มาเลเซียประกาศยุบสภา ปูทางสู่การเลือกตั้งใหม่: ปี 2014-2022 มาเลย์เปลี่ยนนายก 4 คน ไทยยังเป็นคนเดิม

มาเลเซียประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ปูทางสู่การเลือกตั้งใหม่ นายกฯ มาเลย์เปลี่ยนมาแล้วหลายคน แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นประยุทธ์ คนเดิม

Malaysia-dissolves

Ismail Sabri Yaakob นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศยุบสภา เตรียมเลือกตั้งใหม่ก่อนสิ้นสุดปีนี้ โดยนายกฯ Sabri ประกาศผ่านทางทีวีเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า เขาได้ถามความเห็นชอบจากกษัตริย์ถึงกรณีที่จะยุบสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว หลังยุบสภาจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของประเทศ

นายกฯ มาเลย์ประกาศผ่านทางโทรทัศน์เมื่อเวลาประมาณบ่าย 3 โมงที่ผ่านมา คาดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน การเลือกตั้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายใน 9 เดือนก่อนครบวาระ ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมของรัฐบาลอย่างหนัก นายกฯ Ismail กล่าวว่า เขาจะให้มีการเลือกตั้งที่เร็วขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นภายใน 60 วันหลังมีการประกาศยุบสภา

นายกฯ มาเลย์ เปลี่ยนตัวมาแล้ว 4 คน แต่ของไทยยังเป็นประยุทธ์หน้าเก่า

ตั้งแต่ปี 2014- ปี 2022 (ปัจจุบัน) จะพบว่า มาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน คนแรกเป็นนายกฯ สองสมัย คนต่อๆ มาลาออกบ้าง ยุบสภาบ้าง แต่ประยุทธ์ จันทร์โอชายังอยู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดิม แม้จะมีการเว้นวรรคจากตำแหน่งไม่กี่วัน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินท่ามกลางความสงสัยและข้อท้วงติงมากมายหลังตัดสินว่าประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปีและได้กลับมาเป็นนายกฯ เหมือนเดิม

นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี ปี 2009-2018

สำหรับมาเลเซียนั้น เริ่มจากนาจิบ ราซัค เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย สมัยแรกเป็นการสืบทอดอำนาจต่อจากนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บัดดาวีที่ลาออก นาจิบ ราซัคเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2009 ถึง ปี 2018 จากนั้นจึงพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับนายกรัฐมนตรีคนถัดมา มหาเธร์ โมฮัมหมัดกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในโลก

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2018-2020 และลาออก

มหาเธร์ไม่ใช่มือใหม่ทางการเมือง แม้จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้เป็นผู้นำที่สูงอายุมากที่สุดในโลก อายุ 93 ปี ในปี 2018 แต่เขาก็เคยเป็นผู้นำมาเลย์มาก่อนหน้าแล้วถึง 20 ปีเศษ ตั้งแต่ปี 1981-2003 สำหรับปี 2020 นั้นเขาประกาศลาออกหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในมาเลเซียมีความขัดแย้งสูง ที่เขาได้รับเลือกตั้งก็เพราะนาจิบ ราซัคพัวพันคดี 1MDB ด้วย

มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ปี 2020-2021 ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ยัซซินดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 17 เดือนหรือ มีนาคม 2020-สิงหาคม 2021 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดนับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่ง จนสุดท้ายก็ประกาศลงจากตำแหน่งในช่วงวิกฤตโควิดระบาดที่มีคนติดเชื้ออย่างหนักวันละกว่า 20,000 คน

อิสมาอิล ซับรี ยักกบ ปี 2021- ปัจจุบัน ประกาศยุบสภา

ล่าสุดคืออิสมาอิล ซับรี ยักกบประกาศยุบสภา ทำลายสถิติผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสั้นที่สุดของยัซซินเรียบร้อย เป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 51 วัน ซับรีระบุว่า เขาตั้งใจจะยุบสภาในวันจันทร์นี้เพื่อยุติข้อครหา หรือคำถามมากมายที่มีต่อความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้

ขณะที่มหาเธร์ โมฮัมเหม็ดที่เคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีที่สูงวัยที่สุดและดำรงตำแหน่งยาวนานมากที่สุดแห่งยุคสมัย ตอบคำถามสื่อว่า เขาคิดอย่างไรกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป มหาเธร์ตอบว่าเขาอายุ 97 ปีแล้ว เขาไม่ได้ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีสามสมัย

Malaysia dissolve

ด้านกษัตริย์ของมาเลเซียยืนยัน ไม่มีทางเลือก จำต้องยอมรับการร้องของนายกฯ

ทางกษัตริย์มาเลเซียก็มีแถลงการณ์ออกมาเช่นกัน ระบุว่า รู้สึกผิดหวังต่อพัฒนาการทางการเมืองในปัจจุบัน แต่กษัตริย์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยินยอมตามที่นายกรัฐมนตรีร้องขอให้ยุบสภาและคืนอำนาจสู่ประชาชนเพื่อให้เลือกกรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น กษัตริย์มาเลเซียหวังว่าคณะกรรมการเลือกตั้งจะตัดสินใจให้มีการจัดเลือกตั้งภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

มาเลเซียการเมืองยังคงร้อนแรงไม่เปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศ แต่ไทยแม้การเมืองจะร้อนแรงแค่ไหน นายกฯ คนดีย์ยังเป็นคงเป็นประยุทธ์คนเดิม..

ที่มา – CNA, CNBC, TIME, CNN, ABC, Aljazeera, Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา