CP ควบรวม Lotus’s-Makro ส่วน CPN เตรียมซื้อหุ้น SF เจ้าของ Mega Bangna ออกจากตลาด

กลายเป็นสัปดาห์แห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการค้าปลีก เพราะ CP ประกาศควบรวม Lotus’s กับ Makro เสริมแกร่งค้าปลีก-ค้าส่งเบอร์ 1 เอเชีย ส่วน CPN เตรียมซื้อหุ้น SF เจ้าของ Mega Bangna ออกจากตลาด

makro lotus

แม้จะซื้อมาแล้ว แต่นี่คือการเชื่อมต่อครั้งใหม่

กลุ่ม CP ได้ซื้อกิจการ Lotus’s ทั้งในประเทศไทย และมาเลเซีย มาตั้งแต่ต้นปี 2020 แต่โครงสร้างของ Lotus’s กลับอยู่ภายใต้ บริษัท บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPRH ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ ทางกลุ่มจึงปรับโครงสร้างโดยโอนกิจการของ CPRH ทั้งหมดไปให้ บมจ. สยามแม็คโคร หรือ Makro

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น การเชื่อมต่อธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของกลุ่ม CP จะสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ CPALL หรือผู้ทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven วางอยู่ด้านบน โดยบริษัทนั้นมีสัดส่วนในการถือหุ้น Makro ทั้งหมด 65.97% ลำดับถัดไปคือ Makro ที่ถือหุ้น 99.99% ใน Lotus’s ทั้งประเทศไทย และมาเลเซีย

การโอนกิจการครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 43,500 ล้านบาท นอกจากนี้ Makro จะดำเนินการออก และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 181,600,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

makro lotus

ติดปีกเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีก ระดับเอเชีย

อย่างไรก็ตาม การโอนกิจการจะดำเนินทันทีหลังการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ Marko และ CPALL ในวันที่ 12 ต.ค. 2021 และคาดว่าจะใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ จะเสร็จสิ้น ที่สำคัญการโอนกิจการจะเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทในระยะยาว และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคอันดับ 1 ในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ทั้งได้ประโยชน์จากการผสานการทำตลาดระหว่างร้านสะดวกซื้อ, ค้าปลีก และค้าส่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาด E-Commerce รวมถึงนวัตกรรมใหม่ในการค้าปลีก-ค้าส่งต่าง ๆ ยิ่งการระบาดของโรค COVID-19 ความสำคัญของการทำตลาดออนไลน์ก็มากขึ้น

ก่อนหน้านี้กลุ่ม CP ได้เปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศกัมพูชาเป็นสาขาแรก และจะทยอยเปิดสาขาเพิ่ม ถือเป็นการบุกตลาดใหม่ต่อยอดความแข็งแกร่ง 12,000 สาขาในไทย นอกจากนี้ในปี 2022 ทางกลุ่ม CP มีแผนขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศลาวด้วย

mega bangna

CPN กับแผนการนำ SF ออกจากตลาด

ขณะเดียวกัน บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เตรียมใช้เงินกว่า 11,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เหลือ และนำ บมจ. สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต่อจาก CPN เข้าซื้อหุ้น 30% และขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SF เมื่อเดือน ก.ค. 2021

SF ทำธุรกิจศูนย์การค้า และบริหารพื้นที่ เช่น Mega Bangna, Esplanade และ Market Place ดังนั้นจากสองเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้วงการค้าปลีก-ค้าส่งเกิดการควบรวมกิจการ และสร้างผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมา 2 รายอย่างชัดเจน ทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่นในตลาดอย่างชัดเจน

ในทางกลับกัน คู่แข่งของแบรนด์เหล่านี้อาจต้องยกระดับตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดให้ได้มากกว่าเดิม แต่ไม่ใช่แค่การเพิ่มบริการ หรือขยายสาขา แต่อาจไปถึงประสบการณ์ในการใช้บริการของผู้บริโภค เพราะหากสู้เรื่องความครอบคลุมไม่ได้ งานบริการ และความประทับใจอาจแก้จุดอ่อนดังกล่าวได้ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา