เปิดสถิติสมรส-หย่าร้างช่วงโควิดลดลง ไม่ใช่ชีวิตคู่ไม่มีปัญหา แต่เลือกทนอยู่กันไปก่อน

เปิดสถิติการสมรส และหย่าร้าง ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทั้งไทย และต่างประเทศ พบว่า ทั้งการสมรส และหย่าร้างมีอัตราที่ลดลง โดยมีโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนเลื่อนการแต่งงาน หรือทนอยู่กันไปก่อน

ภาพจาก Shutterstock

การสมรส และการหย่าร้างนับว่าเป็นความปกติของชีวิตคู่ แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลไม่ใช่แค่การสมรสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหย่าร้างด้วยเช่นกัน

สถิติการสมรส-หย่าร้างช่วงโควิดของคนไทยลดลง

Bangkok Matching บริษัทจัดหาคู่ ได้ติดตามสถานการณ์การหาคู่ การสมรส และการหย่าร้าง ทั้งภายในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยพบว่า ในประเทศไทยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เมื่อปี 2563 จากสถิติของกรมการปกครอง พบว่า อัตราการสมรสลดลงมากถึง 17% ส่วนการหย่าร้างก็ลดลง 6% แต่หากแยกเป็นพื้นที่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบว่าการสมรสมีอัตราที่ลดลง 22% ส่วนการหย่าร้างลดลง 10%

ชีวิตคู่มีปัญหา แต่ยังต้องทนไปก่อน ยังไม่พร้อมหย่า

Bangkok Matching ได้ทำการวิเคราะห์สถิติอัตราการหย่าร้าง ในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่า การที่สถิติการหย่าร้างลดลงในช่วงโควิด-19 ระบาด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหาในชีวิตคู่ แต่เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน ที่หากหย่าร้างก็ต้องมีการหาที่อยู่อาศัยใหม่

คู่รักจึงอาจจำเป็นที่จะต้องเลือกที่จะทนอยู่กันไปก่อน เพราะยังไม่พร้อมแยกบ้าน ไม่พร้อมที่จะทำการหย่าร้างในตอนนี้ ส่วนอัตราการสมรสที่ลดลง เป็นเพราะการเลื่อนกำหนดการสมรสออกไปชั่วคราว หรือยกเลิกการสมรสอย่างถาวร

สถานการณ์ในประเทศไทย สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เว็บไซต์ Bloomberg รายงานว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ อัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ช่วงเวลาปลายปีอัตราการหย่าร้าง และการสมรสก็ลดลง

สถาบันวิจัยด้านประชากรและครอบครัว Bowling Green State University’s Center ทำการสำรวจ และพบว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการหาที่พักอาศัยใหม่ ทำให้คู่รักเลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน และ ยอดคู่แต่งงานที่ลดลง เป็นเพราะการเลื่อนกำหนดการสมรสออกไปก่อน

จีน อังกฤษ สวีเดน สถิติหย่าร้างพุ่งสูง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การสมรส และหย่าร้าง ไม่ได้ลดลงในทุกๆ ประเทศ เหมือนในสหรัฐอเมริกา และไทยเท่านั้น เพราะที่ประเทศจีน อังกฤษ และสวีเดน พบว่า สถานการณ์โควิด-19 และการล็อคดาวน์ ทำให้คู่รักต้องใช้ชีวิตด้วยกันตลอดเวลา รวมถึงสภาพทางการเงิน ทำให้อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น

ในประเทศอังกฤษ สำนักงานทนายความด้านการหย่าร้าง มีผู้เข้ามาติดต่อสอบถามขั้นตอนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 122% ในเดือนกรกฎาคม และตุลาคม 2563

ส่วนในประเทศออสเตรเลียอัตราการสมรส ลดลง 30% ในขณะที่การหย่าร้างเพิ่มขึ้น จากความนิยมในการค้นหาคำว่า หย่าร้าง บนเว็บไซต์ Google เพิ่มขึ้นมาก

ส่วนในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในครอบครัว อย่างประเทศเกาหลีใต้ และฮ่องกง พบว่าในช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์ มีการร้องเรียนการใช้กำลังภายในบ้านของสามีและภรรยาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่มีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นเท่าตัวในเดือนเมษายน 2563

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา