ทำไมต้อง “สิทธิลาคลอด 180 วัน” ใครได้ ใครเสียจากนโยบายนี้ ปัญหาคืออะไร?

หลังจากที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แม้จะยังไม่ทันได้จัดตั้งรัฐบาล ‘สิทธิลาคลอด 180 วัน’ กลายมาเป็นนโยบายที่ถูกจับตามอง จากทั้งฝั่งเจ้าของกิจการและฝั่งลูกจ้าง และเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างออกรสบนโซเชียลมีเดีย

สิทธิลาคลอดในปัจจุบัน สามารถให้ลาคลอดได้ 98 วัน สามารถเลือกใช้วันลาตั้งแต่ก่อนคลอดหรือหลังคลอดก็ได้  นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเวลา 45 วัน และประกันสังคมจ่ายให้อีก 45 วัน แต่สิ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันนั้น คือ นโยบาย ‘สิทธิลาคลอด 180 วัน’ โดยข้อเสนอของพรรคก้าวไกลมี ดังนี้

  • ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
  • แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม
  • แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
  • พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

ฝ่ายผู้ประกอบการบางส่วนกำลังมองว่านโยบายนี้ จะทำให้นายจ้างแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น บ้างก็บอกว่าอาจทำให้ผู้หญิงมีโอกาสทำงานน้อยลง โอกาสไปสู่ตำแหน่งในระดับสูง เป็นไปได้ยากขึ้น ถ้าเทียบกับผู้ชายที่ไม่ตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเติบโตมากกว่า

แต่อีกฝ่าย ก็อยากให้มองถึงมุมของผู้อุ้มท้องดูบ้าง การเลี้ยงเด็กแรกเกิดในช่วงแรกนั้นยากลำบากขนาดไหน หากมีวันลามากพอ รวมถึงรายได้ตามปกติในวันลา จะช่วยให้การเลี้ยงลูกผ่านไปได้ด้วยดีและได้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะไม่ดีกว่าหรือ

ในภาพรวมประเด็น ‘สิทธิลาคลอด’ มีเรื่องประเด็นที่สังคมยังคงถกเถียงกัน ดังนี้

  • นายจ้าง สิทธิในการให้ลาคลอด การประเมินความก้าวหน้าจากภาระการงานและเงินสนับสนุนลูกจ้าง 

แม้นายจ้างจะอยากให้สิทธิลูกจ้างเพื่อลาคลอด แต่ก็มีเรื่องภาระงานที่ลูกจ้างต้องแบกรับ ทำให้งานต้องหยุดชะงักไป ขณะที่อยู่ในช่วงลาคลอดที่มีวันลายาวนานขึ้นแถมนายจ้างยังต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้อีก แม้ในช่วงหยุดงาน นโยบายใหม่แบบนี้ ผู้ประกอบการรับมือได้แค่ไหน?

ภาระงานของผู้หญิงที่ลาคลอด มีเรื่องให้ต้องคิดต่อเยอะมาก ทั้งเรื่อง ใครจะทำหน้าที่แทน งานจะสำเร็จราบรื่นเพียงใด จะประเมินศักยภาพช่วงลาพักงานอย่างไร ต้องระงับไว้นานแค่ไหน นี่เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องกลับไปคิดต่อ แต่ถ้าเป็นผู้ชาย ตัดปัญหาเรื่องนี้ทิ้งไปได้เลย อย่างน้อยฝั่งสามีจะเป็นฝั่งซัพพอร์ตภรรยา ไม่ได้แบกรับเท่าภาระเท่าภรรยาที่มีหน้าที่เป็นแม่ ทั้งในส่วนคลอดบุตรหรือเลี้ยงดูทารกแรกคลอดซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังคลอดอีก 

ขณะที่มิติทางการเงิน ฝั่งนายจ้างต้องสนับสนุนแค่ไหน จุดสมดุลระหว่างการจ่ายเงินจากทั้งสองฝั่งคือฝั่งนายจ้างและฝั่งประกันสังคมอยู่ที่ใด เรื่องนี้รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน เพราะนี่คือภาระทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นของฝั่งเอกชน 

หลายต่อหลายครั้งในยุคปัจจุบัน พบว่า บริษัทหลายแห่งในไทยมักจะระงับการจ้างงานเมื่อทราบว่าคนที่เริ่มเข้าสมัครงานเพิ่งแต่งงานและอาจเตรียมแผนมีบุตร หลายบริษัทจึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่รับเข้าทำงานเสียเลยดีกว่า นี่จึงเป็นภาระของผู้หญิงที่เตรียมเข้าสู่ภาวะแม่ต้องแบกรับ

  • รัฐบาล

รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนในการกำหนดให้สิทธิลาคลอดกับทางบริษัท ทั้งในส่วนของวันลางานและเงินครอบคลุมการดูแล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทเก่าๆ จะยอมรับนโยบายใหม่ ๆ ที่บริษัทได้รับผลกระทบ สุดท้ายภาระจะตกไปที่ฝั่งของลูกจ้าง ถ้านโยบาย เกณฑ์ ระบบ ระเบียบไม่ชัดเจนมากพอ 

แต่สิ่งที่สังคมได้หลังจากนี้ นี่คือสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับ อย่างน้อย เงินและสิทธิที่ได้ จะช่วยสนับสนุนประชาชนในช่วงแรกคลอดซึ่งเป็นช่วงที่เปราะบางที่สุดของชีวิต ทำ ให้คนรู้สึกปลอดภัย และบรรเทาภาระหนักหน่วงของมนุษย์แม่ มนุษย์พ่อทั้งหลายได้บ้างไม่มากก็น้อย

  • ลูกจ้าง สิทธิในการลาคลอด โอกาสในการเติบโตจากการทำงาน และเงินในการแบกรับภาระค่าใช้จ่าย

สิทธิในการลาคลอด หากนโยบายนี้สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง ก็สะท้อนความเจริญผ่านนโยบายของรัฐ ที่รัฐควรมีหน้าที่ดูแลประชาชนตามสมควร ส่วนเรื่องเงิน คือการช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัวที่อาจจะช่วยลดความตึงเครียดทางการเงินได้บ้าง 

แต่ปัญหาเรื่องความก้าวหน้าทางการงานทั้งในช่วงตั้งครรภ์และช่วงลาคลอดต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาสำคัญของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มาทุกยุคทุกสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลาคลอด 180 วัน หรือระยะลางานยาวนานครึ่งปี ทำให้หลุดลูปจากการถูกประเมินให้อาชีพการงานก้าวหน้าขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสถานที่ประกอบการ หรือทุกตำแหน่งงานจะเป็นเช่นนั้น แต่โดยภาพรวม ผู้ประกอบการมักติดอยู่ในลูปนี้และมนุษย์แม่ก็ตกอยู่ในวงจรนี้มาอย่างยาวนาน 

นี่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปรับวิธีคิดใหม่ว่าแม้จะมีการลาคลอด ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะศักยภาพด้อยลง ขณะเดียวกัน มนุษย์แม่ก็ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่า การตั้งครรภ์ การลาคลอดไม่ได้ทำให้ศักยภาพลดลงแต่อย่างใด แต่การเพิ่มสถานะแม่เข้ามา กลับทำให้รู้จักโลก เข้าใจคน ทำงานเป็นมากขึ้นต่างหาก

ตัวอย่างจากงานวิจัย ‘Leaves That Pay: Employer and Worker Experiences with Paid Family Leave in California’ ตีพิมพ์บน Center for Economic and Policy Research ได้กล่าวถึงเรื่องการลางานเกี่ยวกับครอบครัวแต่ยังได้ค่าจ้าง จะช่วยให้พนักงานตัดสินใจกลับมาทำงานแทนที่จะลาออกหรือใช้เวลาไปกับการหางานใหม่ ถือว่านายจ้างก็ได้พนักงานคนเดิมที่เป็นงานกลับมา พนักงานเองก็ได้ไปต่อกับงานที่เหมาะกับตัวเอง

แล้วข้อดีของการมีสิทธิลาคลอดอย่างเหมาะสมมีอะไรบ้าง?

ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสรรเม็ดเงินในการสนับสนุนพนักงานคนหนึ่ง แต่ยังหมายรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีที่ควรมีสวัสดิการทางสังคมรองรับทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝั่งนายจ้าง

โดยเฉพาะไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะอัตราการเกิดในแต่ละปีนั้นน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนอยากมีครอบครัว รวมถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ที่เด็กคนหนึ่งกว่าจะเติบโตมาได้ต้องอาศัยเงินทุนสูง ทั้งค่าเลี้ยงดู ค่าศึกษา และอื่นๆ 

ตัวเลขล่าสุดของอัตราการเกิดของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 502,107 คน ซึ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทุกปี ซ้ำร้าย จำนวนคนเกิดยังน้อยกว่าคนตาย เท่ากับว่าอัตราเพิ่มของประชากรติดลบ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเรากำลังต้องหันมาใส่ใจปัญหาอัตราการเกิดอย่างจริงจังแล้วจริงๆ

แล้วอะไรที่พอจะจูงใจให้คนอยากมีลูกในประเทศนี้ได้กันล่ะ? คุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งแม่และเด็ก อาจเป็นคำตอบกว้างๆ ที่พอจะใกล้เคียงที่สุด แต่คำถามต่อมา แล้วอะไรกันล่ะที่จะทำให้แม่และเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้?

 

ลดการแบกรับค่าใช้จ่าย

การเลี้ยงดูลูกหนึ่งคน ถ้านับค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ไปจนถึงช่วงเวลาที่เขาดูแลตัวเองได้ อาจทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจที่จะไม่มีลูกในช่วงเวลาที่การเงินยังไม่พร้อม Brand Inside เคยกล่าวถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็ก ด้วยความพร้อมของครอบครัวที่มีหลายระดับ จึงขอแบ่งเป็น แบบพอเพียง เรียนโรงเรียนรัฐ มหาลัยรัฐใช้จ่ายแบบทั่วไป แบบปานกลาง โรงเรียนเอกชน ใช้จ่ายแบบคล่องตัว แบบจัดเต็ม โรงเรียนนานาชาติ เรียนต่อต่างประเทศ ใช้จ่ายไม่อั้น โดยนับกันตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์และช่วงทารก ค่าเล่าเรียน จนถึงค่ากินอยู่เมื่ออายุพอสมควรที่จะหาเงินได้ด้วยตัวเองแล้วเริ่มกันที่แบบพอเพียง เลี้ยงกันตั้งแต่เล็กจนโต ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,560,000 บาท/คน แบบปานกลาง 7,810,000 บาท/คน และแบบจัดเต็มอยู่ที่ 36,180,000 บาท/คน  

ทั้งนี้ เป็นตัวเลขโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างของครอบครัวนั้นๆ ด้วย แต่แค่ตัวเลขโดยประมาณนี้ อาจพอทำให้เห็นภาพแล้วว่า การมีลูกหนึ่งคนนั้นมีค่าใช้จ่ายตามมามากแค่ไหน

 

คุณภาพชีวิตดีทั้งแม่และเด็ก

การที่แม่ได้ใช้เวลาเลี้ยงทารกในช่วงแรกเกิดด้วยตัวเอง ยังส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของทั้งคู่ด้วยเช่นกัน ในงานวิจัย ‘The Impact of Paid Maternity Leave on the Mental and Physical Health of Mothers and Children: A Review of the Literature and Policy Implications’ ที่ได้ตีพิมพ์บน Harvard Review of Psychiatry ได้ให้เหตุผลที่แม่ควรได้ใช้เวลาดูแลทารกแรกเกิดด้วยตัวเองไว้ 3  ข้อ ดังนี้  1. สุขภาพจิตของแม่ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ภัยเงียบที่คืบคลานเข้าหาแม่ลูกอ่อนโดยไม่ทันตั้งตัว ไหนจะลูกไหนจะงาน ช่วงลาคลอดจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพักฟื้น 2. นมแม่สำคัญที่สุด องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเด็กแรกเกิด ควรดื่มนมแม่จนถึงอายุ 6 เดือน 3. ยิ่งอยู่กับแม่ยิ่งปลอดภัย ทารกที่มีเวลาอยู่กับแม่ได้นานขึ้น มักจะมีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ต่ำกว่า และอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น

ทีนี้ลองมาดูประเทศที่มีสวัสดิการลาคลอดโดยที่ให้ค่าจ้าง เขาจ่ายให้มากน้อยแค่ไหนกันบ้าง ไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศ

แคนาดา

สำหรับที่นี่ จะมี Employment Insurance เป็นเหมือนประกันสังคมของบ้านเรา โดยสิทธิลาคลอดให้ทั้งแม่ที่ตั้งครรภ์และแม่อุ้มบุญ โดยให้ลาสูงสุด 15 สัปดาห์ โดยสามารถเริ่มลาได้ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอด หรือช้าสุด 17 สัปดาห์หลังจากวันคลอด

นอกจากนี้ยังมีการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ที่มีให้เลือกอีก 2 แบบ 

  • แบบมาตรฐาน ให้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้ปกครอง โดยที่ยังได้ค่าจ้าง เป็นเวลา 35 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นบุตรโดยสายเลือด ลูกบุญธรรม หรือบุตรที่ได้รับรองตามกฎหมาย โดยให้ 55% ของรายได้ต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยของผู้ปกครอง ทั้งสองคน สามารถแบ่งสิทธิประโยชน์ 35 สัปดาห์กันได้ และต้องรับสิทธิประโยชน์ภายใน 52 สัปดาห์หลังวันคลอดหรือวันรับรองบุตรตามกฎหมาย
  • แบบขยายเวลา ให้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้ปกครอง โดยที่ยังได้ค่าจ้าง เป็นเวลา 61 สัปดาห์  ไม่ว่าจะเป็นบุตรโดยสายเลือด ลูกบุญธรรม หรือบุตรที่ได้รับรองตามกฎหมาย โดยให้ 33% ของรายได้ต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยของผู้ปกครอง ทั้งสองคน สามารถแบ่งสิทธิประโยชน์ 61 สัปดาห์กันได้ และต้องรับสิทธิประโยชน์ภายใน 78 สัปดาห์หลังวันคลอดหรือวันรับรองบุตรตามกฎหมาย

นิวซีแลนด์

สำหรับที่นี่ สิทธิลาคลอดโดยยังได้รับค่าจ้าง ต้องหยุดยาวเป็นเป็นช่วงเวลาติดต่อกัน 26 สัปดาห์ โดยจะได้รับก็ต้องเมื่อเริ่มหยุดทำงาน อย่างช้าที่สุดที่ใช้สิทธิลาคลอดได้ ได้แก่ วันคลอดจริง วันกำหนดคลอด วันที่รับบุตรมาอยู่ในความดูแล 

สำหรับเงินชดเชยช่วงลาคลอด มีเงื่อนไข ดังนี้

  • ลูกจ้าง จะได้รับค่าจ้างตามปกติที่ได้รายสัปดาห์ หรือไม่เกิน 23,000 บาท ก่อนหักภาษี 
  • อาชีพอิสระ จะได้รับค่าจ้างตามปกติที่ได้รายสัปดาห์ หรือไม่เกิน 23,000 บาท หรืออย่างน้อย 7,300 บาท ก่อนหักภาษี 

ดูเหมือนว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ค่อนข้างที่จะสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศกันตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ 

หากต้องการส่งเสริมให้มีประชากรเพิ่มขึ้น ก็ต้องส่งเสริมหน่วยย่อยในสังคมอย่างครอบครัว ให้มีความพร้อมต่อการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนอย่างมีคุณภาพ สิทธิลาคลอด จึงเป็นสวัสดิการที่ช่วยส่งเสริมการสร้างครอบครัว โอบอุ้มให้อัตราการเพิ่มประชากรยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง หน้าที่นี้จึงเป็นเรื่องของรัฐโดยตรง ที่ต้องหานโยบายกระตุ้นให้ครอบครัวไม่รู้สึกว่าการมีลูกเป็นภาระที่เกินเอื้อม รวมถึงนายจ้างไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากเกินไป 

 

อ้างอิง

https://www.jec.senate.gov/public/_cache/files/646d2340-dcd4-4614-ada9-be5b1c3f445c/jec-fact-sheet—economic-benefits-of-paid-leave.pdf 

https://www.cepr.net/documents/publications/paid-family-leave-1-2011.pdf 

https://journals.lww.com/hrpjournal/Abstract/2020/03000/The_Impact_of_Paid_Maternity_Leave_on_the_Mental.5.aspx#ContentAccessOptions 

https://www.ird.govt.nz/paid-parental-leave/payments 

https://www.canada.ca/en/employment-social-development/programs/ei/ei-list/reports/maternity-parental.html#h2.1 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา