กรุงเทพฯ ยังคงครองแชมป์เมืองยอดนิยมของนักเดินทางทั่วโลกเป็นปีที่ 4 

ผลสำรวจของ Mastercard เผยจุดหมายปลายทางจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยที่กรุงเทพฯ ครองอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ดูดนักท่องเที่ยว 22 ล้านคน

การสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของ Mastercard (GDCI) ประกอบด้วยการสำรวจเพื่อข้อมูลเฉพาะของภูมิภาคคือ ผลสำรวจจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิก หรือ APDI นับเป็นปีที่ 4 แล้วที่กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องในการสำรวจทั่วโลก 

ซึ่งเป็นการจัดอันดับเมืองในแง่ของจำนวนนักเดินทางจากทั่วโลกที่มาพักแรม การจับจ่ายใช้สอยในระหว่างเดินทาง และข้อมูลน่าสนใจอื่นๆ กรุงเทพฯ ยังครองอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 9 ในผลสำรวจของเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

จำนวนนักท่องเที่ยวพักแรมในปี 2018 ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 21.1 ล้านคน ทำให้นำสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 14.7 ล้านคน 

จุดหมายปลายทางอีก 2 แห่งในประเทศไทย อย่างภูเก็ต และพัทยา ก็อยู่ใน 10 อันดับเมืองยอดนิยมในเอเชียแปซิฟิกที่มีนักท่องเที่ยวมาค้างแรม โดยภูเก็ตอยู่ในอันดับ 7 (มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ค้างแรม 9.9 ล้านคน) และพัทยาอันดับ 8 (9.4 ล้านคน) ทำให้ประเทศไทยเป็นเป็นประเทศเดียวในเอเชียแปซิฟิกที่มีเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวถึง 3 เมือง

นอกจากจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิกแล้ว APDI ในปีนี้ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งข้อมูลเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 

การสำรวจระบุว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดย 21.1% เลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางอันดับ 1 ตามมาด้วยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักเดินทางประเภทพักค้างคืนจากมาเลเซียและอินเดียอีกด้วย 

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคมากขึ้น โดยมาเลเซียเป็นประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยญี่ปุ่นและลาว

ข้อมูลแนวโน้มของเอเชียแปซิฟิก

ผลการสำรวจจาก APDI ระบุว่า จุดหมายปลายทางยอดนิยม 5 แห่งในเอเชียแปซิฟิกของนักเดินทางทั่วโลกในปี 2018 คือ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ โตเกียว และโซล โดยทั้ง 5 เมืองได้ต้อนรับนักเดินทางถึง 1 ใน 5 หรือ 22% ของนักเดินทางประเภทค้างแรมที่เดินทางมายัง 161 เมืองและศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ทั้ง 5 เมืองยังทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของนักเดินทางจากทั่วโลกกว่า 1 ใน 4 หรือ 25.2% ที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้

ภาพจาก Shutterstock

นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางสำรวจทุกซอกมุมของภูมิภาคนี้มากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวประเภทค้างแรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมายังเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 10.5 ล้านคนเป็น 62.4 ล้านคนในปี 2018 เป็นอัตราการเติบโตประจำปีที่ 21.9% เห็นได้ชัดว่า จีนแผ่นดินใหญ่เป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายัง 82 เมืองในเอเชียแปซิฟิก หรือกว่าครึ่งของจุดหมายปลายทางทั้ง 161 แห่งใน APDI

ในปี 2018 เอเชียแปซิฟิกมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางถึง 342.2 ล้านคนที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้ด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ และเพื่อการท่องเที่ยว เพิ่มจากปี 2009 ซึ่งมีนักท่องเที่ยว 159.1 ล้านคน ถือเป็นอัตราการเติบโตประจำปีที่ 8.9% ในช่วง 9 ปี และในช่วงเดียวกัน การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเพิ่มจาก 117,600 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 281,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโต 10.2%

วิธีการสำรวจ

การสำรวจจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิกของมาสเตอร์การ์ด (APDI) จัดอันดับเมือง 161 แห่งโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิเช่น จากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council WTTC) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association IATA) องค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) สหประชาชาติ IMF และคณะกรรมการการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ข้อมูลจากภาครัฐถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์จำนวนนักเดินทางที่ค้างแรมและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศต่างๆ ในเมืองจุดหมายปลายทางทั้ง 161 แห่ง การคาดการณ์อยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ด้านการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศและตัวเลขจริงในแต่ละเดือนในปี 2019 จากเมืองเป้าหมาย ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ในเดือนสุดท้ายก่อนการประกาศผลสำรวจ ข้อมูลและรายงานการสำรวจเหล่านี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของจำนวนและข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านมาสเตอร์การ์ด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา