ออกจากแดนสนธยา! ช่อง 9 อัดงบ 700 ล้านปั้น Content ดึงผู้ชม ลั่นยังมีคนดูแม้เรตติ้งไม่ดี

ธุรกิจสื่อตอนนี้แข่งขันกันสูง เพราะตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่เติบโตน้อย ยิ่งเป็นสื่อโทรทัศน์แล้วล่ะก็ยิ่งหนัก ผ่านจำนวนพนักงานมหาศาล แต่ “ช่อง 9 อสมท” มั่นใจว่าจะหลุดบ่วงกรรมนี้ได้ด้วยการอัดงบเนื้อหา และรัดเข็มขัดองค์กร

กลยุทธ์ของช่อง 9 อสมท หรือ MCOT

The Difference กับอีกครั้งที่อยากแตกต่าง

ช่อง 9 อสมท หรือบมจ.อสมท คือธุรกิจสื่อโทรทัศน์ที่เก่าแก่ของประเทศไทย และสร้างสรรค์รายการทั้งข่าวสาร, บันเทิง รวมถึงสาระในรูปแบบต่างๆ มากมาย แต่ด้วยโลกในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะกับเรื่องการเสพสื่อของผู้บริโภค ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เล่าให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของบริษัทนั้นมาจากโจทย์การทำธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องไม่เป็นแค่ Media Platform ที่รวบรวมเนื้อหารายการไว้ในช่องทางต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม แต่ต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันในการทำตลาดแต่ละกลุ่มด้วย

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

“เมื่อก่อนโทรทัศน์ทุกช่องเป็นช่อง Mass แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว ดังนั้น MCOT ต้องทำเนื้อหาให้ชัดเจนกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของนโยบายที่จะสร้างความแตกต่างให้กับตัวกลุ่มธุรกิจของเรา เหมือนที่เราทำมาตั้งแต่อดีต เช่นการทำเนื้อหาที่ช่องอื่นไม่กล้าลงทุน หรือการเน้นช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคใหม่ๆ อย่าง Online”

700 ล้านบาท กับการอัดเนื้อหาใหม่ๆ เข้ามา

ปัจจุบัน “อสมท” มีสื่อในมือประกอบด้วยช่องทีวีดิจิทัล MCOT HD กับ MCOT Family, สถานีวิทยุ 62 แห่ง, สำนักข่าวไทย และช่องทาง Online เช่น MCOT.net ซึ่งแต่ละช่องทางก็จะมีเนื้อหารายการที่ต่างกัน เพื่อตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่ม แต่เพื่อให้การทำธุรกิจในปี 2562 ดีขึ้น จึงใช้งบประมาณ 700 ล้านบาทในการพัฒนาเนื้อหา

“ช่วงแรกๆ ของทีวีดิจิทัลนั้นเราพยายามทำรายการเองเพื่อทดแทนรายการต่างๆ ของแต่ละผู้ผลิตที่หายไปมีช่องของตัวเอง แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ถนัด ดังนั้นการหารายการใหม่ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ทั้งนี้รายการเหล่านั้นจะเน้นเรื่องสาระความรู้ และนวัตกรรม อย่างที่ช่องเราเคยโดดเด่นในอดีต”

สำหรับเนื้อหาใหม่ๆ จะมีซีรีส์จาก BBC, สารคดีจาก Discovery, ข่าวเศรษฐกิจจาก Bloomberg เป็นต้น นอกจากนี้ยังกันงบประมาณอีก 100 ล้านบาทเพื่อทำโครงการ C Space ที่เปิดให้ผู้สนใจทำรายการโทรทัศน์เข้ามาเสนอเนื้อหา หากผ่านเกณฎ์ก็จะได้รับเงินลงทุน ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้บริษัทมีเนื้อหารายการหลากหลาย

โครงสร้างธุรกิจของบมจ.อสทม ในตอนนี้

ช่องทาง Online กับอนาคตใหม่ของรายได้

“700 ล้านบาทไม่ได้อยู่แค่ทีวี เพราะกระจายไปในช่องทางอื่นด้วย โดยเฉพาะกับ Online ที่ตอนนี้เราปั้นให้ Nine Entertain เป็นสื่อบันเทิงอันดับหนึ่งบนช่องทางนี้แล้ว ดังนั้นอนาคตมันจะมีรายการที่ผลิตเฉพาะ Online ขึ้นมาอีก ที่สำคัญเรามี Partner ส่วนนี้ที่แข็งแกร่งเช่น YouTube และ LINE TV ก็ยิ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ๆ”

ในทางกลับกันด้วยเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง และทางเลือกของการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของผู้บริโภคที่มากขึ้น แต่ “อสมท” ยังมั่นใจว่า แม้ตัวเลขเรตติ้งจะไม่ได้ดี แต่ยังมีคนรับชมตลอดเวลา โดยเฉพาะรายการ “วันนี้ที่รอคอย” และเป็นข้อพิสูจน์เกี่ยวกับการรับชมของผู้บริโภคยุคนี้ที่ไม่ยึดติดกับช่อง และ Platform แต่ยึดติดกับรายการมากกว่า

“ผมมอง MCOT as a Corporation ไม่ใช่สถานีโทรทัศน์ ดังนั้นเราต้องทำรายการในแต่ละช่องทางให้ดี เพราะคนดูไม่สนแล้วว่าจะอยู่ช่องไหน ถ้ารายการดีก็มีคนดู แถมแบบนี้มันก็สร้างรายได้ให้กับเราได้ด้วย และผมอยากบอกว่า เรื่องเรตติ้งเป็นเพียง 15% ของวิธีคิดของเรา และภาพรวม กับฐานคนดูเราไม่ได้ตกอย่างที่ตัวเลขบอก”

เตรียมใช้คลื่น 2600 MHz ในมือให้เป็นประโยชน์

ขณะเดียวกัน “อสมท” เตรียมทดลองออกอากาศผ่านคลื่น 2600 MHz ภายใต้ชื่อ Ving MCOT ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. เป็นเวลา 3 เดือน ผ่านการร่วมมือใช้โครงข่ายในการส่งสัญญาจำนวน 30 แห่งของ AIS และ True ส่วนเรื่องรูปแบบธุรกิจนั้นต้องอยู่ที่การเข้ามานำเสนอเนื้อหารายการของผู้ที่สนใจก่อน

ราคาหุ้นของ MCOT

“จากนี้ไป MCOT จะไม่แก่ และไม่เด็กจนเกินไป อยากได้อะไรเป็นกลางมาหาดูได้ที่นี่ ที่สำคัญเราจะเป็นฐานให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมได้อย่างชาญฉลาด ส่วนในแง่ธุรกิจ เราต้องเป็นมากกว่าสื่อที่ทำ Content เพื่อหาเงินโฆษณา เพราะถ้าทำแบบอื่นได้ดีอาจได้ Value อื่นๆ เข้ามาด้วยเหมือนกัน”

ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของ “อสมท” นั้นอยู่ที่โทรทัศน์ 40%, วิทยุ 30% และอื่นๆ เช่นค่าสัมปทาน กับค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ในส่วนที่หลือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใกล้จะถึงระยะเวลาสิ้นสุดแล้ว ประกอบกับจำนวนพนักงานถึง 1,400 คน ทำให้องค์กรต้องรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะล่าสุดสิ้นไตรมาส 3 ปิดรายได้ที่ 1,820 ล้านบาท ขาดทุน 385 ล้านบาท

สรุป

ช่อง 9 อสมท หรือ MCOT นั้นหากดูแค่ผลประกอบการเทียบกับปี 2560 ก็น่าจะดูดีขึ้น เพราะสิ้นปี 2560 นั้นขาดทุนถึง 2,542 ล้านบาท แต่การแค่ลงทุนเรื่องเนื้อหารายการ 700 ล้านบาท อาจไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมองค์กรฟื้นกลับมาได้ดีเหมือนเดิม ดังนั้นการปรับโครงสร้างองค์กรก็น่าจะเป็นอีกเรื่องที่จำเป็นของสถานีโทรทัศน์เก่าแก่รายนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา