Masayoshi Son: นักธุรกิจญี่ปุ่นยุคนี้ สูญเสียสปิริตของการต่อสู้ไปหมดแล้ว

ถ้าพูดถึงซีอีโอสัญชาติญี่ปุ่นที่โดดเด่นในเวทีโลก ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครโดดเด่นไปกว่า Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ SoftBank ผู้ที่กล้าฝันใหญ่ ตั้งกองทุน SoftBank Vision Fund ขนาด 1 แสนล้านดอลลาร์ ระดมเงินเพื่อไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก

ถึงแม้การลงทุนของ SoftBank Vision Fund อาจมีสะดุดอยู่บ้าง หลังหุ้นใน Uber และ WeWork ไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาด แต่ Masayoshi ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ แสดงความเห็นว่าเขายังมั่นใจในทิศทางของทั้งสองบริษัท ว่าจะประสบความสำเร็จในระยะยาว

ในบทสัมภาษณ์ของ Masayoshi ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ เขาวิจารณ์นักธุรกิจญี่ปุ่นในยุคนี้ ว่าสูญเสียสปิริตของการต่อสู้ของบริษัทญี่ปุ่นในอดีตไปเกือบหมดแล้ว

Masayoshi บอกว่าจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นจุดเด่นของธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลก ตอนนี้เริ่มมีกระแสความคิดว่า ญี่ปุ่นควรเป็นเกาะเล็กๆ ที่สงบสุขและสวยงาม แต่เขาบอกว่าถ้าภาคธุรกิจญี่ปุ่นคิดแบบนั้นคือหายนะ ญี่ปุ่นจะกลับไปสนใจแต่ตัวเอง เหมือนกับช่วงปิดประเทศไม่คบค้ากับใครในยุคเอโดะ

เขาบอกว่าโลกภายนอกญี่ปุ่นหมุนไปเร็วมาก สหรัฐอเมริกาพัฒนาเทคโนโลยีไปไกล จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก และตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นรุ่นใหม่กลับไม่มีใครสนใจขยายกิจการไปต่างประเทศ จำนวนนักเรียนญี่ปุ่นที่ไปเรียนต่อต่างประเทศก็ลดลง เขาเปรียบเทียบนักธุรกิจญี่ปุ่นว่าเหมือน “สัตว์กินพืช” ไม่ใช่นักล่าอีกต่อไป

ญี่ปุ่นในยุค 80s-90s ถือเป็นผู้นำวงการอิเล็กทรอนิกส์ของโลก แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นสูญเสียโมเมนตัมนั้นไปแล้ว ญี่ปุ่นเหลือความเป็นผู้นำโลกเพียงไม่กี่ด้าน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือรถยนต์เท่านั้น ส่วนญี่ปุ่นในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีนั้นตายไปหมดแล้ว ในขณะที่จีนซึ่งในอดีตถูกมองว่าเป็นผู้ก็อปเทคโนโลยีตะวันตก-ญี่ปุ่น กลับกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่และแซงหน้าญี่ปุ่นไปไกลมากแล้ว

Masayoshi อธิบายว่าในอดีต คนญี่ปุ่นทำงานหนักมากเกินไปจนถูกวิจารณ์ในเรื่องนี้ ทำให้กระแสสังคมมองว่า “เราไม่ควรทำงาน” บวกกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองหลังฟองสบู่แตก ก็ทำให้สังคมมองว่าการลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือการเป็นหนี้ กลายเป็นสิ่งเลวร้าย ทำให้อุตสาหกรรมหลายแขนงที่ต้องใช้เงินลงทุนมากๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ กลายเป็นชะลอการเติบโตไปด้วย

เขามองว่าภาพรวมของสังคมญี่ปุ่นเริ่มเหน็ดเหนื่อยกับการแข่งขัน กลายเป็นว่าอาชีพยอดนิยมของคนญี่ปุ่นยุคนี้คือการเป็นข้าราชการ และเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงๆ อีกต่อไป ตัวธุรกิจเองก็จะไม่เติบโตไปด้วยในภาพรวม

ที่มา – Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา