สถานการณ์ชิปเซ็ตขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต เมื่อมาเลเซียฐานการผลิตสำคัญยอดโควิดพุ่ง

ยอดผู้ติดเชื้อที่สูงอย่างต่อเนื่องในมาเลเซียส่งสัญญาณว่าชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ เช่น ชิป จะขาดตลาดต่อไป หรือสถานการณ์อาจแย่ลงด้วยซ้ำ

ยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาเลเซียเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญในด้านการผลิต ทดลอง และบรรจุชิป เมื่อผู้ผลิตชิปแนวหน้าอย่าง Infineon Technologies AG, NXP Semiconductors NV และ STMicroelectronics NV มาเปิดโรงงานที่นี่ หลังจากการผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมาโดยตลอด

ทว่า ด้วยการที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศทะยานจาก 5,000 เป็น 20,000 คนต่อวันภายในเวลาเพียงสองเดือน มาตรการป้องกันการแพร่ระบอดต่างๆ จึงบีบให้โรงงานมีแรงผลิตต่ำลง

ด้านภาครัฐอนุญาตให้โรงงานต่างๆ ใช้แรงงานได้ 60% ระหว่างการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และเพิ่มเป็น 100% ได้เมื่อพนักงานกว่า 80% ได้รับวัคซีนแล้ว โดยประชาชนประมาณ 57% ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงเป้า ถึงแม้ทางรัฐบาลจะให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยีได้ฉีดก่อนก็ตาม

ทว่า การที่ต้องปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาดถึง 2 สัปดาห์ หากพบผู้ติดเชื้อเกิน 3 คนก็ทำให้กำหนดการการผลิตล่าช้าขึ้นไปอีก

ผู้ผลิตชิปท้องถิ่นหลายราย รวมถึง STMicro และ Infineon ก็ต้องปิดโรงงานไปเพราะการติดเชื้อแล้ว ซึ่งปกติโรงงานจะมีพนักงานกว่า 1,000 คนเลยทีเดียว ทำให้การควบคุมยากขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ

การรอคอยที่ยาวนานกว่าเดิม

ตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา เวลาส่งมอบชิปตั้งแต่การสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก 13.2 สัปดาห์ เป็น 20.2 สัปดาห์ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่านานที่สุดในประวัติการณ์

มาเลเซียสำคัญมากในฐานะศูนย์ทดสอบชิป ซึ่งเป็นลำดับท้ายๆ ในขั้นตอนการผลิตชิปให้สมบูรณ์ และถือเป็นหนึ่งในฐานะผู้ผลิตแนวหน้าของโลก การล่าช้าใดๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่จึงส่งผลกระทบต่อการประกอบรถทั่วโลก โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็น 39% ของมูลค่าส่งออกของมาเลเซียต่อปีทีเดียว

ความเสียหายในตลาดรถยนต์

นอกจากชิปแล้ว มาเลเซียยังเป็นแหล่งผลิต MLCC (multilayer ceramic capacitors) ซึ่งถูกใช้ในสินค้าตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปถึงรถยนต์อีกด้วย

ตั้งแต่เกิดการขาดแคลนชิปทั่วโลกขึ้น ตลาดรถยนต์ก็ถูกควาดว่าจะเกิดความเสียหายกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์ในมาเลเซีย และอาจจะแย่ลงอีกหากรัฐบาบควบคุมการแพร่เชื้อในอนาคตไม่ได้

ด้าน Ford เองก็ต้องประกาศระงับการผลิตรถกระบะยอดนิยมรุ่น F-150 ที่สหรัฐชั่วคราว เนื่องจาก “การขาดชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับชิป ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในมาเลเซีย” 

Toyota ประกาศว่าจะระงับการผลิตในโรงงานกว่า 14 แห่ง เหตุจากการขาดแคลนชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย เวียดนาม และ มาเลเซีย ซึ่งทั้งสามประเทศมียอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สรุป

การที่แหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ถูกตั้งอยู่ในอาเซียนเป็นจำนวนมาก การแพร่ระบาดของโควิดในภูมิภาคนี้จึงส่งผลกระทบต่อระบบผลิตสินค้าทั่วโลก การเร่งฉีดวัคซีนจึงสำคัญมากต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา