เมื่อพูดถึงชื่อ มาบุญครอง หรือ MBK ธุรกิจแรก ๆ ที่คนนึกถึงคงไม่พ้นศูนย์การค้า และข้าวสารมาบุญครอง เพราะทั้งสองธุรกิจอยู่คู่คนไทยมาหลายสิบปี เป็นที่รู้จักในคนทุกเพศทุกวัย
แต่รู้หรือไม่ มาบุญครอง ทำธุรกิจอื่น ๆ ด้วย หากรวมศูนย์การค้า และข้าวสารเข้าไปด้วยจะมีทั้งหมด 8 ธุรกิจ เช่น ธุรกิจสนามกอล์ฟ, ธุรกิจสินเชื่อทางการเงิน และธุรกิจประมูลรถยนต์ เป็นต้น
ยิ่งการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย รายได้ปี 2565 ของ มาบุญครอง จึงเติบโต 10% และพลิกมีกำไรสุทธิ 332 ล้านบาท แล้วภาพรวมธุรกิจ มาบุญครอง ในปี 2566 จะเป็นอย่างไร Brand Inside รวบรวมข้อมูลมาให้ดังนี้
มาบุญครอง กับ 8 กลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่ง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คนทั่วไปอาจรู้จัก มาบุญครอง ในแบรนด์ข้าวสาร และศูนย์การค้า แต่ยังไม่รู้จักธุรกิจอื่น ๆ ของ มาบุญครอง เท่าไรนัก เพราะปัจจุบัน มาบุญครอง หรือ บมจ. เอ็ม บี เค แบ่งการทำธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่มประกอบด้วย
- ธุรกิจศูนย์การค้า มีรายได้จากการขายพื้นที่เช่าให้รายย่อย กับองค์กรที่ศูนย์การค้า และอาคารมาบุญครอง
- ธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยว มีโรงแรมหลักคือ ปทุมวันปริ๊นเซส
- ธุรกิจกอล์ฟ มีสนามหลักคือ ริเวอร์เดล และเรด เมาท์เทิน
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการบ้านหรูควาริทซ์ พระราม 9 และ ริเวอร์เดล เรสซิเดนซ์
- ธุรกิจอาหาร หรือ ข้าวแบรนด์มาบุญครอง
- ธุรกิจการเงิน เช่น ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ T Leasing
- ธุรกิจการประมูล ที่ร่วมทุนกับธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นให้บริการในช่ือ Apple Auto Auction
- ธุรกิจสนับสนุนองค์กร และอื่น ๆ
แม้ มาบุญครอง จะเริ่มต้นจากธุรกิจอาหาร ผ่านการก่อตั้ง บริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด เมื่อปี 2517 และเริ่มมาเปิดศูนย์การค้ามาบุญครองเมื่อปี 2528 แต่ด้วยระยะเวลาที่เปลี่ยนไป และด้วยบริษัทมีที่ดินจำนวนมาก จึงเริ่มนำที่ดินเหล่านั้นมาปรับใช้งานกับธุรกิจอื่น ๆ ไม่ได้ยึดติดแค่ธุรกิจศูนย์การค้า และอาหาร
สุเวทย์ ธีรวชิรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอ็ม บี เค เล่าให้ฟังว่า ที่ดินที่บริษัทเป็นเจ้าของถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ทางบริษัทยังปรับตัวภายใต้วิกฤติตลอดเวลา จึงประคองกิจการให้แข็งแกร่ง และมีกระแสเงินสดในมือตลอดเวลา
เจาะรายได้แต่ละกลุ่มธุรกิจของมาบุญครอง
ส่วนงานธุรกิจ | 2565 | 2564 | เพิ่มขึ้น/(ลดลง) | |
---|---|---|---|---|
1) ศูนย์การค้า | 1,703 | 1,480 | 223 | 15% |
2) โรงแรม และการท่องเที่ยว | 829 | 221 | 608 | 275% |
3) กอล์ฟ | 412 | 258 | 154 | 60% |
4) อสังหาริมทรัพย์ | 908 | 1,000 | (92) | (9%) |
5) อาหาร | 1,601 | 1,646 | (45) | (3%) |
6) การเงิน | 2,359 | 2,412 | (53) | (2%) |
7) การประมูล | 568 | 602 | (34) | (6%) |
8) ศูนย์สนับสนุนองค์กร และอื่น ๆ | 25 | 12 | 13 | 108% |
รวม | 8,405 | 7,631 | 774 | 10% |
*หน่วยล้านบาท
ดังตารางด้านบนจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมธุรกิจของ มาบุญครอง ที่ปัจจุบันไม่ได้พึ่งพิงแค่ศูนย์การค้า และอาหาร อย่างชัดเจน เพราะสัดส่วนรายได้ที่มากที่สุดคือ ธุรกิจการเงิน รองลงมาเป็นศูนย์การค้า และอาหาร ส่วนสนามกอล์ฟ กับโรงแรม และการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด
“มาบุญครอง พยายามทำตัวเป็นโฮลดิ้งผ่านการจัดกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน ถ้ามีคนเข้ามาร่วมทุนในอนาคต หรือจะเอาบางธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ง่ายกว่าเดิม ซึ่งสิ้นปีนี้น่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ถือเป็นอีกหลักหมุดสำคัญของกลุ่มมาบุญครองที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน”
แม้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่ใช่กับธุรกิจอาหารที่จริง ๆ ควรจะเติบโตไปด้วยกัน เพราะธุรกิจขายข้าวมีรายได้ลดลง 10% เพราะโรงสีข้าวผลิตข้าว และจำหน่ายเอง ทำให้ร้านค้าปลีกหยุดำเนินกิจการ หรือลดปริมาณสั่งข้าว นอกจากนี้กำลังซื้อผู้บริโภคยังมีปัญหา จึงไปซื้อข้าวแบรนด์อื่นที่มีราคา และคุณภาพต่ำกว่าแทน
ปี 2566 กับการเติบโตเหมือนก่อนโควิด
สุเวทย์ ย้ำว่า ในปี 2566 มาบุญครอง จะเริ่มกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะฝั่งศูนย์การค้าที่ไม่พึ่งแต่นักท่องเที่ยวจีน ผ่านการเน้นลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง และอินเดีย จึงไม่มีปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่กว่าจะไหลเข้ามาในประเทศไทยอาจต้องรอถึงปลายปี นอกจากนี้การเพิ่มโซนใหม่ 24 ชม. ยังช่วยดึงลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาใช้บริการด้วย
“การมีโซน 24 ชม. ช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นดองกิ หรือร้านอาหารที่ให้คนทำงานเข้ามาใช้บริการ จากเดิมที่คนกลุ่มนี้อาจไม่ใช้ลูกค้าที่มาใช้บริการเรา ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2565 นั้น จำนวนผู้ใช้บริการศูนย์การค้ามาบุญครองเท่ากับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด หรือราว 80,000 คน/วัน แล้ว”
อย่างไรก็ตาม จากกลุ่มธุรกิจทั้ง 8 ของมาบุญครอง เกือบทั้งหมดจะอิงกับกระแสการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทำให้ มาบุญครอง จะกลับมาเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สุเวทย์ หวังว่า ปี 2566 จะกลับมามีรายได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด หรือราว 12,249 ล้านบาท
อ้างอิง // MBK
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา