ความหวังคนไทยบัตรแมงมุมใบเดียวใช้จ่ายได้ทุกอย่างภายในปี 2564-2565 ได้ไหม?

กลางปี 2561 ภาครัฐเปิดตัว “บัตรแมงมุม” ที่จะเป็น ตั๋วร่วม หวังให้คนไทยถือบัตรใบเดียวสามารถใช้จ่ายรถไฟฟ้า รถเมล์ และซื้อสินค้าได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันยังใช้ได้แค่รถไฟฟ้า MRT AirportRailLink แต่ใช้ BTS ไม่ได้ ทั้ง 100% แล้วเมื่อไรบัตรร่วมจะเกิดขึ้นจริง?

ตอนนี้เรื่องตั๋วร่วม บัตรแมงมุมไปถึงไหนแล้ว?

ในไทยมีระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบทั้งรถประจำทาง (รถเมล์) รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน-สายสีม่วง รถไฟฟ้า BTS (สายสีเขียว) รถไฟ เรือด่วนคลองแสนแสบ เรือแม่น้ำเจ้าพระยา รถทัวร์ ฯลฯ

เลยเป็นที่มาให้กระทรวงคมนาคมออกระบบ “ตั๋วร่วม” หรือบัตรแมงมุมขึ้น โดยมีคอนเซ็ปต์ใหญ่คือการใช้บัตรใบเดียวใช้จ่ายในระบบการเดินทางได้สะดวก ตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ไปจนถึงจ่ายค่าทางด่วนต่างๆ และในเฟสถัดไปต้องรวมไปถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเหมือนเทรนด์โลกที่กำลังเป็นไป

แต่ปัจจุบันบัตรแมงมุมสามารถใช้ได้ในรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง AirportrailLink รถเมล์บางส่วน (ทดลอง 2,600 คัน) ทว่าประชาชนทั่วไปยังใช้กับรถไฟฟ้า BTS ไม่ได้ สาเหตุที่ BTS ไม่เข้าร่วมอาจเพราะเป็นเรื่องต้นทุนในการพัฒนาเครื่องรับบัตร การปรับระบบต่างๆ ขณะเดียวกัน BTS ลงทุนสร้างบัตร Rabbit กับพันธมิตรมากมาย ถ้าบัตรแมงมุมเริ่มใช้จริงรายได้จากบัตร Rabbit อาจลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตามตอนนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้เกมส์ BTS ไม่เข้าร่วมด้วยการเตรียมอัพเกรดบัตรแมงมุมให้เป็นระบบ EMV (Euro Mastercard Visa) คือใช้ระบบเดียวกับบัตรเครดิตและเดบิต ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยมีความหวังที่จะใช้บัตรใบเดียวเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายขึ้น ใช้บัตรใบเดียวจ่ายเงินได้เลย และอาจจะรวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อจ่ายค่าเดินทางต่างๆ

*ปัจจุบันบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชั่น 4.0 ระบุว่ามีวงเงินสำหรับใช้บน BTS ได้

TDRI หวังตั๋วร่วมเกิดขึ้นจริงในไทยปี 2564-2565

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า แม้ปีที่แล้วภาครัฐจะออกบัตรแมงมุม หรือตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายค่าโดยสารขนส่งสาธารณะได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันบัตรนี้ยังใช้กับขนส่งไม่หลากหลายตามที่รัฐคาดการณ์ไว้

โดยต้องจับตามองในปี 2564-2565 ว่าตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะเป็นปีที่รถไฟฟ้าสายสีขมพูและสายสีเหลืองเปิดใช้งาน โดยรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายนำ้เงิน ดังนั้นทางรฟม.น่าจะมีเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานว่าต้องมีระบบใช้ตั๋วร่วมกัน รวมถึงไม่คิดค่าตั้งต้นเพิ่มเมื่อประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 2 สายขึ้นไป

“แม้รฟม.จะให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูกับ BTS แต่เพราะมีสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายปัจจุบันทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ระบบตั๋วต้องเป็นระบบเดียวกัน และมีเงื่อนไขว่าถ้าประชาชนเดินทางจากสายสีชมพูหรือสายสีเหลือง แล้วต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต้องใช้ตั๋วใบเดียวกัน และเสียค่าตั้งต้นหรือค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เมื่อเปลี่ยนขบวนไปที่รถไฟฟ้าอีกสายก็ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่ม”

ทั้งนี้ภายใน 2-3 ปีน่าจะเห็นความชัดเจนว่ารถไฟฟ้าจะมีเงื่อนไขอย่างไร  เมื่อต้องใช้ระบบตั๋วร่วมกันผู้ประกอบการต้องคำนวนต้นทุนหัวอ่าน ระบบบริหาร ระบบความเสี่ยงในจุดต่างๆ เพิ่มเติม และต้องหวังว่ารฟม.จะไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องถือบัตร 2 ใบเพื่อใช้เดินทางในรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง ซึ่งเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง

อย่างไรก็ตามในระยะใกล้นี้แม้จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เปิดตัวเช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ยังต้องใช้บัตร Rabbit เหมือนเดิม และจะเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังใช้บัตร MRT ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เดิมไปก่อน

สรุป

ในต่างประเทศทั้งสิงค์โปร์ ลอนดอน ญี่ปุ่น มีบัตรใบเดียวสามารถใช้จ่ายค่ารถไฟฟ้า ค่ารถเมล์ รวมไปถึงช้อปปิ้งซื้อของในชีวิตประจำวันได้หมด ส่วนของไทยต้องรอดูว่าภาครัฐจะจริงจังแค่ไหน กับการทำให้ประชาชนสะดวกสบาย หรือจะปล่อยให้ภาคเอกชนทำธุรกิจง่ายขึ้นแต่ประชาชนใช้ชีวิตยากขึ้นทุกวันแทน

ที่มา Gnews, ไทยรัฐ, ข่าวสด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง