เส้นทางของ Mary Barra ซีอีโอหญิงคนปัจจุบันของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ค่าย General Motors จากเด็กฝึกงานในวันนั้น มาสู่ซีอีโอหญิงคนแรกของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ในวันนี้ วงการที่ผู้ชายครอบงำมาเป็นเวลานาน แน่นอนว่าเธอมาพร้อมความเปลี่ยนแปลง
ซีอีโอหญิงคนแรกของค่าย GM และของประวัติศาสตร์รถยนต์โลก
ถ้าอยู่นอกวงการรถยนต์ ชื่อของ Mary Barra (แมรี่ บาร์ร่า) อาจไม่คุ้นหู และฟังดูไม่น่าสนใจ
แต่ถ้าบอกว่า เธอคือซีอีโอหญิงคนแรกของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง GM (General Motors) และถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์บริษัทรถยนต์โลก มากไปกว่านั้น เธอคือบุคคลที่นิตยสาร Fortune จัดอันดับให้เป็น นักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2017 และว่ากันว่าเธอผู้นี้ คือคนที่อาจจะมาโค่น Elon Musk (อีลอน มัสก์) เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้าแห่ง Tesla และดาวเด่นแห่งวงการธุรกิจไอทีที่มีสาวกอยู่ทั่วโลก
มาถึงบรรทัดนี้ ถ้าชื่อของเธอเริ่มน่าสนใจ ก็เชิญทำความรู้จักกันต่อได้เลยในบทความนี้
เปิดเส้นทางของ Mary Barra จาก เด็กฝึกงาน สู่ ซีอีโอ
Mary Barra เกิดวันที่ 24 ธันวาคม ปี 1961 (อายุ 56 ปี) พ่อแม่ของเธอเป็นชาวฟินแลนด์ แต่เธอเกิดในรัฐมิชิแกน ตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ฐานที่ตั้งของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่เธอกำลังจะมาเป็นเด็กฝึกงาน และขึ้นเป็นซีอีโอในภายหลัง
จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการรถยนต์ของเธอ เริ่มต้นจากสมัยที่เธอเรียนจบจากโรงเรียนมัธยม Waterford Mott High School หลังจากนั้นได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาของ GM ชื่อ General Motors Institute ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัย Kettering University โดยคณะที่เธอจบออกมาคือ คณะวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (หรือบางคนเรียกว่า วิศวกรรมไฟฟ้า) เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่เธอชอบมากที่สุดในชีวิตคือ “คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์”
แต่ความสนใจของเธอไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ เพราะมีที่มาที่ไป ชีวิตของเธอผูกพันกับรถยนต์มาตั้งแต่เกิด พ่อของเธอ Ray Mäkelä ทำงานที่บริษัทรถยนต์ Pontiac ในเครือ GM มานานถึง 39 ปี และเมื่อเธออายุได้ 18 ปี การเรียนที่สถาบันของ GM เธอก็ได้เป็นนักศึกษาฝึกงานของฝ่าย Pontiac (ฝ่ายเดียวกับที่พ่อเธอทำงาน) หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอได้รับทุนจาก GM ในปี 1988 ให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เธอใช้เวลา 2 ปีจึงสำเร็จการศึกษาในปี 1990
หลังจากนั้น เธอกลับมาทำงานที่ GM เต็มตัว และเธอก็ไต่ระดับการทำงานมาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากทำงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล มาทำฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายปฏิบัติการ ไปจนถึงฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดซื้อ และจัดการชิ้นส่วนการผลิต เรียกได้ว่า เธอลองมาหมดเกือบทุกงานในบริษัทแล้ว เพราะเคยคุมทั้งคน คุมทั้งงบประมาณ คุมทั้งการออกแบบรถยนต์
ครั้งหนึ่งเธอให้สัมภาษณ์ไว้สมัยที่ดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะขึ้นเป็นซีอีโอว่า “ฉันกำลังทำงานที่ดีที่สุดในบริษัทอยู่ เพราะว่าทุกวันนี้จะได้เห็นรถยนต์คันใหม่ส่งออกไปขายทั่วโลก ฉันกำลังทำหน้าที่ส่งนวัตกรรมไปสู่ชีวิตผู้คน”
ในปี 2011 ระหว่างที่เธอเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ GM ทั่วโลก เธอสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บริษัทด้วยยอดขายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าประทับใจ
หลังจากวิกฤติปี 2009 ที่ GM ประสบปัญหาอย่างหนักจนรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากนั้น 2 ปี เธอมีส่วนช่วยดันยอดขายรถยนต์ของ GM ให้พุ่งสูงขึ้นถึง 9 ล้านคันทั่วโลก แย่งชิงเบอร์ 1 ของตลาดกลับมาได้อีกครั้ง โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการร่วมทุนกับบริษัทจีน และนำรถยนต์เข้าไปขายในจีนจนประสบความสำเร็จ
- ปี 2014 เธอขึ้นเป็นซีอีโอของ GM ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัท ไม่ใช่แค่ว่าเพราะเธอเป็นผู้หญิง แต่ประเด็นคือ ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ผู้บริหารทุกคนของบริษัทมีพื้นหลังมาจากฝั่งการเงิน (Finance) ทั้งหมด ไม่มีสักคนที่มีพื้นหลังมาจากฝั่งงานวิศวะแม้แต่คนเดียว และแน่นอน-เธอคือคนแรก
- ภายใต้การนำของเธอ GM ได้เข้าซื้อ Cruise บริษัทสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีที่ทำซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับ ได้มีการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับรุ่น Bolts (ภายใต้แบรนด์ Chevrolet ของ GM) อย่างจริงจัง พร้อมทั้งลุยดีลธุรกิจรถยนต์ไร้คนขับกับบริการแอพเรียกรถอย่าง Uber และ Lyft ด้วย (เพราะต่อไปถ้ารถไร้คนขับ 100% ก็ต่อยอดไปเป็นบริการแชร์รถยนต์กันใช้เสียเลย นี่คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ของเธอ)
- ภายใต้การนำของเธอ ในปี 2016 หุ้นของ GM ทั้งปีขึ้นมา 25% ส่วนรายได้เพิ่มขึ้น 9% เป็นปีที่เติบโตที่สุดหลังวิกฤติใหญ่
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารหญิงของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ที่ถูกผู้ชายครอบงำมานาน ย่อมถูกท้าทายเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยความสามารถ ความเป็นผู้นำ และความโดดเด่นในระดับซุปเปอร์สตาร์ของบริษัท ทำให้ไม่มีข้อกังขาใดๆ Mohammed Torfeh ศาสตราจารย์ที่เคยสอนเธอสมัยปริญญาตรีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เธอเป็นคนที่ฉลาดและมีความเป็นผู้นำสูง สมัยเรียนเธอทำหน้าที่นำผู้ชายเป็นกลุ่มๆ เธอมีทั้งความรู้ความสามารถและการสื่อสารที่เป็นเลิศ”
หลังการขึ้นมาเป็นซีอีโอของ GM นักวิเคราะห์หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เธอขึ้นมาเป็นผู้บริหารของ GM ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง mindset ครั้งใหญ่ของบริษัท และสิ่งนี้เองจะนำ GM ไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ชัดเจนว่า GM มองเห็น “ของ” ในตัวเธอ โดยเฉพาะการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่บริษัท ท่ามกลางสมรภูมิที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ กลยุทธ์ของ GM จึงเป็นการส่งหัวเรือที่แตกต่างไปจากเดิม
ศึกรถยนต์ไฟฟ้า-ไร้คนขับ กับโจทย์ใหญ่ เทคโนโลยี VS การผลิต
คำโปรยที่ว่า “เธอคือผู้ที่อาจมาโค่น Elon Musk แห่ง Tesla” ซีอีโอหนุ่มไฟแรงแห่ง Silicon Valley ลองมาดูกันว่าจะจริงหรือเปล่า?
Tesla
ลองดูที่ Tesla กันก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2017 Elon Musk ได้ส่งมอบ Tesla Model 3 ที่หลายคนบอกว่านี่คืออนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะราคาเข้าถึงได้ โดยได้ส่งมอบรถรุ่นนี้จำนวน 30 คันให้กับลูกค้าชุดแรก แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นจะพบว่า เมื่อ Tesla ประกาศให้จองรถยนต์รุ่น Model 3 ในปี 2016 พบว่ามียอดจองถล่มทลายภายใน 3 วันสูงกว่า 250,000 คัน และไปปิดตัวเลขสุทธิที่ประมาณ 455,000 คัน หลังจากนั้นมีข่าวออกมาว่า Tesla ผลิตไม่ทัน เพราะมีปัญหาคอขวดในการผลิต ทำให้ในไตรมาส 3 ปี 2017 ผลิตได้เพียง 260 คันเท่านั้น หรือคิดแบบเฉลี่ยคือผลิตได้เพียงวันละ 3 คันเท่านั้น แต่ Tesla ย้ำว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะทราบถึงสาเหตุแล้ว
- ทางออกคือ Tesla จะปรับลดการผลิตลงจากเดิม ที่เคยบอกไว้ว่าจะผลิต Model 3 สัปดาห์ละ 10,000 คัน จะให้เหลือเพียง 5,000 คันต่อสัปดาห์เท่านั้นนับตั้งแต่ต้นปี 2018
อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model S และ Model X ไม่มีปัญหาในการผลิต เพราะราคาสูง ตลาดส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง แต่ปัญหาของ Tesla คือการเผาเงินสดไปกับการออกรถบรรทุกไฟฟ้าและรถสปอร์ต ด้านนักวิเคราะห์มองว่า Tesla กำลังเดินผิดทางอยู่ เพราะธุรกิจรถยนต์ของ Tesla ผูกกับรุ่น Model 3 ไม่ว่าจะในความหมายทางด้านการเงิน หรือประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ควรเร่งกระจายปริมาณให้เกิดขึ้นจริงในสเกลที่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ หรือพูดง่ายๆ คือ Tesla ควรกลับไปจริงจังกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 เพื่อขยายไปสู่ตลาดในวงกว้าง
Waymo
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองในวงการรถยนต์ไฟฟ้า-ไร้คนขับคือ Waymo ที่อยู่ในเครือของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google เรื่องเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน เพราะล่าสุดได้นำเอารถยนต์ไร้คนขับของตนเองมาทดสอบวิ่งบนถนนโดยไม่ต้องมีคนนั่งอยู่หลังพวงมาลัย
แต่ปัญหาใหญ่ของบริษัทสายเทคโนโลยีคือ เรื่องการผลิต ในแง่นี้ Waymo อาจดูไม่ต่างจาก Tesla คือเก่งซอฟต์แวร์แต่ไม่เก่งผลิต ทางออกจึงเป็นการร่วมมือกับบริษัทที่มีกำลังการผลิต ลองอ่านบทวิเคราะห์ Waymo กับการดำเนินธุรกิจรถไร้คนขับ
GM
ส่วนทางด้าน GM ภายใต้การนำของ Mary Barra ซีอีโอหญิงแกร่งที่มาพร้อมกับสโลแกนที่ว่า GM จะเป็นบริษัทรถยนต์ที่ทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์เพื่อรักษาชีวิต มลพิษเป็นศูนย์เพื่อสุขภาวะของทุกคนบนโลก และการจราจรที่ไม่ติดขัดเพื่อทำให้ทุกคนมีเวลาที่ดีเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนทางที่จะไปให้ถึงคือการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ และบริการเช่ารถยนต์
ตั้งเป้าหมายไว้แบบนี้ ลำพัง GM มีแต่การผลิตที่แข็งแกร่งก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทำให้ในปี 2016 GM เข้าซื้อกิจการของ Cruise Automation สตาร์ทอัพบริษัทผลิตชุดคิทและเซ็นเซอร์ที่ทำให้รถยนต์ธรรมดากลายเป็นรถยนต์ไร้คนขับ และล่าสุดเดือนกันยายนปี 2017 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศว่าจากการร่วมมือกันครั้งนี้พร้อมที่จะส่งรถยนต์ไร้คนขับลงสู่ตลาดแล้ว
ล่าสุด GM ออกโมเดลรถยนต์ไร้คนขับเลเวลสูงสุด-ไร้พวงมาลัย มาขู่แล้ว
ต้นปี 2018 GM ปล่อยภาพโมเดลรถยนต์ไร้คนขับเลเวล 5 ออกมา จากภาพจะเห็นได้ว่าไม่มีพวงมาลัย เหมือนนั่งในยานอวกาศ (ที่จริงคือตามรอย Google ที่ทำมาก่อนตั้งแต่ปี 2014 แล้ว) ในขณะที่รถยนต์ไร้คนขับของดาวเด่นอย่าง Tesla สูงสุดยังอยู่ที่เลเวล 2 คือ ยังต้องเป็นรถยนต์ที่กึ่งๆ ระหว่างไร้คนขับกับขับเอง หรือพูดให้เห็นภาพคือ ยังต้องมีพวงมาลัยอยู่นั่นเอง
Business Insider เคยเขียนบทความปรามาสไว้ถึงขนาดที่ว่า GM สามารถเตะ Tesla ออกจากธุรกิจได้เลยในวันพรุ่งนี้ ถ้าต้องการ เพราะด้วยความทะเยอทะยานอันแรงกล้าของ Tesla ที่ส่งรถออกมาหลายแบบ หลายรุ่น หลายชนิด ทั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถสปอร์ต รถเอสยูวี แต่ดันมีโรงงานผลิตแค่ที่เดียว ในขณะที่ GM ยักษ์ใหญ่มีโรงงานผลิตอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
- GM ภายใต้การนำของ Mary Barra จึงน่าจับตามองขึ้นทุกวัน เพราะกำลังการผลิตและทรัพยากรไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากมีพร้อมอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาเทคโนโลยีมาเติมเต็ม ซึ่ง GM ได้ซื้อสตาร์ทอัพรถยนต์ไร้คนขับมาแล้ว
สรุปก็คือ การต่อสู้ของวงการรถยนต์ต่อจากนี้ไป โดยเฉพาะรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous car) คือการแข่งขันกันระหว่าง บริษัทสายฮาร์ดแวร์ที่ชำนาญการผลิต แต่ไม่เก่งด้านซอฟต์แวร์ กับ บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ แต่ไม่มีปัญญาผลิต
ศึกครั้งนี้ ใครมีศักยภาพปิดช่องโหว่เรื่องฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้ก่อน
คนนั้นก็ชนะ
อ้างอิงข้อมูล – Fortune, Fast Company [1] [2] [3], Business Insider [1] [2], NBC, GM [1] [2], BBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา