เจาะ Manchester United ในแง่ธุรกิจ ไม่ต้องเป็นแชมป์ก็ได้เพราะรายได้หลักไม่ได้มาทางนี้

แม้จะจบฤดูกาล 2017-2018 ด้วยมือเปล่า หลังพ่าย Chelsea ในศึก FA Cup แต่รู้หรือไม่ว่า Manchester United นั้นไม่ได้มีรายได้หลักจากการคว้าถ้วย เพราะเม็ดเงินเหล่านั้นมาจากการขายสปอนเซอร์เป็นหลัก

รายได้จากธุรกิจทั้ง 3 ส่วนของ Manchester United

ศึกษาโมเดลธุรกิจทศวรรษใหม่ของ MANU

เมื่อปี 2549 หรือประมาณสิบปีมาแล้ว หนึ่งในทีมฟุตบอลที่มีแฟนมากที่สุดในโลกอย่าง Manchester United มีแนวคิดในการทำธุรกิจไม่ต่างอะไรกับทีมฟุตบอลอื่นๆ นั่นคือการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน หรือ Matchday เพราะเป็นเม็ดเงินที่มาจากแฟนๆ ที่เข้ามารับชมการแข่งขันในสนาม Old Trafford หรือ Theater of Dream ที่หลายๆ คนไฝ่ฝัน

แต่พอผ่านไปเพียง 10 ปี “ปีศาจแดง” มีรายได้มากถึง 581 ล้านปอนด์ (ราว 25,000 ล้านบาท) แถมเปลี่ยนโครงสร้างรายได้หลัก มาจากฝั่ง Commercial ที่รวมตั้งแต่การขายสปอนเซอร์ให้กับแบรนด์สินค้า, การจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ และการขาย Digital Content ต่างๆ ในขณะรายได้จากการขายตั๋วหรือ Matchday กลับลดลงเหลือสัดส่วนน้อยที่สุดในรายได้ทั้งหมด

แม้ช่วงหลังผลงานจะตกต่ำลง แต่รายได้ก็ยังเติบโตอยู่

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะยุทธศาสตร์ของ Manchester United ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ที่ต้องการเพิ่มรายได้ และผลกำไร ผ่านการหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง รวมถึงยกระดับชื่อสโมรสรให้โด่งดัง และสร้างฐานแฟนๆ กลุ่มใหม่ให้ได้มากกว่าเดิม ซึ่งรายได้จาก Matchday เพียงลำพังไม่สามารถตอบความต้องการเรื่องนี้ได้ (เพราะไม่ใช่แฟนบอลทุกคนมีโอกาสมาดูฟุตบอลในสนาม) การเดินเกมฝั่ง Commercial เต็มรูปแบบจึงเกิดขึ้น

การขายสปอนเซอร์อย่างต่อเนื่องคืออาวุธหลัก

เมื่อ Matchday มันมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นรายการแข่งขันที่เท่าเดิม รวมถึงความจุสนามก็ขยายได้ลำบาก แถมราคาค่าตั๋วก็ขึ้นได้ไม่เยอะ ดังนั้นถ้า Manchester United ต้องการจะ Scale Up ธุรกิจจริงๆ ก็คงไม่พ้นการเร่งขยายสปอนเซอร์ให้ได้มากขึ้น เพราะมีธุรกิจมากมายทั่วโลกอยากเข้ามา “เป็นพันธมิตร” ร่วมกับสโมสรฟุตบอลทีมนี้ โมเดล Global Partners จึงเกิดขึ้นตามมา

รายได้จากการสนับสนุนโดยแบรนด์ระดับโลกต่างๆ
รายชื่อ Global Partners ของ Manchester United ในฤดูกาล 2016-2017

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มาร่วมเป็น Global Partners กับแมนยูในปัจจุบัน มีเกือบ 20 แบรนด์แล้ว เช่น 20th Century Fox, Chevrolet, Epson, Uber และ Yanmar แต่ก็ยังไม่จบแค่นี้ เพราะแมนยูต้องการเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์อีก และจะขยายออกไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อสื่อสารแบรนด์ “ผีแดง” ไปได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้เรายังเริ่มเห็นโมเดล Regional Sponsors ที่เลือกเป็นสปอนเซอร์เฉพาะในบางภูมิภาคด้วย

นั่นทำให้ปีงบประมาณ 2560 (ก.ค. 2559-มิ.ย. 2560) รายได้จากฝั่ง Commercial มีถึง 276 ล้านปอนด์ (ราว 12,000 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 48% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้จาก Matchday จะมีแค่ 111 ล้านปอนด์ (ราว 4,800 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 19% เท่านั้น

ค่าสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล Chevrolet จ่ายหนักมาก

ที่เหลือคือค่าถ่ายทอดสด และแชมป์แต่ละรายการ

ส่วนอีก 33% ที่เหลือของรายได้ในปีงบประมาณที่ผ่านมา หรือ 194 ล้านปอนด์ (ราว 8,400 ล้านบาท) คือ Broadcasting หรือรายได้จากการถ่ายทอดสด ซึ่งรวมถึงเงินรางวัลจากการแข่งขันรายการต่างๆ ด้วย โดยในฤดูกาล 2016-2017 “ผีแดง” ชนะรายการ EFL Cup และ UEFA Europa League ก็มีเงินรางวัลจากส่วนนี้เข้ามาเป็นรายได้

เงินรางวัลของอันดับต่างๆ ในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปรายการใหญ่
เงินรางวัลของ FA Cup ในฤดูกาล 2017-2018

จากตารางจะเห็นว่าแมนยูได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด, ส่วนแบ่งการขายตั๋วเข้าชม และเงินรางวัลรวมกัน 48.5 ล้านปอนด์ (ราว 2,000 ล้านบาท) ดังนั้นการพลาดแชมป์ FA Cup ในฤดูกาลนี้ (2017-2018) ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อรายได้ของ Manchester United มากนัก เพราะก็แค่พลาดเงินรางวัลแชมป์ 1.8 ล้านปอนด์ แต่เงินรางวัลรองชนะเลิศ 9 แสนปอนด์มาแทน (ราว 39 ล้านบาท) เรียกว่าแทบไม่มีผลต่อรายได้มหาศาลของสโมสรที่มาจากช่องทางอื่น

ดังนั้นการพลาดท่าพ่ายให้กับ Chelsea และจบฤดูกาลแบบมือเปล่า แฟนผีแดงคงไม่ต้องเสียใจอะไรกันมาก (ยกเว้นเรื่องศักดิ์ศรี) เพราะแนวโน้มทิศทางรายได้ของสโมสรยังพุ่งทะยาน และยังมีสปอนเซอร์ที่อยากร่วมเป็นพันธมิตรกับ “ผีแดง” อีกเป็นจำนวนมาก

รายได้ของปีงบประมาณต่างๆ ของ Manchester United
รายได้ของปีงบประมาณ 2561 ของ Manchester United

ถึงรายได้จะเยอะ แต่ค่าใช้จ่ายก็เยอะไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงจาก 2 ตารางด้านบนจะพบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ Manchester United ก็เยอะไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ Employee Benefit Expenses ที่จ่ายให้กับพนักงานทุกคนตั้งแต่นักฟุตบอล จนถึงเจ้าหน้าที่ธุรการต่างๆ ที่รวมกันกว่า 865 คน

โดยเฉพาะค่าเหนื่อยนักฟุตบอลในทีมที่มีถึง 74 คน และกินส่วนแบ่งในจำนวนค่าใช้จ่ายด้านคนค่อนข้างมาก ประกอบกับการผ่านเข้ารอบ UEFA Champion League ทำให้นักเตะบางคนมีโบนัสขึ้นไปอีก ทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านพนังกงานของ Manchester United

ส่วนเรื่องผลกำไรขาดทุนของ “ปีศาจแดง” นั้น ในปีงบประมาณที่ผ่านมามีกำไรสุทธิที่ 39 ล้านปอนด์ (ราว 1,700 ล้านบาท) ถือว่าไม่ได้น้อยจนเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ แต่ด้วยค่าเหนื่อยนักเตะ และพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ Manchester United ต้องเร่งทำรายได้จากส่วนอื่นๆ มาทดแทนตลอดเวลาด้วย

อ้างอิง // Manchester United

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา