SoftBank Vision Fund ผลตอบแทนปีแรก 60% แล้ว Masayoshi Son มีวิธีบริหารยังไง?

นี่คือเรื่องราวของ Masayoshi Son จากปากของเหล่า CEO บริษัทเทคโนโลยีรวมไปถึงสตาร์ทอัพหลายแห่งว่าชายผู้นี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพบปะ การที่เลือกบริษัทลงทุน จนได้ผลตอบแทนในปีแรกที่ดีมากๆ

เป็นอีกปีที่ผ่านไปสำหรับ SoftBank Vision Fund กองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ มูลค่า 1 แสนล้านเหรียญ ของ Masayoshi Son กำลังออกดอกออกผล โดยเขาเองได้กล่าวกับ CEO เจ้าของบริษัทที่เขาลงทุนว่าปีนี้ผลตอบแทนคือ 60% 

แต่กว่าจะได้ผลตอบแทนในปีนี้มากถึงขนาดนี้ย่อมมีอะไรที่ไม่ธรรมดาแน่นอน Brand Inside นำแง่มุมที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกัน ซึ่งเป็นการรวบรวมจากการสัมภาษณ์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่กองทุนได้ลงทุน

กว่าจะลงทุนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

สำหรับ SofBank Vision Fund การลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพไม่ใช่ว่าจะลงทุนกันได้ง่ายๆ ทีมงานของ Vision Fund มีประมาณ 200 คน ช่วยกันหาบริษัทใหม่ๆ และคัดเลือกบริษัทที่น่าจะเข้ากับกองทุน ในแต่ละวัน Son เองจะพบกับ CEO ของสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทมาก

เขาเองและทีมงาน Vision Fund จะพูดคุยหรือสอบถามสตาร์ทอัพรายต่างๆ ประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และบางทีการพูดคุยอาจมีการพบกันหลายรอบ ก่อนที่กองทุนจะลงทุน ซึ่งบางทีขณะที่ CEO ของบริษัทเหล่านี้กำลังใกล้จะบินกลับประเทศของตัวเองในวันพรุ่งนี้ ก็ยังมีโทรศัพท์จากกองทุนบอกว่า “Son อยากเจอคุณในวันพรุ่งนี้”

โดยคำถามของเขาเวลาถาม CEO เหล่านี้ มี CEO ของบริษัทหลายๆ คนกล่าวว่า คำถามของ Son เองเหมือนเป็นคำถามซ้อนคำถาม

มองระยะยาวและใหญ่มาก

CEO แต่ละคนได้กล่าวว่ามุมมองของ Son เองในการลงทุนคือ เขาเองไม่ได้มองระยะสั้นๆ แต่เขาเองมองไประยะยาวมากๆ ตัว Son เองได้กล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่าการลงทุนของเขาคือลงทุน 300 ปี นอกจากนั้นตัวเขาเองยังชอบที่บริษัทเหล่านี้จะขยายธุรกิจให้ได้มากกว่าเดิม เขาเองมักจะบอกว่าไม่มีเวลาที่จะเสีย

หลังจากที่กองทุนได้ลงทุนในบริษัทเหล่านี้แล้วมักจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว Michael Marks เจ้าของสตาร์ทอัพก่อสร้างอย่าง Katerra ได้กล่าวว่าแต่เดิมบริษัทเขาเองได้รับงานก่อสร้างโรงแรมแค่ 2-3 แห่ง แต่หลังจาก Vision Fund มาลงทุน เขาสามารถรับงานได้ถึง 40 โรงแรมได้ทันที ไวกว่าเป้าหมายปกติมาก

นอกจากนั้น Marks เองยังได้บอกว่า หลังจากกองทุนมาลงทุน ซัพพลายเออร์และลูกค้าเริ่มจะรู้จักเขามากขึ้น คู่แข่งเริ่มที่จะกลัวเขามากขึ้น

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ชอบมุมมองของ Masayoshi ว่าเป็นคนที่มุมมองกว้างไกล ทำให้เจ้าของบริษัทเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น

ผสานเทคโนโลยีบริษัทเหล่านี้เข้าด้วยกัน

ความแตกต่างระหว่าง Venture Capital ทั่วไป กับกองทุนอย่าง Vision Fund สิ่งที่แตกต่างระหว่างเม็ดเงินแล้วยังมีอีกเรื่องคือ มุมมองในการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าด้วยกันระหว่างบริษัทที่ลงทุน ปกติแล้ว Venture Capital ทั่วๆ ไปมักจะลงทุนแล้วก็รอบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือไม่ก็ให้คำปรึกษาทั่วๆ ไป

Dave Grannan เจ้าของสตาร์ทอัพที่เน้นในเรื่องเซ็นเซอร์กล้องและเลนส์ อย่าง Lights ซึ่งกองทุนได้ลงทุน กล่าวว่า Son เองสามารถนำเทคโนโลยีของบริษัทที่ลงทุนไปใช้กับบริษัทอื่นๆ ที่กองทุนลงทุน เช่น การนำเลนส์และเซ็นเซอร์ของ Lights นำไปใช้กับบริษัทอื่นๆ เช่น Uber หรือแม้แต่ Didi ซึ่งกำลังพัฒนาเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ

Eugene Izhikevich เจ้าของ Brain บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์และ AI ได้กล่าวว่า ไม่มีใครที่คิดได้เหมือน Son แน่นอน ในการนำเทคโนโลยีในพอร์ตการลงทุนมาผสานข้ามบริษัทกันเช่นนี้

WeWork อีกสตาร์ทอัพที่ SoftBank Vision Fund ลงทุน

Son คุยกับ CEO บริษัทที่ลงทุนเรื่อยๆ ตลอด

Son เองจะเปิดบ้านที่ California เชิญ CEO หรือไม่ก็ทีมงาน Vision Fund ไปรับประทานอาหารเย็นด้วยกันบ่อยๆ เขาเองได้ซื้อบ้านหลังนี้มูลค่ากว่า 117 ล้านเหรียญสหรัฐ และกว่าจะได้เข้าบ้านต้องตรวจสอบความปลอดภัยถึงสองรอบ รวมไปถึงต้องถอดรองเท้าแล้วใส่รองเท้าแตะเหมือนชาวญี่ปุ่น แต่ Son เองก็ได้ให้ประสบการในการร่วมทานอาหารเย็นแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม โดย Mohit Aron เจ้าของ Cohesity ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่กองทุนลงทุนไว้ เปรียบเทียบได้ว่า “เขาเองรู้สึกเหมือนเป็นชนชั้นสูง”

ในแต่ละไตรมาสเขาเองจะเชิญรับประทานอาหารเย็นกับ CEO ของบริษัทต่างๆ ที่กองทุนได้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อสอบถามว่าบริษัทที่ลงทุนตอนนี้เป็นยังไงบ้าง นอกจากนั้นยังเหมือนกับการทานข้าวเย็นที่ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกันในการแก้ปัญหาอีกด้วย ถ้าหากใครสักคนประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ