หุ่นยนต์แย่งงานแล้วไง! หันไปปลูกกัญชาก็ได้ เพราะกำลังจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในไม่ช้านี้

รู้ทั้งรู้ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานของคน แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะมีรายงานจากบริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการเงินวิเคราะห์ว่า ในอีก 3 ปีหลังจากนี้ อุตสาหกรรมกัญชาจะกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เกิดการจ้างงานเกือบ 300,000 อัตรา และจะสร้างเงินได้มากถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาทในปี 2025

source : pixabay

ตกงาน หุ่นยนต์แย่ง ปัญหาใหญ่ที่ใกล้เข้ามา

อย่างที่รู้กันอยู่ว่าในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์อย่างแน่นอน และถึงแม้จะไม่ใช่ในทุกสายงาน แต่ต้องยอมรับว่าทำให้คนตกงานกันไม่น้อย ดูได้จากหลายอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เริ่มแสดงท่าทีชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์ AI เริ่มได้รับการพัฒนาให้ใช้ทักษะความรู้และวิจารณญาณได้แล้ว เริ่มแล้วที่ญี่ปุ่น “คนตกงาน” เพราะหุ่นยนต์ AI

จากสถิติของ The Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐอเมริการะบุว่าปี 2024 คนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการจะตกงานถึง 814,000 อัตรา เช่น บริการไปรษณีย์ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

source : U.S. Bureau of Labor Statistics (BLS)

หรือเราควรจะไปปลูกกัญชากันดี?

ดูเหมือนว่าปี 2016 จะเป็นปีทองของสายเขียวในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าปีที่ผ่านมามีถึง 8 มลรัฐที่โหวตให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายผ่านเป็นผลสำเร็จ ทำให้ในขณะนี้สหรัฐอเมริกามีทั้งหมด 28 มลรัฐด้วยกันที่สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่มลรัฐส่วนใหญ่ที่ผ่านกฎหมายยังจำกัดให้ใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในทางการแพทย์ ส่วนมลรัฐที่ประชาชนสามารถใช้กัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อความเพลิดเพลินใจ อย่างเช่น แคลิฟอร์เนีย โคโรลาโด วอชิงตัน โอเรกอน อลาสก้า เป็นต้น

source : NCSL

New Frontier Data บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการเงินคาดว่าปี 2020 ในสหรัฐอเมริกาน่าจะผ่านการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายในทางการแพทย์และอนุญาตให้ผู้ใหญ่สามารถใช้ได้ในทุกๆ มลรัฐ ดังนั้นจึงทำให้อุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐอเมริกาหลังปี 2020 จะเติบโตเป็นอย่างมาก

Giadha Aguirre De Carcer ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ New Frontier Data บอกว่า “การสร้างงานในตลาดอย่างมีศักยภาพจะมีความเป็นไปได้สูง หากทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายอย่างเสรีและเปิดเผย”

โดยในเดือนมกราคมปี 2017 ที่ผ่านมานี้ ธุรกิจกัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 – 150,000 อัตรา โดยมีทั้งคนปลูกกัญชา นักวิทยาศาสตร์ พนักงานขาย รวมถึงผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาบริการเสริมต่างๆ เช่น Yelp of weed หรือ Uber for pot ที่เป็นการสั่งกัญชาผ่านระบบอินเตอร์เน็ทและส่งตรงถึงหน้าบ้านแบบเดลิเวอรี่

source : Uriel Sinai/Getty

นอกจากนั้น มีหลักฐานว่ากัญชาจะกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในไม่ช้านี้ โดยสถิติของ The Marijuana Policy Group ระบุว่า ในมลรัฐโคโรลาโดที่กัญชาถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2012 อุตสาหกรรมกัญชาในโคโรลาโดทำให้คนมีงานทำมากกว่า 18,000 อัตรา หรือในมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่หากทำให้กลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมด้านกัญชาได้จริง ก็จะสามารถสร้างงานได้อีกราวๆ 20,000 อัตรา และที่สำคัญยังคาดว่าในปี 2025 อุตสาหกรรมกัญชาจะยิ่งใหญ่มากโดยมีมูลค่าในตลาดสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท

แล้วกัญชาในไทย เป็นอย่างไรบ้าง?

ประเด็นเรื่องกัญชาในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีความพยายามผลักดันมาเป็นระยะ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นกัญชาถูกกฎหมาย เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตเพียง “กัญชง” เท่านั้นซึ่งเป็นพืชคู่แฝดของกัญชาที่มีสารทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มน้อยกว่ากัญชา 1 % โดยล่าสุด ป.ป.ส. หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดระบุว่า ครม. มีความเห็นชอบที่จะผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยจะเอามาทอเส้นใยผ้าใช้ในครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนเรื่องการปลูกกัญชงก็ต้องอยู่ในความดูแลของภาครัฐอย่างเข้มงวด

source : pixabay

สรุป

ดูจากแนวโน้มการผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายของสหรัฐอเมริกาน่าจะทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ กัญชาน่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญคือเกิดการจ้างงานคนจริงๆ เพราะแม้หุ่นยนต์อาจเข้ามาแทนที่ในบางขั้นตอนได้ แต่ความต้องการในการบริโภคกัญชายังคงเป็นของมนุษย์อย่างเราๆ แต่ถึงที่สุดแล้ว จะปลูก จะขาย หรือจะทำกันอย่างไร ต้องอย่าลืมศึกษาข้อจำกัดด้านกฎหมายให้เป็นอย่างดี

สำหรับสังคมไทย การเปิดรับให้กัญชงมาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของภาครัฐอาจถือเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจ แต่มากกว่านั้นต้องเรียนรู้ว่า ถ้าจะไปถึงจุดที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย การถกเถียงเพียงเรื่องศีลธรรมอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องขยายขอบเขตไปถึงเรื่องทางการแพทย์และเศรษฐกิจด้วย

ที่มา – Business InsiderTIMENew Frontier DataU.S. Bureau of Labor Statistics (BLS)กัญชาชนไทยรัฐ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา