เนื้อหมูจากพืช ถูกกว่า เนื้อหมูจริง ถึงเวลากิน Plant-based Food? เช็คราคาแบรนด์ไหนถูกกว่าบ้าง

ในที่สุด Plant-based Meat ในไทยสามารถทำราคาลงมาแข่งขันกับราคาเนื้อสัตว์จริง ๆ ได้อย่างสูสี โดย Meat Avatar ขายหมูสับที่ทำมาจากพืช 1 กก. ราคา 178 บาท ถูกกว่าหมูสับ Makro ที่ขาย 186 บาท/กก.

plant-based

Plant-based Meat ถูกกว่าเนื้อสัตว์มีอยู่จริง

ก่อนหน้านี้ Brand Inside รายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของ Meat Avatar ที่ส่งมาว่า ร้านอาหารแห่ใช้เนื้อหมูจากพืชทดแทนเนื้อหมูจริง เพราะเนื้อหมูมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำราคาขายปลีก หมูสับจำแลง หรือ Miced Pork Avatar กล่องละ 240 ก. ราคา 120 บาท ที่อยู่บนเว็บไซต์ meatavatar.com มาเปรียบเทียบ

เมื่อคำนวนเป็นหน่วย กก. จะได้ กก. ละ 500 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาเนื้อหมูพอสมควร แต่ล่าสุด Brand Inside ได้ลงสำรวจ Makro พบว่า Meat Avatar ขาย หมูสับจำแลง ในบรรจุภัณฑ์น้ำหนักรวม 1 กก. ราคา 175 บาท ซึ่งถูกกว่าราคา หมูสับ ที่ Makro จำหน่ายราคา 186 บาท/กก. (ข้อมูลวันที่ 1 ก.พ. 2565)

ถือเป็นมิติใหม่ในวงการ Plant-based Meat ที่มีการขายปลีกเนื้อจากพืชในราคาที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ เพราะหากนับตั้งแต่ช่วงกระแส Plant-based Meat เริ่มจำหน่ายมากขึ้นในไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน ราคาเนื้อจากพืชยังมีราคาขายปลีกสูงกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ 2-3 เท่า

สำรวจตลาด Plant-based Meat ใน Makro

หากสำรวจในส่วนจำหน่ายเนื้อจากพืชใน Makro จะพบว่า มีเนื้อจากพืช 4-5 แบรนด์จำหน่ายอยู่ในตู้แช่แข็ง และรูปแบบผลิตภัณฑ์มีทั้งขายแยกในปริมาณน้อย และนำมารวมกันเพื่อขายในปริมาณมาก โดยตัวอย่างแบรนด์ และรูปแบบสินค้าที่น่าสนใจมีดังนี้

  • MoreMeat เนื้อจากพืช ปริมาณ 200 ก. 3 ถุง ราคา 255 บาท (กก. ละ 425 บาท)
  • Meat Zero เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 220 ก. 3 ถุง ราคา 209 บาท (กก. ละ 316 บาท)
  • Let’s Plant Meat เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 1 กก. ราคา 280 บาท

และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกแยกในปริมาณน้อย อ้างอิงราคาจาก tops.co.th กับร้านค้าออนไลน์อื่น ๆ จะพบว่า ราคาขายเนื้อจากพืชในปริมาณมากจะราคาต่อกิโลกรัมจะถูกกว่าราคาขายจำนวนน้อย เช่น

  • MoreMeat เนื้อจากพืช ปริมาณ 200 ก. ราคา 89 บาท (กก. ละ 445 บาท)
  • Meat Zero เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 220 ก. ราคา 79 บาท (กก. ละ 359 บาท)
  • Let’s Plant Meat เนื้อบดจากพืช 150 ก. ราคา 79 บาท (กก. ละ 526 บาท)

ถือเป็นสัญญาณดีสำหรับตลาด เนื้อจากพืช และอาจเติบโตได้ตามที่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส มองว่า Plant-based Food ในไทยจะเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปีจนมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท ในปี 2567 โดยในปี 2562 มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท

Plant-based Meat ในไทยมีทุนไหนบ้าง

ปัจจุบันตลาดเนื้อจากพืชในประเทศไทยเริ่มมีทุนใหญ่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น เช่น Meat Zero เป็นของกลุ่ม CP ส่วน Meat Avatar มีกลุ่มมิตรผลเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับ MoreMeat มีกลุ่ม V Foods เข้ามาลงทุน (ผู้ผลิตน้ำนมข้าวโพด และอาหารจากพืช) รวมถึงมีแบรนด์จากต่างชาติเช่น OmniMeat และ Beyond Meat ขายอยู่ในตลาด

หากอธิบายภาพรวมตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

  • Plant-based Milk เช่น น้ำนมถั่วเหลือง และนมจากธัญพืชต่าง ๆ
  • Plant-based Meal เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ทำมาจากพืช, อาหารเจ และอาหามังสวิรัติ
  • Plant-based Meat หรือ Plant-based Protein เช่น เนื้อจากพืชตามแบรนด์ต่าง ๆ ข้างต้น

ส่วนที่กินมูลค่าตลาดมากที่สุดคือ Plant-based Milk หากอ้างอิงจากข้อมูลของ Tofusan จะพบว่า มูลค่าตลาดน้ำนมจากพืชสูงถึง 16,000-17,000 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด ส่วนที่เหลือเป็นอาหารมังสวิรัติปรุงสำเร็จ เช่นช่วงเทศกาลกินเจในกรุงเทพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เงินสะพัดถึง 4,700 ล้านบาท

ทั้งนี้จุดเด่นของ Plant-based Meat มีตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจากพืช ทำให้ลดการปล่อยมลพิษจากการเลี้ยงสัตว์ได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสารอาหารภายในผลิตภัณฑ์จะค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องโปรตีน และให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีกว่าเนื้อสัตว์ปกติ

สรุป

เนื้อจากพืชที่ราคาถูกกว่าเนื้อจากสัตว์มีอยู่จริง และส่วนตัวผู้เขียนคาดว่า แบรนด์อื่น ๆ จะพยายามกดราคาลงมาเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Plant-based Meat โตลำบาก มาจากราคาที่ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ยิ่งราคาเนื้อหมูยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง มันก็คงเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ในการรุกตลาดตอนนี้

อ้างอิง // Meat Avatar, กรุงไทยคอมพาส

อ่านข่าวเกี่ยวกับ Plant-based Meat เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา