Mazda CX-30 กับ CX-3 นั้นจัดอยู่ในกลุ่ม SUV ขนาดเล็กที่สุด หรือ Subcompact SUV แล้วทำไม Mazda ต้องมีรถยนต์กลุ่มนี้ถึง 2 รุ่นเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ล่ะ?
ขนาดที่ใกล้เคียงกันจนอาจสับสน
เบื้องต้นมาดูที่คุณสมบัติ และรายละเอียดต่างๆ ของรถยนต์ 2 รุ่นกันก่อน เริ่มที่ CX-30 ตัวใหม่ล่าสุดของ Mazda ที่มาพร้อมขนาด 4,395×1,795×1,540 มม. ส่วนฐานล้อยาว 2,655 มม. ระยะสูงจากพื้น 175 มม. และน้ำหนักรถ 1,412 กก. จัดอยู่ในกลุ่ม Subcompact SUV อย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนรุ่นที่ทำตลาดมาระยะหนึ่งแล้วอย่าง CX-3 จะมาพร้อมขนาด 4,275×1,765×1,535 มม. ส่วนฐานล้อยาว 2,570 มม. ระยะสูงจากพื้น 160 มม. และน้ำหนัก 1,303 กก. จากตัวเลขนี้จะเห็นว่า CX-30 ใหญ่กว่า CX-3 แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากกว่ากันเท่าไรนัก ยิ่งประกอบกับการออกแบบของ Mazda ก็ทำให้รถยนต์ทั้งสองรุ่นดูคล้ายกัน
ถึงภายนอกจะดูไม่ต่างกันมากนัก แต่หากไปดูภายในจะพบว่าค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร เพราะ CX-30 มีพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า ระบบความบันเทิงแบบใหม่ รวมถึงที่เก็บสัมภาระด้านหลังที่กว้างกว่า CX-3 อย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความเป็น Subcompact และความ Mazda ทำให้ที่นั่งของผู้โดยสารอาจไม่สบายเมื่อต้องเดินทางยาวๆ
ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรคนละแบบ
ในฝั่งของเครื่องยนต์ CX-30 มีแค่ 2.0 ลิตร Skyactiv-G 2.0 เบนซิน พละกำลังสูงสุด 165 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ส่วน CX-3 มีให้เลือก 2 เครื่องยนต์คือ Skyactiv-G 2.0 ลิตรเบนซิน 156 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 204 นิวตันเมตร กับ Skyactiv-D 1.5 ลิตร เทอร์โบ 105 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร
จะเห็นว่าตัวเครื่อง CX-30 จะใช้ตัวเดียวกับ Mazda 3 รุ่นใหม่ ส่วน CX-3 นั้นจะวางเครื่องค่อนข้างใหญ่ในตัวถังค่อนข้างเล็ก ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ CX-30 ใช้พื้นฐานของ Mazda 3 ใหม่ในการออกแบบ ส่วน CX-3 นั้นใช้พื้นฐานของ Mazda 2 โฉมปัจจุบันในการออกแบบนั่นเอง
ดังนั้นในเรื่องเครื่องยนต์ ใครที่ชื่นชอบรถยนต์คันเล็กๆ แต่ขับได้สนุก ก็คงต้องไปที่ CX-3 เพราะให้เครื่องใหญ่ พละกำลังเยอะ ประหยัดน้ำมันได้ประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะรุ่นดีเซล ส่วนใครไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้มากนัก เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรใน CX-30 ก็เพียงพอในการขับขี่ แต่เรื่องประหยัดน้ำมันอาจทำได้ไม่มากนัก 12-13 กม./ลิตร น่าจะพอได้
2 รุ่นเล็ก แต่ให้คำตอบที่แตกต่างกัน
สุดท้ายคือเรื่องราคาที่ทั้งสองรุ่นไม่ต่างกันนัก โดย CX-30 มีทั้งหมด 3 รุ่นย่อย เริ่มต้น 9.89 แสนบาท, 1.099 ล้านบาท และ 1.199 ล้านบาท ส่วน CX-3 มี 5 รุ่นย่อย เริ่มต้น 8.79 แสนบาท, 9.55 แสนบาท, 1.029 ล้านบาท, 1.083 ล้านบาท และ 1.189 ล้านบาท
เมื่อเป็นอย่างนี้ CX-30 และ CX-3 ที่มีขนาดตัวรถ และราคาที่ใกล้เคียงกัน ก็น่าจะเป็นงานยากสำหรับ Mazda ในการวางตำแหน่งของรถยนต์ทั้งสองรุ่นให้ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นทั้งสองรุ่นก็จะกินตลาดกันเอง แต่เชื่อว่าผู้บริโภคในไทยน่าจะอยากได้รถยนต์รุ่นใหม่มากกว่า ซึ่ง CX-30 ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
และในอนาคตก็อาจไม่มี CX-3 อยู่แล้วก็ได้ ผ่านความไม่จำเป็นในการทำตลาด หรือถ้าจะมีจริงๆ ก็ต้องสร้างความแตกต่างระหว่างทั้งสองรุ่นให้มากกว่านี้ คล้ายกับกรณี Subcompact ของ Mercedes-Benz ที่ GLA กับ GLB นั้นต่างกันชัดเจน เช่นรุ่นแรกเน้นโฉบเฉี่ยว อีกรุ่นจุได้ 7 ที่นั่ง เหมาะกับกลุ่มครอบครัว
ไม่ใช้ CX-4 เพราะเคยใช้ชื่อนี้ทำตลาดมาแล้ว
ทั้งนี้หากย้อนไปที่ชื่อรุ่น CX-30 ก็น่าจะสงสัยกันว่าทำไม Mazda ถึงไม่ใช้ชื่อรุ่น CX-4 เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันอยู่ระหว่าง CX-3 กับ CX-5 แต่ที่ไม่ใช้ชื่อนี้เพราะชื่อ CX-4 เคยถูกใช้มาแล้วในรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดในจีน ดังนั้นการจะนำชื่อนี้มาใช้อีกรอบหนึ่งกับรถยนต์อีกรุ่นก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ส่วนตลาด Subcompact SUV ในประเทศไทยนอกจาก CX-3 และ CX-30 ของ Mazda ก็ยังมี Toyota C-HR, Honda HR-V, MG ZS, Subaru XV และที่กำลังจะเปิดตัวอย่าง Nissan Kicks ดังนั้นตลาดนี้ไม่ง่ายแน่ๆ ยิ่ง Mazda ตั้งราคามาค่อนข้างสูง มันก็ยิ่งท้าทาย
ในทางกลับกัน CX-30 ก็น่าจะเข้ามากินตลาดผู้บริโภคที่อยากซื้อ Mazda 3 Fastback ด้วย เพราะราคาของรุ่นดังกล่าวเริ่มต้น 9.69 แสนบาท, 1.069 ล้านบาท และ 1.198 ล้านบาท เรียกว่าใกล้เคียงกันสุดๆ แต่ด้วยความเป็นรถยนต์ที่เอนกประสงค์กว่า ก็ไม่แปลกที่ยอดขาย Mazda 3 Fastback จะมีปัญหาแน่หากสื่อสารออกไปไม่ถูกต้อง
สรุป
CX-30 กับ CX-3 ไม่ต่างกันมาก และความไม่ต่างกันมากนี้เอง มันก็ยากสำหรับ Mazda ที่จะบริหารจัดการรถยนต์ทั้งสองรุ่นนี้ แต่ด้วย CX-30 ที่เมื่อเทียบกับคู่แข่งก็ค่อนข้างอยู่ในอันดับบนๆ มันก็น่าจะทำให้ Mazda มียอดขายติดลมบน และขึ้นอันดับหนึ่งในตลาด SUV ได้ตามที่หวังไว้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา