แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สร้างสนามใหม่ 1 แสนที่นั่ง ทำพายุหมุนเศรษฐกิจอังกฤษ 3.21 แสนล้านบาท/ปี

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประกาศสร้างสนามแห่งใหม่ที่เดิม ความจุ 1 แสนที่นั่ง พร้อมฟื้นฟูย่าน Trafford Park หวังสร้างงานใหม่กว่า 92,000 ตำแหน่ง ที่อยู่อาศัย 17,000 แห่ง และดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 1.8 ล้านคน/ปี ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกว่า 7,300 ล้านปอนด์/ปี หรือราว 3.21 แสนล้านบาท

Manchester United

สร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ 7,300 ล้านปอนด์/ปี

สำนักข่าว Daily Mail รายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีแผนจะสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่จุได้ถึง 1 แสนที่นั่ง โดยสนามดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่าน Trafford Park ซึ่ง Oxford Economics ประเมินว่า โครงการนี้จะสร้างเงินสะพัดให้กับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรถึง 7,300 ล้านปอนด์/ปี

เนื่องจากโครงการนี้สร้างงานใหม่ได้ 92,000 ตำแหน่ง, เพิ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว 17,000 แห่ง รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.8 ล้านคน/ปี โดยสนามแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นนั้นมีมูลค่าโครงการที่ 2,000 ล้านปอนด์ และเงินทุนจะมาจากทีมสโมสร ไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ

Manchester United

อย่างไรก็ตาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการให้ภาครัฐ และเอกชน ช่วยการสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการดังกล่าวเพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เป็นต้น เพราะสนามแห่งใหม่นี้จะเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญของเมือง

“เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาระบบขนส่งของภาคเหนือ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดโครงการนี้” Andy Burnham นายกเทศมนตรีเมืองแมนเชสเตอร์ กล่าว โดยผู้รับผิดชอบในการออกแบบสนามแห่งใหม่นี้คือ Foster + Partners

Manchester United

สถานที่ครบวงจรช่วยสร้างเศรษฐกิจ

Foster + Partners จะพัฒนาย่าน Trafford Park ให้กลายเป็น Stadium District ที่เป็นมากกว่าแค่สนามกีฬา เพราะรวมทั้งศูนย์กลางในการพัฒนาด้านการกีฬา, ที่พักอาศัย, ความบันเทิง, ธุรกิจ และการศึกษา ไว้ด้วยกัน ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อีกด้วย

Brand Inside มองว่า การลงทุนในการฟื้นฟู Trafford Park ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสโมสรฟุตบอล และชุมชนโดยรอบ แต่ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาย่อมสร้างโอกาสในฝั่งอสังหาริมทรัพย์, การค้า และงานบริการ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาให้สนามฟุตบอลเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Manchester United

Gary Neville อดีตนักฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกลับมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง ส่วนในประเทศไทย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นอีกตัวอย่างที่ดีในการนำสนามกีฬาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเยอะ ก็สร้างงานให้คนท้องถิ่นมากขึ้นเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา