Mazda เตรียมกู้เงิน 3 แสนล้านเยนสู้ COVID-19

ก่อนหน้านี้ Toyota ขอเพิ่มวงเงินกู้สูงสุดเป็น 1 ล้านล้านเยน และ Nissan เตรียมยื่นกู้เงิน 5 แสนล้านเยน ล่าสุด Mazda อยู่ระหว่างทำเรื่องกู้เงิน 3 แสนล้านเยน เพื่อประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤต COVID-19

CX-30
CX-30

อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีปัญหา

การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนัก ขนาด Toyota ที่ว่ามีความแข็งแกร่งทางการเงิน ก็ต้องยื่นขอเพิ่มวงเงินกู้สูงสุด (Credit Line) กับสถานบันการเงินในญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าวที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร เช่นเดียวกับ Nissan ที่อยู่ระหว่างขอกู้เงินจากสถานบันการเงินต่างๆ ด้วย

คราวนี้ก็มาถึง Mazda แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นอีกรายที่ต้องเดินหน้านโยบายทางการเงินด้วยการกู้เงิน 3 แสนล้านเยน (ราว 89,000 ล้านบาท) จาก 3 ธนาคารที่ประกอบด้วย MUFG, Sumitomo Mitsui และ Mizuho รวมถึงสถานบันการเงินที่รัฐเป็นผู้บริหาร เช่นธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้ทุกธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณา

Mazda cx 5
Mazda CX-5

ทั้งนี้การที่ Mazda ต้องออกมากู้เงิน เพราะการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้โรงงานทั้งในประเทศญี่ปุ่น และต่างประเทศต้องปิดชั่วคราว รวมถึงยอดขายในประเทศต่างๆ ที่ลดลงอย่างชัดเจน เช่นในเดือนก.พ. กับมี.ค. 2563 ลดลง 14% กับ 33% ตามลำดับ

การเดินหน้ากลยุทธ์ที่ผิดพลาด

อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่วิกฤต COVID-19 เป็นเหตุผลที่ Mazda ต้องยื่นกู้ เพราะก่อนหน้านี้ Mazda ประสบปัญหาทางธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว ถึงขนาดระหว่างเดือนเม.ย.-ธ.ค. 2562 มีเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) ติดลบถึง 1.3 แสนล้านเยน แม้จะมีเงิน 5 แสนล้านเยน และหลักทรัพย์ต่างๆ อีก 63,000 ล้านเยนก็ตาม

Mazda 3
Mazda 3

ทั้งหมดนี้มาจากการเดินหน้ากลยุทธ์ที่ผิดพลาด เช่นการปรับโครงสร้างราคารถยนต์ใหม่ทั้งหมดเมื่อต้นปี 2562 ผ่านการเพิ่มขึ้นเพื่อให้แบรนด์ดูพรีเมียม แต่การทำแบบนี้กลับทำให้ยอดขายลดลง เพราะไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่นในสหรัฐอเมริกามียอดขายลดลงอย่างชัดเจน ที่สำคัญที่นั่นยังเป็นยอดขายถึง 30% ของ Mazda ด้วย

จากกลยุทธ์ดังกล่าว Mazda ถึงกับต้องปรับเป้ายอดขายในปีปฏิทินที่จะสิ้นสุดเดือนมี.ค. 2563 เหลือ 1.5 ล้านคันทั่วโลกจากเป้าเดิม 1.55 ล้านคัน และลดลง 60,000 คันเมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ทั้งปรับยอดกำไรจากการดำเนินงานเหลือ 60,000 ล้านเยน จากเป้าเดิม 1.1 แสนล้านเยน และลดลง 27% จากปีก่อน

RX-7
RX-7 รถสปอร์ตที่ใช้เครื่องยนต์ Rotary ของ Mazda

ประสบปัญหาทางธุรกิจหลายรอบ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Mazda ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ เพราะเมื่อทศวรรษที่ 70s (พ.ศ.2513-2522) Mazda ที่ทำตลาดรถยนต์เครื่อง Rotary ในยุคนั้นก็เจอปัญหาน้ำมันขึ้นราคาจนประคองธุรกิจไม่ไหว และได้ Ford เข้ามาซื้อหุ้น 25% พร้อมกับช่วยให้ธุรกิจของ Mazda กลับมาเดินได้เอง

แต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90s (พ.ศ.2543-2552) Mazda ได้กลับมาประสบปัญหาทางธุรกิจอีกครั้งด้วยการขาดทุน 5 ปีติดต่อกัน และ Ford ก็เพิ่มหุ้นเป็น 33.4% พร้อมกับส่งผู้บริหารมาช่วยเหลือ ก่อนถอนหุ้นทั้งหมดออกไปในปีพ.ศ. 2558 เพราะตอนนั้นภาพรวมเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหา

mazda
รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่น MX-30 ของ Mazda

แม้เหมือนจะกลับมาดูดี แต่เมื่อปี 2560 ทาง Toyota ก็เข้ามาถือหุ้นใน Mazda ทั้งหมด 5.1% คิดเป็นอันดับที่ 3 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเงินของ Mazda ในช่วงหลังที่แก้ไขไม่สำเร็จ จนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมต้องเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง

สรุป

ถือเป็นปัญหาของทุกค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องเร่งแก้ไข และผ่านพ้นไปให้ได้ เพราะวิกฤต COVID-19 จะสิ้นสุดเมื่อไรไม่มีใครรู้ ดังนั้นการมีเงินสดไว้ในมือก็น่าจะเป็นเรื่องดี ซึ่ง Mazda กำลังทำแบบนี้อยู่ แต่ก็ต้องไม่ลืมแก้ไขภาพรวมธุรกิจ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่เดินผิดพลาดมาก่อนหน้านี้ด้วย

อ้างอิง // Nikkei Asian Review 1, 2, Kyodo

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา