มาของการพูดคุยกับ คม-ณัฐพล ปัทมพงศ์ CEO ของ Mentagram

เพราะ คม-ณัฐพล สร้างธุรกิจของตัวเองด้วยการนำความชื่นชอบในการเล่นกีฬา Xtreme ด้วยการขายกล้อง GoPro ที่ปี 2007 ซื้อมาเพื่อถ่ายรูปเวลาเล่นไคท์บอร์ด หรือเวคบอร์ดท่าสวย ๆ เพื่อโพสต์บนเฟสบุ๊กเพื่อให้แฟนที่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้เห็น จนเริ่มมีคนอยากได้กล้องตัวนี้บ้าง จึงกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายตั้งแต่นั้น

ผ่านมาเกือบ 20 ปี Mentagram ยังเดินหน้าธุรกิจด้วยการนำความชื่นชอบใน Active Lifestyle เป็นตัวนำเช่นเดิม แต่เพิ่มความชัดเจนจากแค่ Action Camera เป็นการจำหน่ายสินค้า Active Lifestyle ครบวงจร มีแบรนด์ดังในมือ เช่น On และ Insta360 แถมยังตั้งเป้าหมายยอดขาย 1,000 ล้านบาท ในปี 2025 อีกด้วย ส่วนที่มาของบริษัทโดยละเอียด รวมถึงแผนธุรกิจในปี 2025 จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้ดังนี้

Mentagram

2007 กับการเกิดขึ้นของ Mentagram

ณัฐพล ปัทมพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมนทาแกรม จำกัด หรือ Mentagram เล่าให้ฟังว่า Mentagram ก่อตั้งในปี 2007 โดยเกิดจากการที่ตัวเองชื่นชอบในกีฬา Xtreme เช่น ไคท์บอร์ด และเวกบอร์ด ทั้งยังแข่งรถยนต์ในสนามต่าง ๆ และอยากบันทึกความสนุก และความทรงจำดี ๆ ในขณะนั้นเอาไว้ ประกอบกับช่วงนั้นแฟนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และมีการเกิดขึ้นของเฟสบุ๊ก เขาจึงต้องการให้ให้สมัครบัญชีของโซเชียลมีเดียดังกล่าว และนำรูป หรือวิดีโอที่บันทึกในการเล่นกีฬาไปโพสต์เพื่อให้แฟน และคนอื่น ๆ ได้ดูด้วย

“เวลานั้นผมไปซื้อกล้องกระดุมจากห้างพันธุ์ทิพย์มาใช้ และประสิทธิภาพมันไม่ค่อยได้ จึงเริ่มไปสั่งหลาย ๆ ยี่ห้อจากอีเบย์มาลองใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ GoPro และผมค่อนข้างชอบ เพราะดีไซน์มันไม่เกะกะเหมือนกล้องยี่ห้องอื่นที่ดีไซน์จะเป็นแนวท่อยาว ๆ แต่ GoPro เป็นแบบทรงสี่เหลี่ยม ประกอบกับ GoPro มีอุปกรณ์เสริม โดยเฉพาะกับตัวติดตั้งกับคน หรือวัตถุค่อนข้างเยอะ จึงตอบโจทย์กับการใช้ถ่ายรูปการเล่นกีฬา Xtreme ของผมมากกว่า และผมชอบจนถึงขั้นซื้อมาใช้แล้วตกน้ำไปเยอะเลยด้วย”

เมื่อใช้งานอยู่เป็นประจำ และมีคนเห็นภาพบนเฟสบุ๊ก จึงเริ่มมีคนรู้จักถามว่าใช้กล้องอะไรถ่าย รวมถึงมีการฝากซื้อ ซึ่งนั่นคือโอกาสธุรกิจแรกของ คม-ณัฐพล โดยเวลานั้นเขายังไม่ได้จดบริษัท และทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไปด้วยตัวคนเดียวผ่านการซื้อเป็นลอตใหญ่ ๆ เข้ามา จนกระทั่งปี 2010 มีโอกาสเข้าไปคุยกับ Fotofile ร้านอุปกรณ์กล้องเก่าแก่ และทางร้านได้สั่ง GoPro เป็นหลัก 100 ตัว เขาจึงมองเห็นว่า ธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีกว่าที่คิด และเริ่มชักชวนเพื่อนเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจอย่างจริงจัง

เป็นผู้ช่วยให้ทุกคนบันทึกความทรงจำดี ๆ

เมื่อมีการจดบริษัทก็ต้องมีการตั้งชื่อ ซึ่งชื่อที่ คม-ณัฐพล เลือกขึ้นมาคือ Mentagram ที่เป็นการผสานของสองคำระหว่าง Mental และ Gram เพื่อสื่อออกมาว่า เป็นบริษัทที่ช่วยให้ทุกคนบันทึกความทรงจำดี ๆ เอาไว้ ล้อไปกับการจำหน่ายกล้อง GoPro ที่เป็นสินค้าหลัก และสินค้าเดียวในเวลานั้น ประกอบกับช่วงตั้งบริษัทได้เห็นโอกาสใหม่นั้นคือการถ่ายภาพใต้น้ำ ซึ่ง GoPro มีข้อได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่ากล้องที่ใช้ถ่ายเวลาดำน้ำโดยเฉพาะเกือบ 10 เท่า แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่องถ่ายแล้วเบลอ บริษัทจึงพัฒนาเลนส์พิเศษเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ และทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

“เราออกแบบเลนส์พิเศษนี้ในประเทศไทย โดยใช้วัตถุดิบอะคริลิคซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ และทำให้การถ่ายใต้น้ำไม่เบลออีกต่อไป ทั้งยังขยายการผลิตอุปกรณ์เสริมของ GoPro ต่าง ๆ เพื่อขายในไทย และต่างประเทศผ่านอีเบย์ ซึ่งได้กำไรค่อนข้างดีเลยด้วย ถึงขนาดร้านดำน้ำในต่างประเทศเริ่มขายสินค้าที่เราผลิต” โดยในช่วงปี 2010-2015 Mentagram เติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท ควบคู่กับการขยายพอร์ตสินค้า เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายหูฟัง Skullcandy รวมถึงอุปกรณ์แก็ตเจต และอิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ

แต่ด้วยความเป็นคน Active Lifestyle และอยากใส่ความเป็นตัวเองเอาไว้ในธุรกิจ จึงเริ่มนำเข้าสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับกีฬามากขึ้น เช่น 8 ปีที่แล้วได้นำเข้ารองเท้ากีฬา On เข้ามาขายในประเทศไทย และต่อยอดด้วยจักรยาน Cannondale รวมถึง Lift Foils บอร์ดโต้คลื่นไฟฟ้าที่รับกระแสกีฬาทางน้ำที่เริ่มเป็นที่นิยมในไทยมากขึ้น รวมถึง Hyperice อุปกรณ์ช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังเล่นกีฬา รวมถึง Insta360 ที่ใช้ถ่ายภาพเวลาเล่นกีฬา Mentagram จึงมีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้ากีฬา, อุปกรณ์กีฬา และการฟื้นฟูหลังจากเล่นกีฬา

MLab กับฝันที่อยากมีทิศทางเหมือน Alo และ Lululemon

ณัฐพล เสริมว่า หลังจากนี้ต้องการให้ Mentagram มีทิศทางธุรกิจเหมือนกับ Alo และ Lululemon แบรนด์อุปกรณ์กีฬาชั้นนำของโลกที่ผสานเรื่องประสิทธิภาพของเสื้อผ้ากีฬา และแฟชั่นได้อย่างลงตัว แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้บริษัทจำเป็นต้องมีช่องทางจำหน่ายของตัวเอง จากเดิมที่เป็นเพียงดิสทริบิวเตอร์ที่กระจายสินค้าไปยังดีลเลอร์, ช่วยสื่อสารการตลาด และดูแลบริการหลังการขาย เป็นการมีร้านค้าทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ที่จะไม่ไปทับ หรือสร้างความลำบากใจให้กับดีลเลอร์ที่ซื้อสินค้ากับบริษัท

“ทิศทางนี้มันเริ่มเกิดขึ้นจากช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เพราะเวลานั้นทุกคนรัดตัวกันหมดทั้งลูกค้า และคู่ค้าทางธุรกิจของเรา ทำให้ไม่มีใครอยากสต๊อกสินค้าจำนวนมาก แต่ด้วยเราเป็นดิสทริบิวเตอร์ที่ต้องรับยอดจากเมืองนอก Mentagram จึงต้องหาทางจำหน่ายสินค้าเอง ซึ่งเราเริ่มด้วยการไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ แต่ก็รู้ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้แข่งกันด้วยราคาจนผู้ประกอบการเองจะมีปัญหาในระยะยาว จึงมองว่าการสร้าง MLab ที่เป็นร้านค้าของตัวเองที่ขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์จึงน่าจะเหมาะสมกว่า”

MLab สาขาเรือธงตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และหลังจากนี้มีแผนขยายสาขาออกไปเพิ่มเติมถึง 5 แห่ง ควบคู่กับการเพิ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ระหว่างการเล่นกีฬา เช่น อาหารเสริม และอุปกรณ์วัดความเข้มข้นของเหงื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายสำหรับนักกีฬาให้ได้มากที่สุด ยิ่งงานวิจัยจาก McKinsey & Company ระบุว่าตลาดสินค้ากีฬาและ Activewear ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี เนื่องจาก ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ และมองหาเสื้อผ้าและรองเท้าที่ผสานดีไซน์กับฟังก์ชันการใช้งาน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตให้บริษัท

Sports Active Lifestyle ไม่ได้มาแบบมั่วซั่ว

ณัฐพล ย้ำว่า Sports Active Lifestyle ที่เป็นแนวคิดในการบุกตลาดของ Mentagram นั้นอาจดูมั่วซั่วผ่านการผสมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน แต่จริง ๆ แล้ว Sports Active Lifestyle คือความจริงจังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกกกำลังกาย และสร้างร่างกายให้แข็งแรง แต่ถ้าจะทำได้ก็ต้องมีการฟื้นฟูที่ดี และมีการสร้างความสุขเล็ก ๆ ด้วยความสวยงาม และการบันทึกเรื่องราวเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ ซึ่งในประเทศไทยเป็นพื้นที่สวรรค์ของนักกีฬา เพราะเล่นได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นแค่กีฬาที่ต้องมีหิมะเท่านั้น

“ช่วงแรกคิดจะทำร้านแบบ Monobrand แต่เมื่อตกผลึกแล้วก็พบว่า การขายแบบ Multibrand นั้นสร้างความเป็นตัวตนของเราได้มากกว่า เพราะผมเองชอบเดินทาง, ชอบแต่งตัว และเล่นกีฬา แสดงให้เห็นว่า Passion ของแต่ละคนมันมีได้มากกว่า 1 อย่าง และการนำ Passion เหล่านั้นมาใส่ในธุรกิจเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนก็คืออีกความเป็นไปได้ของเรา” นอกจากนี้ Mentagram ยังมีการส่งเสริมให้พนักงานในบริษัทกว่า 60 คน (ไม่รวมพนักงานขาย) ไปเล่นกีฬาต่าง ๆ โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้เพื่อให้พนักงานมี Passion เดียวกับบริษัท

ปัจจุบัน คม-ณัฐพล อายุราว 50 ปี มีการลงแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น ไตรกีฬา รวมถึงว่ายน้ำ ที่เขาย้ำว่า ตัวเองเป็นสถิติประเทศไทยในกลุ่มอายุเกิน 50 ปี และเป็นผู้ทดลองสินค้าต่าง ๆ ด้วยตัวเองก่อนนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นการตอกย้ำเรื่องความสำคัญของสินค้าที่ Mentagram ทำตลาด และยังยึดมั่นในความเป็นผู้นำความชื่นชอบของตัวเองมาต่อยอดเป็นธุรกิจ และส่งต่อความชื่นชอบ หรือ Passion เหล่านั้นให้กับทุกคนในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ปี 2025 รายได้กลับมาทะลุ 1,000 ล้านบาท

สำหรับมุมรายได้ของ Mentagram ในปี 2025 บริษัทตั้งเป้าที่ 800-1,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2024 ที่ปิด 600-700 ล้านบาท ถือเป็นการกลับมามีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาทอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด บริษัทเคยไปถึงจุดดังกล่าวมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีปัจจัยลบเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภค, เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภัยธรรมชาติที่ไม่คาดฝัน ทำให้การกระตุ้นตลาดจากฝ่ายต่าง ๆ จึงจำเป็น ควบคู่กับการส่งสินค้าใหม่ ๆ ของ Mentagram เพื่อจูงใจลูกค้าเช่นกัน

ในมุมสัดส่วนรายได้ Mentagram เคยมีรายได้จากฝั่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (กล้อง GoPro) 80-90% ของรายได้รวมในช่วงแรก และช่วงกลางนับจากการก่อตั้งของบริษัท แต่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้กลับเป็นเป็น รองเท้า, เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ 75% และที่เหลือเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ Active Lifestyle เต็มตัว ล้อไปกับความชื่นชอบส่วนตัวของ คม-ณัฐพล และพนักงานภายในองค์กรที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในคนไทยออกไปออกกำลังกาย

ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งแรงบันดาลในในการนำความชื่นชอบของตัวเองมาพัฒนาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน เพียงแค่ตั้งใจ และมองเห็นโอกาสธุรกิจจากความชื่นชอบเหล่านั้น เช่น กรณีของกล้อง GoPro ที่เวลานั้นไม่มีใครนำเข้ามาในประเทศไทย และเริ่มจากการซื้อมาถ้ายตัวเอง ดังนั้นอย่าเพิ่งหมดฝัน และไม่ลืมที่จะหาโอกาสจากการนำสิ่งที่ชอบมาสร้างรายได้กัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา