วิกฤตการณ์ อสมท. ปี 2559 แนวโน้มขาดทุนหนัก และยังไม่เห็นทางออก

ข่าวการขาดทุนอย่างหนักของบริษัทอมรินทร์ จนต้องเพิ่มทุนโดยดึงตระกูลสิริวัฒนภักดีเข้ามาถือหุ้น สร้างแรงสะเทือนอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสื่อไทย ที่กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”

คำถามที่หลายคนสนใจคือบริษัทสื่อรายอื่นๆ จะต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกันหรือไม่ และถ้ามีปัญหาแบบเดียวกันจะแก้ไขอย่างไร เพราะกลุ่มทุนขนาดใหญ่แบบเดียวกับ “สิริวัฒนภักดี” ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยอุ้มด้วยการอัดฉีดเงินสดเข้ามา ดูจะมีไม่เยอะอีกแล้ว

MCOT อสมท

บริษัทสื่อใหญ่อีกแห่งที่น่าจับตาคือ อสมท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจเพียงหนึ่งเดียวในสมรภูมิสื่อโทรทัศน์

Brand Inside เคยวิเคราะห์ อสมท. ไว้หลังจากที่บริษัทประกาศงบการเงินประจำไตรมาส 2/2559 ซึ่งแนวโน้มของอสมท. ดูไม่สดใสนัก รายได้รวมลดลง 13% และครึ่งปีแรกขาดทุน 68 ล้านบาท

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 อสมท. เพิ่งประกาศงบของไตรมาส 3/2559 และผลประกอบการ 9 เดือนแรก เราจึงมาวิเคราะห์กันอีกครั้งว่าเส้นทางเบื้องหน้าของ อสมท. เป็นอย่างไร

ผลประกอบการไตรมาส 3/2559 รายได้ลด 36% ขาดทุน 257 ล้านบาท

ผลประกอบการ อสมท ไตรมาส 3 พ.ศ. 2559
ผลประกอบการ อสมท ไตรมาส 3 พ.ศ. 2559

ผลประกอบการไตรมาส 3/2559 ของ อสมท. ยังออกมาไม่ดี นั่นคือรายได้รวมลดลงถึง 36% และขาดทุนสุทธิ 257 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ยังรักษาสภาพกำไรได้เล็กน้อย 52 ล้านบาท แล้วภาพรวมแย่ลงกว่าเดิมมาก ในขณะที่รายจ่ายรวมกลับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยด้วยซ้ำ

ผลประกอบการ 9 เดือนแรก สัญญาณชี้ชัดปี 2559 ขาดทุนหนัก

ผลประกอบการ อสมท 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) พ.ศ. 2559
ผลประกอบการ อสมท 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) พ.ศ. 2559

และถ้าดูผลประกอบการ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2559) จะเห็นว่าปี 2559 จะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ อสมท. เลยทีเดียว เพราะบริษัทจะขาดทุนเป็นครั้งแรก (หลังจากที่ปี 2558 รอดจากการขาดทุนได้แบบฉิวเฉียด) และจะขาดทุนอย่างหนักเป็นหลักร้อยล้านบาทด้วย

รายได้ 9 เดือนของ อสมท. ลดลง 23% จากปีที่แล้ว แต่รายจ่ายรวมกลับไม่ลดลง ส่งผลให้ 9 เดือนขาดทุนไปแล้ว 477 ล้านบาท และจากแนวโน้มของไตรมาส 4/2559 ที่อุตสาหกรรมโฆษณาหยุดชะงักจากการไว้อาลัย และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซาเช่นกัน รายได้ตลอดทั้งปี 2559 ของ อสมท. ยิ่งน่าจะอาการหนักเข้าไปอีก

ย้อนดูผลประกอบ อสมท. 4 ปีล่าสุด รายรับตกฮวบ รายจ่ายแทบไม่ลด

ผลประกอบการ อสมท. 2556-2559
ผลประกอบการ อสมท. 2556-2559 (รวบรวมโดย Brand Inside)

ถ้าลองดูผลประกอบการย้อนหลังของ อสมท. นับถอยหลังไป 4 ปี จนถึงปี 2556 มาจนถึงปี 2559 (ตัวเลขของปี 2559 คิดเฉพาะ 9 เดือนแรก) จะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจน ว่า อสมท. มีรายได้ลดลงตลอดทุกปี (ปี 2557 ลดลงจากปี 2556 ถึงประมาณ 1500 ล้านบาท!) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงทีละน้อย และกำไรก็หดหายไปเรื่อยๆ จนน่าจะขาดทุนในปี 2559 ในท้ายที่สุด

ปัจจัยหลักที่ อสมท. ขาดทุนย่อมหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมทีวี จากการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ส่งผลให้บรรดาบริษัทสื่อคู่ค้าของ อสมท. ที่เคยมาเช่าเวลา (เช่น GMM, RS, Workpoint) ต่างก็มีสถานีทีวีของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องง้อเวลาของ อสมท. อีกต่อไป เมื่อ อสมท. ต้องพึ่งกำลังของตัวเองในการผลิตรายการ บวกกับจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นมาก การที่ผลกระทบจะสะท้อนออกมาในตัวเลขผลประกอบการทางการเงิน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก

โครงสร้างรายได้ อสมท. ในอนาคต ธุรกิจหลักอาจกลายเป็น “วิทยุ”

รายได้ อสมท. แยกตามสื่อ
การจัดกลุ่มรายได้ อสมท. แยกตามสื่อ (คัดเฉพาะรายได้บางส่วน)

ถ้าลองดูประเภทรายได้ของ อสมท. แยกตามประเภทของสื่อ จะเห็นว่ารายได้จากทีวีตกลงหนักมาก ในขณะที่รายได้จากวิทยุค่อนข้างคงตัว หรือไม่ก็ลดลงไม่เยอะนัก ส่วนรายได้จากธุรกิจร่วมค้า (True Visions และสัมปทานช่อง 3) ก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างชัดเจนในปีหลัง และรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Media ซึ่งรวมทั้งทีวีดาวเทียมและออนไลน์) ก็ลดลงเช่นกัน จากความนิยมในเครือข่ายทีวีดาวเทียมที่ลดลง เพราะมีทีวีดิจิตอลเข้ามาแทน

ถ้าแนวโน้มรายได้ของ อสมท. ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่แน่ว่าอีกไม่ช้า ธุรกิจหลักของ อสมท. จะกลายเป็นวิทยุ แทนที่จะเป็นโทรทัศน์ก็เป็นได้

ทางรอดของ อสมท. ภายใต้สภาพความเป็น “รัฐวิสาหกิจ”

จากตัวเลขทั้งหมดจะเห็นว่า ยุคทองของ อสมท. จบลงแล้วในปี 2559 นี้ และด้วยโครงสร้างของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่า อสมท. จะสามารถพลิกฟื้นกิจการได้ในเร็ววันนี้

ปัจจัยสำคัญที่คอยสกัดกั้น อสมท. ในการปรับตัว คงหนีไม่พ้นสภาพความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ และไม่มีความคล่องตัวในการปรับแผนพลิกฟื้นกิจการดังเช่นคู่แข่งภาคเอกชน ซึ่งสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจรายอื่นๆ มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงจากภาคเอกชน เช่น TOT ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ การบินไทย ในอุตสาหกรรมการบิน

ถ้าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป เมื่อเจอภาวะรายได้หดหาย สิ่งที่ต้องทำคือลดค่าใช้จ่ายลง และย่อมหนีไม่พ้นการปลดพนักงานบางส่วนออก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับ อสมท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า อสมท. ณ เวลานี้เป็นองค์กรที่ไร้หัว เพราะเพิ่งปลดนายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ออกไปไม่นานมานี้ ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการขาดคุณสมบัติ (ทั้งที่บอร์ดเลือกมาทำงานแล้วถึง 2 ปี) โดยบอร์ดแต่งตั้ง นายนายพิเศษ จียาศักดิ์ หนึ่งในคณะกรรมการมารักษาการแทนไปก่อน ระหว่างสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่

อสมท. ในสภาพที่ผลประกอบการย่ำแย่, ไม่มี MD อำนาจเต็มมานั่งทำงาน, ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและสภาพอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไป จะสามารถเอาตัวรอดผ่านสภาวะนี้ได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างมาก

อสมท. ยังมีเงินสดในมืออยู่พอสมควร และยังจะทนต่อสภาพขาดทุนได้อีกหลายปี แต่สุดท้ายแล้ว อสมท. จะซ้ำรอย “รัฐวิสาหกิจ” รายอื่นๆ ที่อยู่ในสภาวะอัสดง ขาดทุนหนักต่อเนื่องแต่รัฐก็ “ทำอะไรไม่ได้” ไปอีกรายหรือไม่

อ้างอิงข้อมูล: ผลประกอบการไตรมาส 3/2559 ของ อสมท.

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา