McDonald’s เดินหน้าโมเดลพาร์ทเนอร์ในจีนปั๊มสาขา สู้ภาวะธุรกิจร้านอาหารแข่งเดือด

ร้านอาหารคืออีกธุรกิจที่แข่งขันกันอยู่ตลอด ทั้งแข่งแบบออกสินค้า หรือรสชาติใหม่ๆ บ้างก็แข่งกันด้วยราคา แต่ในจีนนั้นด้วยตลาดที่ใหญ่ จน McDonald’s ยักษ์ Fast Food แดนมะกัน ต้องออกโรงหาพาร์ทเนอร์มาช่วยทำตลาดเลยทีเดียว

ภาพ pixabay.com

ขายหุ้น 80% ให้กับกลุ่ม Consortium ในจีน

เว็บไซต์ Bloomberg รายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้ McDonald’s จะประกาศเซ็นสัญญาเพื่อที่จะขายสิทธิ์ในการใช้แบรนด์ให้กับกลุ่ม Consortium ที่ประกอบด้วย Citic Group กับ Carlyle Group LP เพื่อให้กลุ่ม Consortium นี้บริหารงาน McDonald’s ในประเทศจีน และฮ่องกงมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,500 ล้านบาท) เป็นเวลา 20 ปี โดยการขายสิทธิ์ครั้งนี้ กลุ่ม Consortium จะเข้ามาถือหุ้น 80% แบ่งเป็น Citic Group 52% และ Carlyle Group LP อีก 28% ส่วนที่เหลืออีก 20% จะถือโดย McDonald’s เช่นเดิม

ทั้งนี้ในเดือนมี.ค. 2559 McDonald’s ประกาศว่าอยู่ระหว่างหาพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่มสาขาอีก 1,500 แห่งในจีน, ฮ่องกง และเกาหลีใต้ภายใน 5 ปี จากเดิมที่มีสาขาทั้งหมด 2,800 แห่ง ทั้งหมดบริหารเอง แต่หลังจากนี้ไปทั้งหน้าร้านเดิม และร้านที่เปิดใหม่จะบริหารโดยพาร์ทเนอร์ที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจถึง 95% ของสาขาในต่างประเทศทั้งหมด โดยในจีนนั้นไม่ได้มีแค่ Citic Group กับ Carlyle Group LP ที่สนใจเป็นพาร์ทเนอร์ เพราะมีทั้ง TPG Capital, Wumart Store, Bain Capital ที่จับมือกับ GreenTree (ยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงแรมในจีน) แต่งทั้งหมดก็พ่ายแพ้ต่อการเสนอราคาของ Consortium นี้

ตลาดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข่งเดือด

Steve Easterbrook ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ McDonald’s บอกว่า การขยายตลาดออกไปต่างประเทศน่าจะดีที่สุด หลังจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดมีผู้เข้าร้านลดลงอย่างต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน โดยจีน, เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเป้าหมายสำคัญที่จะเข้าไปขยายตลาด และการใช้รูปแบบพาร์ทเนอร์ในการขยายตลาดนั้นก็ยังช่วยให้การเพิ่มจำนวนสาขาทำได้เร็วขึ้น เพราะเดิมทีก็ลงทุน และบริหารสาขาเองมาโดยตลอด แต่ถึงอย่างไรในเอเชียก็ยังเป็นตลาดที่ยาก เพราะมีทั้ง Yum ที่ถือ KFC คู่แข่งตลอดกาล และ Ting Hsin International Group ที่ขยับตัวอยู่ตลอด

สำหรับในประเทศไทย McDonald’s บริหารงานโดย บริษัท แมคไทย จำกัด ดังนั้นสาขาทั้งหมดในประเทศไทย รวมถึงการว่าจ้างงานก็จะทำโดย McDonald’s ทั้งหมด ส่วนนโยบายหาพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยทำตลาดในประเทศไทยจะเข้ามาเร็วแค่ไหน ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เพราะการอ้างอิงข้างต้นของ Bloomberg นั้น มาจากแหล่งข่าวที่คลุกคลีในโลกธุรกิจของประเทศจีนมาเป็นเวลานาน ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

สรุป

การหาพาร์ทเนอร์เพื่อมาช่วยทำธุรกิจ ถือเป็นอีกวิธีที่ทำให้การขยายตลาด เช่นจำนวนสาขา หรือได้แนวคิดแบบ Localize ทำได้ดีขึ้น เพราะทั้งเงินทุนที่เพิ่ม รวมถึงความเข้าใจในตลาด ดังนั้นอีกไม่นานเชื่อว่า McDonald’s ในประเทศไทยจะเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เช่นเดียวกับประเทศจีนแน่นอน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในตลาดต่อไป

อ้างอิง // McDonald’s Said to Sign Deal Monday on China Franchise Sale

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา