แค่โรงภาพยนตร์คงไม่ไหว เมเจอร์ เข้าลงทุน เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์ รวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท

บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป หรือ Major ประสบปัญหารายได้ลด และขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่โรค โควิด-19 ระบาด เพราะโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการไม่ได้ แถมภาพยนตร์เลื่อนฉาย และลูกค้าไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ

ทำให้ เครือเมเจอร์ ต้องหาวิธีใหม่ ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้ และลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์โรคระบาดอีกครั้ง ซึ่งบริษัทเลือกวิธีเข้าลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ

เริ่มด้วยการประกาศลงทุนราว 540 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 5% ใน บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง เจ้าของขนมสาหร่ายชื่อดัง ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ของ เถ้าแก่น้อย

ล่าสุดประกาศลงทุน 523 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 5% ใน บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ของบริษัทดังกล่าว แล้วกลยุทธ์หลังจากนี้ของ เครือเมเจอร์ จะเป็นอย่างไร ลองวิเคราะห์ไปด้วยกัน

เมเจอร์

เมเจอร์ กับการประสบปัญหาธุรกิจ

บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป รายงานผลประกอบการปี 2564 มีรายได้รวม 3,010 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี 2563 แถมขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,758 ลดลง 36% จากปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังประสบปัญหาจากการระบาดของโรค โควิด-19

แม้ เมเจอร์ จะพยายามสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอาหาร เช่น ป๊อปคอร์นแบบเดลิเวอรี และการจำหน่ายป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จรูปในค้าปลีกต่าง ๆ จนรายได้จากส่วนอาหารเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 786 ล้านบาท แต่นั้นก็ไม่เพียงพอต่อการประคองบริษัท เพราะธุรกิจอื่น ๆ ต่างมีรายได้ลดลง และไม่มีแนวโน้มที่จะบวกในเร็ววัน

โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่รายได้ลดลง 16% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1,470 ล้านบาท และธุรกิจโฆษณาที่รายได้ลดลง 49% คิดเป็นมูลค่า 294 ล้านบาท ทำให้ถ้าการระบาดของโรค โควิด-19 ยังไม่มีความแน่นอน หากปล่อยให้ธุรกิจดำเนินไปในรูปแบบนี้คงไม่ดีแน่

เริ่มด้วยการลงทุนในสาหร่าย เถ้าแก่น้อย

เมเจอร์ จึงหาธุรกิจที่น่าสนใจ และเข้าไปลงทุนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต เริ่มต้นด้วยวันที่ 11 มี.ค. 2565 บริษัทประกาศเข้าถือหุ้นของ บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง 69 ล้านหุ้น ทยอยซื้อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามราคาซื้อในตลาด อยู่ในช่วงราคา 7.06 ถึง 8.26 บาท ต่อหุ้น หรือเฉลี่ย 7.82 บาทต่อหุ้น

บล. โนมูระ พัฒนสิน มองว่า มูลค่าการลงทุนครั้งนี้อยู่ราว 540 ล้านบาท ส่วนการลงทุนใน เถ้าแก่น้อย ทาง เมเจอร์ จะเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผ่านการมีช่องทางจำหน่ายป๊อปคอร์นสู่ตลาดใน และต่างประเทศ รวมถึงช่องทางรายได้สื่อในการประชาสัมพันธ์ทางด้านการตลาดให้ เถ้าแก่น้อย ในอนาคต

ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อย มีการจำหน่ายสาหร่ายในโรงภาพยนตร์เมเจอร์สาขาต่าง ๆ และส่วนตัวผู้เขียนมองว่า การลงทุนใน เถ้าแก่น้อย ครั้งนี้ อาจเกิดสินค้าที่พัฒนาร่วมกันในอนาคต เช่น ป๊อปคอร์น รสชาติใหม่ หรือการขยายกำลังการผลิตป๊อปคอร์นเพื่อจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลายขึ้น

ต่อด้วยการลงทุนใน เวิร์คพอยท์

และในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เมเจอร์ ประกาศถือหุ้น บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำนวน 22 ล้านหุ้น เป็น การทยอยซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามราคาซื้อในตลาด อยู่ระหว่างช่วงราคา 22.41 ถึง 25.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาซื้อในตลาดเฉลี่ย 23.66 บาทต่อหุ้น

บล. โนมูระ พัฒนสิน มองว่า มูลค่าการลงทุนครั้งนี้อยู่ราว 523 ล้านบาท ส่วนการลงทุนใน เวิร์คพอยท์ จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจ และต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และบันเทิงด้านการผลิตคอนเทนต์มากขึ้น ทั้งยังแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุน และพัฒนากระบวนการดำเนินงาน

ก่อนหน้านี้ เมเจอร์ และ เวิร์คพอยท์ มีการร่วมมือกันพัฒนาภาพยนตร์กันมาระยะหนึ่งแล้ว และเกือบทั้งหมดค่อนข้างประสบความสำเร็จ เช่น ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก และ อีเรียมซิ่ง รวมถึงเปิดบริษัทบริหารศิลปิน-นักแสดง ร่วมกันในชื่อ สกายบ็อกซ์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์

แล้วภาพของ เมเจอร์ ปี 2565 จะเป็นอย่างไร

จากการลงทุนข้างต้น ทำให้ภาพธุรกิจของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในปี 2565 จะมีอะไรแตกต่างจากเดิมแน่นอน เพราะด้วยช่องทางการจำหน่าย และโอกาสในการผลิตป๊อปคอร์นที่มีคุณภาพมากขึ้น และธุรกิจคอนเทนต์ที่มีบริษัทชั้นนำมาช่วยอย่างชัดเจนก็คงดีไม่น้อย

ที่เหลือก็คงลุ้นว่า ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปี 2565 จะมีเรื่องไหนเปรี้ยงบ้าง โดยปีนี้จะเปิดปีด้วย The Batman และในช่วงครึ่งหลังจะมี Thor: Love and Thunder และอื่น ๆ ซึ่ง เมเจอร์ คงหวังว่า โปรแกรมเหล่านี้จะไม่เลื่อนไปอีก เพราะถ้าเลื่อน ก็เท่ากับรายได้จากการขายตั๋วจะไม่เกิดขึ้น

ในทางกลับกัน เมเจอร์ จะเน้นหนักธุรกิจผลิตภาพยนตร์ในปี 2565 เพื่อผลิตภาพยนตร์กว่า 15-20 เรื่อง นอกจากนี้ยังใช้ความได้เปรียบในการถือสิทธิ์ภาพยนตร์กว่า 200 เรื่อง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ให้บริการสตรีมมิงต่าง ๆ รวมถึงการขายภาพยนตร์ในต่างประเทศเช่นกัน

สรุป

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เริ่มปรับตัวได้ในวิกฤตโรค โควิด-19 ระบาด และมองเห็นวิธีสร้างรายได้มาประคองธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ฟื้นลำบากในเวลานี้ ยิ่งการมีรายได้เกินครึ่งมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ ถ้าธุรกิจนี้พัง ภาพรวมบริษัทก็จะมีปัญหาทันที ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจอื่นให้มากขึ้น ก็คงเป็นทางออกที่ดี

ทั้งนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีแผนขยายโรงฉายภาพยนตร์อีก 25-30 โรง ในปี 2565 จากปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 833 โรง ใน 177 สาขารวมทั้งใน และต่างประเทศ

อ้างอิง // เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ 1, 2, 3

อ่านข่าวเกี่ยวกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา