ธนาคารอินโดนีเซีย Mandiri เตรียมขยายออกนอกประเทศ พร้อมลงทุนด้านฟินเทคให้เข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น

Bank Mandiri สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซียเตรียมเดินเครื่องลงทุนเพื่อการเติบโตของบริษัท ทั้งการขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศ และลงทุนเพิ่มเติมด้านฟินเทคเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงประชาขนในประเทศมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก http://mandiri-capital.co.id/en/home/

Kartika Wirjoatmodjo ประธานของ Mandiri เผยว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทางธนาคารจะยังคงเหลือส่วนที่เอาไว้จัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีก แต่ 70-80% ของบริษัท จะมาทุ่มเพื่อการเติบโตในอนาคต

Wirjoatmodjo ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานของ Mandiri นั้น ได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงินหรือ CFO ตั้งแต่ปี 2015 โดยเขาเคยทำงานกับ Industrial Bank of Japan (IBJ) และ PwC Financial Advisory มาก่อนที่จะมารับตำแหน่งใหญ่ของธนาคารอินโดนีเซีย

Mandiri นั้นต้องประสบปัญหาหนี้เสียมโหฬาร โดยประธาน Wirjoatmodjo ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ซึ่งทำให้ธนาคารต้องพับแผนการขยายการลงทุนออกนอกประเทศ โดยจากความพยายามอย่างหนักก็ทำให้ Mandiri มีกำไรเพิ่มสูงถึง 49% ในปี 2017 เป็น 20.64 ล้านล้านรูเปี๊ยะ และตอนนี้ Mandiri ก็พร้อมแล้วกับการเติบโตจากธนาคารใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย (โดยสินทรัพย์) เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Mandiri เป็นธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่ 60% โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1999 จากการควบสถาบันการเงิน 4 แห่งของอินโดนีเซียในช่วงวิกฤตการเงิน โดยหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว Mandiri ก็เริ่มขยายการให้กู้ยืมภาคธุรกิจ แต่ช่วงหลังอันดับเครดิตของอินโดนีเซียสูงขึ้น ทำให้บริษัทระดมทุนจากตลาดทุนซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำได้ง่ายขึ้น บริษัทหลายแห่งจึงเลือกระดมทุนทางนี้แทนที่จะกู้ธนาคารซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลโดยตรงต่อการให้กู้ยืมภาคธุรกิจของ Mandiri และยังมีปัจจัยกดดันในแง่กำไรจากดอกเบี้ยรวมถึงการแข่งขันอีก

ภาพจาก Shutterstock

หนึ่งในหนทางขยายกิจการของ Mandiri ก็คือการเข้าสู่ธุรกิจการให้กู้ยืมแบบไมโครโลน ที่สามารถทำกำไรได้มากกว่าการปล่อยกู้บริษัทใหญ่ โดยตอนนี้ Wirjoatmodjo ยังกล่าวว่าเขากำลังพิจารณาการไอพีโอของ Mandiri Tunas Finance หน่วยไฟแนนซ์รถยนต์ของ Mandiri โดยธนาคารหวังว่าจะเพิ่มการกู้ยืมในภาคการบริโภคจาก 15.5% ของทั้งหมดในปี 2017 มาเป็น 19% ในปี 2020

Wirjoatmodjo ยังพูดถึงการแข่งขันจากฝั่งฟินเทคอีกด้วย จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2014 นั้น ประชากรผู้ใหญ่ชาวอินโดนีเซียเพียง 36% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียมีประชากรใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แล้วกว่า 133 ล้านคน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยจำนวนนี้ยังคิดเป็นเพียงแค่ประมาณครึ่งเดียวของประชากรทั้งประเทศ หมายความว่ายังมีโอกาสเติบโตอีก ดังนั้นมือถือจึงมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าโดยตรงได้มากกว่าสาขาของธนาคารที่มีต้นทุนสูง และด้วยสภาพประเทศที่เป็นเกาะ การขยายบริการออนไลน์คงจะง่ายกว่าการเปิดสาขาธนาคารจำนวนมากแน่นอน

Go-Pay แอพจ่ายเงินจาก Go-Jek สตาร์ทอัพอินโดนีเซีย

ตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณีนี้คือ Go-Jek สตาร์ทอัพเรียกรถจากอินโดนีเซียที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในชื่อว่า Go-Pay ปัจจุบันมียอดธุรกรรมมากกว่า 100 ล้านครั้งต่อเดือน โดย Google ก็เพิ่งประกาศร่วมลงทุนโดยตรงแบบไม่ผ่าน GV ใน Go-Jek เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง

ประธาน Mandiri เห็นว่า “การที่จะ disrupt ในวงการฟินเทค เราจะต้องทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในวงการนั้น” หรือหมายความว่า Mandiri จะต้องร่วมมือกับสตาร์ทอัพฟินเทค โดยเขาบอกว่าข้อได้เปรียบคือ “เราสามารถให้บริการผลิตภัณฑ์ที่มีกำไร ลองนึกดู สตาร์ทอัพส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีกำไรเลย”

สรุป

ธนาคารยุคใหม่ยังคงต้องปรับตัว Mandiri ก็เป็นหนึ่งในนั้น การเข้าไปร่วมมือกับสตาร์ทอัพฟินเทคก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะว่าธนาคารก็จะสามารถใช้ประโยชน์ด้านแนวคิดของฟินเทค และนำมาประกอบเข้ากับจุดแข็งด้านการให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ก็จะช่วยให้ธุรกิจธนาคารดำเนินต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนและเข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา – Nikkei Asian Review, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ