แม้ปีที่แล้วจะมีข่าวว่า Elon Musk บริจาคเครื่องช่วยหายใจผิดประเภทให้กับผู้ป่วยโควิด-19 กว่าพันเครื่อง แต่หลังจากนั้นเขาก็ยังมุ่งมั่นช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อไป โดยลงทุนผลิตเครื่องช่วยหายใจล็อตใหญ่ร่วมกับบริษัทอุปกรณ์การแพทย์อันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Medtronic
SpaceX ร่วมกับ Medtronic ผลิตวาล์วเครื่องช่วยหายใจกว่าสามหมื่นเครื่อง
Elon Musk ร่วมมือกับ Omar Ishrak ซีอีโอของ Medtronic ใช้ฐานการผลิตจรวดของบริษัท SpaceX ที่แคลิฟอร์เนียมาเป็นฐานการผลิตวาล์วของเครื่องช่วยหายใจล็อตใหญ่
- ทำให้ทางบริษัท Medtronic เพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 5 เท่า จากเดิมที่ปกติผลิตได้ปีละประมาณ 7,500 วาล์ว ก็เพิ่มเป็น 37,500 วาล์วเลยทีเดียว
นอกจากนี้ โรงงานของ Medtronic ที่ประเทศไอร์แลนด์ก็ได้เพิ่มกำลังผลิตเครื่องช่วยหายใจขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นการผลิตตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกันทุกวัน เพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจรุ่น Puritan Bennett 980 และ Puritan Bennett 840 ให้กับพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีความต้องการสูงได้อย่างทันท่วงทีที่สุด
วาล์วที่บริษัท Medtronic ผลิตเรียกว่าวาล์ว PSOL ใช้เพื่อควบคุมการไหลเวียนของออกซิเจนภายในเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งวาล์วนี้มีความสำคัญมาก เพราะในเครื่องช่วยหายใจของ Medtronic 1 เครื่อง ต้องมีส่วนประกอบของ 3 วาล์วด้วยกัน
โดยวาล์ว PSOL มีโครงสร้างซับซ้อนพอสมควร เพราะสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนมากถึง 50 ชิ้น เลยต้องอาศัยคนผลิตที่มีทักษะสูง Elon Musk จึงให้วิศวกรที่เคยผลิตจรวดให้กับ SpaceX มาช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย เพราะวาล์ว PSOL ใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมการแพทย์ ทำให้มั่นใจได้ว่าเครื่องช่วยหายใจชุดนี้ถูกผลิตขึ้นมาด้วยมาตรฐานที่ดีอย่างแน่นอน
บริษัท Medtronic ยิ่งใหญ่แค่ไหน ทำไม Elon Musk ถึงให้ความสนใจ
Medtronic เป็นบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์อันดับต้นๆ ของโลกที่ช่วยรักษาคนมากว่า 72 ล้านคนแล้ว ปัจจุบัน บริษัทนี้มีพนักงานกว่า 90,000 ชีวิต มีวิศวกรรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดมากถึง 10,700 คน และมีสำนักงาน 350 แห่งกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลกเลยทีเดียว
บริษัท Medtronic ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1940 และล่าสุดเมื่อปี 2020 รายได้ของ Medtronic ก็แตะ 289,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 9.4 ล้านล้านบาท)
ทางบริษัทมีรายได้มาจากเครื่องมือแพทย์ 4 กลุ่มหลักคือ
- เครื่องมือรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เครื่องมือรักษาโรคเบาหวาน
- เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้อง
- เครื่องมือสำหรับฟื้นฟูสุขภาพ
โดยธุรกิจเครื่องมือรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดคิดเป็นสัดส่วนรายได้สูงสุดกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท)
ส่วนสาเหตุที่ทางบริษัทจับตลาดเครื่องมือรักษาโรคเบาหวานก็เพราะในสหรัฐอเมริกามีผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 34.2 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ ตามรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC)
จนถึงปัจจุบัน Medtronic ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทหลายสิบแห่ง ทำให้มีเครือข่ายบริษัทลูกอยู่ทั่วโลก ซึ่งการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยในตอนนั้น Medtronic ได้ซื้อกิจการ Covidien ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ยักษ์ใหญ่ในไอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาวิธีผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ Medtronic เข้าซื้อกิจการก็จะเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยเฉพาะ เช่น
- Sofamor Danek Group ที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายกระดูกสันหลัง
- CoreValue LLC ที่เชี่ยวชาญด้านภาวะหลอดเลือดตีบรุนแรง
โดยสรุป
Medtronic เป็นบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีประวัติยาวนานและน่าจับตามองมากในช่วงเวลานี้ ถ้าผู้อ่านอยากทราบความเคลื่อนไหวของบริษัทนี้อย่างละเอียดมากขึ้น สามารถเข้าไปติดตามข่าวสารได้ที่ https://news.medtronic.com/NewsRoom
ที่มา : medtronic, investopedia, Massdevice, beckersspine, futurism, tesmanian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา