ประเด็นดราม่า WeWork ส่งผลสะเทือนถึงการลงทุนของ SoftBank ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WeWork (ถือหุ้นประมาณ 29% ผ่านกองทุน Vision Fund)
เมื่อบวกกับการขายหุ้น IPO ของ Uber ที่ไม่ปังดังที่คาด ทำให้กองทุน SoftBank Vision Fund ถูกวิจารณ์อย่างหนัก และในที่สุด Masayoshi Son ซีอีโอของ SoftBank ก็ออกมาเปิดปากพูด แสดงความเห็นต่อการตัดสินใจลงทุนของเขาเองแล้ว
Son อธิบายว่ายุทธศาสตร์ของเขาคือการสร้าง “คลัสเตอร์” ของผู้ประกอบการสตาร์ตอัพด้าน AI ผ่านกองทุน Vision Fund แทนการขยายธุรกิจของตัวบริษัท SoftBank เอง เขามองว่า AI เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะมาเปลี่ยนโลก จึงรีบสร้างเครือข่ายของผู้นำธุรกิจด้านนี้เตรียมไว้สู่อนาคต
แนวทางการลงทุนของเขาคือเลือกลงทุนในบริษัทแนวใหม่ ที่ไม่ใช่บริษัทในธุรกิจดั้งเดิม (conventional companies) และแม้ว่าคนจะวิจารณ์การลงทุนของเขาใน Uber หรือ WeWork แต่เขาเชื่อมั่นว่าบริษัทเหล่านี้จะสร้างผลกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำในอนาคตระยะ 10 ปีข้างหน้า
เขายังบอกด้วยว่าความผิดพลาดของบริษัทเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความผิดพลาดของเขาในอดีตที่ลงทุนทำธุรกิจบรอดแบนด์ในญี่ปุ่นใต้แบรนด์ Yahoo BB ช่วงก่อนฟองสบู่ดอทคอมแตก และสูญเงินไปถึง 1 แสนล้านเยน ทำเอาตัวเขาเกือบล้มละลาย
สิ่งที่เขากลัวกลับเป็นการพลาดโอกาสลงทุนในบริษัทที่จะยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่ง Son เล่าว่าเขาเคยมีโอกาสลงทุนใน Amazon ช่วงแรกๆ แต่ช่วงนั้นเพิ่งเจ๊งกับ Yahoo BB มาเลยไม่มีเงิน และเสียดายโอกาสมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเคยมีโอกาสลงทุนใน Baidu, Facebook, Google, eBay ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาพลาดโอกาสทั้งหมด
Son เล่าว่าความสำเร็จของเขาในยุคอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับบริษัทอย่าง Google, Amazon, Apple, Facebook และในยุค AI เอง เขาก็ต้องแข่งกับยักษ์ใหญ่ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจากจีน ซึ่งบริษัทจากญี่ปุ่นอย่าง SoftBank มาเพียงลำพัง ก็ต้องสร้างคลัสเตอร์เพื่อสนับสนุนกันและกันให้มีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันได้
Son ยังเล่าว่าในอดีต SoftBank ลงทุนกับ Alibaba และประสบความสำเร็จอย่างสูง เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ SoftBank เลือกที่จะถือครองหุ้นเสียงข้างน้อย (ไม่ถึง 51%) เพื่อให้ Jack Ma และทีมงานเป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจสูงสุด ถ้าหาก SoftBank กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การตัดสินใจจะไปอยู่ที่ SoftBank แทน และน่าจะมีปัญหากับรัฐบาลจีนด้วยในอนาคต ดังนั้นเขาบอกว่าควรรู้ “ลิมิต” ของตัวเองว่าควรหยุดอยู่ที่ตรงไหน
ที่มา – Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา