McDonald’s ประเทศไทย หรือ บริษัท แมคไทย จำกัด กางแผนทำตลาดไก่ทอดอีกครั้ง ดันยอดขายกลุ่มไก่กินยอดขาย 30% พร้อมอัดงบ 300 ล้านบาท เปิด และปรับปรุงสาขารวม 30 แห่ง ปั้นภาพรวมยอดขายเติบโต 20% จากปี 2022 ปิดที่ 5,500 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 120 ล้านบาท
McDonald’s กับอัตราเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี
กิตติวรรณ อนุเวชสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้ให้บริการ McDonald’s ในประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ปี 2022 ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จที่สุดของบริษัทครั้งหนึ่ง ผ่านอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยปี 2022 มียอดขายรวมราว 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 40% มีกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท
“ถือเป็นกำไรครั้งแรกในรอบ 3-4 ปี เพราะเวลานั้นมีโรคโควิด-19 ระบาด รวมถึงวิกฤติอื่น ๆ แต่ในปี 2022 เราปรับตัวได้ดี เช่น เปิดร้านใหม่ 4 แห่ง และปรับโฉมร้านเดิม 23 แห่ง ให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ไตรมาส 4 ปี 2022 เรามียอดขายต่อเดือนสูงที่สูงถึง 276% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021”
สิ้นปี 2022 McDonald’s ประเทศไทย มีสาขาทั้งหมด 228 สาขา โดยยอดขาย 5,500 ล้านบาท มาจากช่องทางเดลิเวอรี 40% รวมที่บริษัทให้บริการเอง และจากการรวมกับแพลตฟอร์มพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับการรับประทานที่ร้าน และซื้อกลับบ้านที่มีสัดส่วน 40% สุดท้ายคือไดร์ฟทรูราว 20%
เร่งทำตลาดไก่ทอด และชุดเมนูคุ้มค่า
ในปี 2023 McDonald’s เตรียมเดินหน้ากลยุทธ์ Run For Growth ที่ประกอบด้วย 3 เรื่องคือ
- การเดินหน้าทำตลาดไก่ทอด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด 25,000 ล้านบาท และเพิ่มยอดขายกลุ่มสินค้าโปรตีนจากไก่ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 17% ของยอดขาย เช่น ไก่ทอด และเบอร์เกอร์ไก่เปปเปอร์ เป็น 25-30%
- ต่อยอดการทำตลาด Extra Value Meal (EVM) หรือชุดสุดคุ้มที่ปัจจุบันมีราคา 99 บาท และในปี 2022 สร้างยอดขายกว่า 25 ล้านบาท/เดือน เพิ่มจากปี 2021 เพิ่มขึ้น 150% เป็นสัดส่วนยอดขาย 8.2%
- เพิ่มนวัตกรรมใหม่ เช่น ทำสาขาแบบ Experience of the Future (EOTF) คอนเซ็ปต์เดียวกันกับระดับโลก มี Guest Experience Leader (GEL) ช่วยแนะนำ และ Self Ordering Kiosk (SOK) ช่วยบริการอีกด้าน
“นอกจากเมนูสุดคุ้ม และเมนูไก่ทอด งานบริการคือสิ่งสำคัญที่ McDonald’s จะเดินหน้าธุรกิจในปีนี้ และเรายืนยันว่า ร้าน McDonald’s นั่งใช้บริการเป็นเวลานานได้ และพร้อมให้บริการปลั๊กไฟ, ฟรีไวไฟ รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่ยกระดับการเข้ามาใช้บริการ McDonald’s ของลูกค้า”
McDonald’s ยังเดินหน้าแผน 3D หรือ Delivery, Drive-Thru และ Digital คู่กับกลยุทธ์หลัก ซึ่ง Delivery จะมีการทำแคมเปญต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มตัวเอง และพาร์ตเนอร์ ส่วน Drive-Thru จะยกระดับงานบริการทั้ง 83 สาขา ให้รวดเร็วขึ้น พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน McDonald’s ที่มีผู้ใช้งาน 3 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์ดีกว่าเดิม
ลงทุน 300 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่ม
สำหรับปี 2023 McDonald’s มีแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 10-15 ควบคู่ไปกับการพัฒนาสาขาเดิมให้เป็นรูปแบบใหม่ หรือ EOTF อีก 30 สาขา โดยส่วนนี้จะใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท และเมื่อรวมกับกลยุทธ์การตลาดข้างต้น บริษัทตั้งเป้ามียอดขายเติบโต 20% หรือมียอดขายราว 6,600 ล้านบาท และมีแนวโน้มผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง
“ไตรมาส 1 ของปี 2023 McDonald’s ยังมีกระแสเติบโตจากไตรมาส 4 ปี 2022 ยิ่งเราสร้างสีสันด้วยการออกเบอร์เกอร์ใหม่ทุกไตรมาส และมีการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น ของหวาน และเมนูอื่น ๆ ช่วยให้ธุรกิจเราที่เปิดมา 38 ปี ยังแข็งแกร่งในตลาดไทยเช่นเดิม”
ทั้งนี้ McDonald’s วางตำแหน่งเป็นร้านอาหารระดับ Premium Mass ครอบคลุมลูกค้าทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น, วัยทำงาน จนถึงกลุ่มครอบครัว ซึ่งในปี 2023 บริษัทจะให้ความสำคัญกับกลุ่ม Gen Z มากขึ้น ผ่านการเปลี่ยนแปลงการสื่อสาร ทั้งรูปแบบ และช่องทาง
ภาพรวมตลาด QSR ยังมีโอกาสเติบโตสูง
กิตติวรรณ มองว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR ในประเทศไทย ปี 2022 มีมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 25,000 ล้านบาท, เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท และพิซซ่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2023 ยังมีแนวโน้มเติบโต ผ่านนักท่องเที่ยวที่ไหลเข้ามาในไทย และภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
“ในตลาดเบอร์เกอร์ McDonald’s ยังเป็นเบอร์หนึ่ง ผ่านส่วนแบ่งตลาดราว 60% และถึงจะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามา แต่ด้วยคุณภาพ และความคุ้มค่าของ McDonald’s ยังดึงดูดลูกค้าในประเทศไทยไว้ได้เช่นเดิม เพราะเมนูเบอร์เกอร์ยังเป็นสินค้าหลักของ McDonald’s”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมตลาดเบอร์เกอร์ปัจจุบัน McDonald’s ยังเป็นเบอร์หนึ่งทั้งในแง่สาขา และยอดขาย เนื่องจากแบรนด์อื่นยังเล็กกว่ามาก เช่น Burger King ของกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด และถึงจะมีร้านเบอร์เกอร์รายย่อย รวมถึง Shake Shack ร้านดังจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเปิด ก็ยังไม่กระทบกับธุรกิจ McDonald’s นัก
อ้างอิง // McDonald’s, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา