Major เปิด Movie on Demand กินรวบหนังโรง-ออกโรง แย่งซีน Netflix

Major Cineplex งัดหมัดเด็ดด้วยบริการ Movie on Demand สร้างกิมมิกด้วยการนำหนังที่ออกจากโรงมาให้ลูกค้าโหวตเพื่อฉายใหม่ เลือกเวลาตามที่ต้องการ รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีเวลาน้อย แต่กิจกรรมเยอะ แถมออกมาเพื่อท้าชนกับ Netflix โดยตรง

ดึงหนังออกโรงมาฉายใหม่ตามใจลูกค้า

แม้จะไม่ใช่คู่แข่งที่ชนกันโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจโรงหนังได้รับผลกระทบจากวิดีโอสตรีมมิ่งอย่าง Netflix อยู่บ้าง เพียงแต่คนละเซ็กเมนต์ และขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน เพราะมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ซึ่ง Netflix จะเน้นซีรีส์ และภาพยนตร์ที่ออกจากโรงไปแล้ว

แต่คู่แข่งของโรงภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่ Netflix เพียงอย่างเดียว ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้มีกิจกรรมเยอะ มีสิ่งดึงดูดความสนใจอยู่ตลอด เป็นสิ่งที่แย่งเวลาในการมาดูหนังได้

ทำให้ Major Cineplex ค้นพบ Pain Point ในการดูภาพยนตร์ของผู้บริโภคในยุคนี้ว่าลูกค้าหาเวลามาดูหนังน้อยมีกิจกรรมอื่นๆเยอะรอบฉายหนังไม่เยอะไม่สะดวกรวมถึงเรื่องโลเคชั่นที่หนังบางเรื่องไม่ได้ฉายในทุกโรงภาพยนตร์

Major จึงได้ซุ่มพัฒนาบริการใหม่ Movie on Demand เป็นบริการผ่านเว็บไซต์ ให้ลูกค้าสามารถรีเควสได้ว่าอยากดูเรื่องอะไร ช่วงเวลาไหน แล้วเปิดให้โหวต เมื่อมียอดโหวตตามเป้าก็เปิดโรงฉาย ซึ่งได้เริ่มทดลองตลาดมาได้ 8 เดือนแล้ว

อธิบายหลักการของ Movie on Damand ง่ายๆ ก็คือ

  1. ภาพยนตร์ที่ฉายเป็นภาพยนตร์ที่ออกจากโรงไปแล้ว แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่อยากดูอยู่
  2. ในช่วงแรกมีภาพยนตร์ให้เลือก 50 เรื่อง เป็นเรื่องยอดนิยมทั้งหนังออสการ์ หนังฮอลลีวูด หนังไทย และเอเชีย
  3. เฟสแรกมีโรงภาพยนตร์ที่เข้าร่วม 24 สาขา เป็นสาขาในกรุงเทพฯ 17 สาขา และต่างจังหวัด 7 สาขา แต่ละสาขาจะมีโรงภาพยนตร์รองละ 1 โรง มีช่วงเวลาให้เลือกวันละ 3-4 รอบ
  4. สามารถเข้าไปเลือกหนังในเว็บไซต์ เลือกรอบ และกดโหวต ชวนเพื่อนมาโหวตได้ ถ้าหนังเรื่องนั้นได้ครบ 100 โหวต ทาง Major ถึงจะเปิดรอบให้ซื้อบัตร แล้วเข้าชมได้ แต่ไม่จำเป็นว่ารอบนั้นจะมีคนซื้อครบ 100 ที่นั่ง ถ้าโหวตถึง 100 โหวต แต่ซื้อตั๋วแค่ 1 ที่ก็ฉาย
  5. แต่การดู Movie on Demand ต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะจะต้องทำการโหวตก่อนถึงจะได้ดู และทาง Major จะปิดโหวตก่อนฉาย 4 วัน
  6. ราคาค่าตั๋วหนังจะขึ้นอยู่แต่ละสาขา ใช้ราคาที่ถูกที่สุดของสาขา หรือใช้ราคาในวันจันทร์ เริ่มต้นที่ 150 บาท อย่างที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ราคา 200 บาท

เบื้องหลังสำคัญของโปรเจ็คต์นี้ก็คือโอกาสของหนังที่ออกโรงแล้วยังมีมากมาย มีช่องว่างอีกเยอะก่อนที่จะไปช่องทางอื่น ที่สำคัญยังได้กลับมาฉายใหม่อีกก่อนที่จะเข้า Netflix

นรุตม์ เจียรสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

ข้อจำกัดของหนังโรงคือบางเรื่องอยู่แค่ 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นหนังก็จะไปช่องทางอื่นๆ อย่างวิดีโอสตรีมมิ่ง สายการบิน และแผ่น DVD ซึ่งช่องว่างระหว่างที่หนังจะไปถึงช่องทางอื่นๆ มันนานมาก 2-3 เดือนได้ เลยเห็นโอกาสที่จะเอาหนังที่ออกจากโรงแล้วมาฉายใหม่โดยให้ลูกค้าเลือกเองว่าอยากดูช่วงไหน ถือเป็นการแข่งกับ Netflix กลายๆ เพราะเป็นดึงหนังก่อนที่จะไปเข้าสตรีมมิ่ง

นรุตม์เสริมอีกว่าบริการประเภทนี้ได้มีเปิดใช้ที่ไทยเป็นที่แรกในเอเชีย โดยที่ฮ่องกงกำลังจะเปิดในอีกไม่กี่เดือนในโมเดลเดียวกัน ก่อนหน้านี้มีที่สหรัฐอเมริกา

เริ่มเฟสแรกที่เว็บไซต์ ต่อไปจะมีการใช้ AI

Major เตรียมเปิดตัวบริการนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ หลังจากที่ทดลองตลาดได้ 8 เดือน กับ 8 สาขา แต่มีภาพยนตร์ให้เลือก 1 เรื่อง/สาขา/สัปดาห์เท่านั้น เพื่อดูการตอบรับของลูกค้า โดยพบว่าลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี มียอดการซื้อตั๋วเกิน 50% ในทุกรอบในวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อเทียบกับรอบปกติมียอดการซื้อตั๋วเฉลี่ย 30% เท่านั้น สาขาที่มีการใช้บริการมากที่สุดคือสยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์ และรัชโยธิน

การเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการจะแบ่งเป็น 3 เฟสด้วยกัน

  • เฟสแรก เปิดในเดือนมิถุนายนผ่านช่องทางเว็บไซต์อย่างเดียว
  • เฟสสอง พัฒนาให้เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่น และจะมีฟีเจอร์อื่นๆ รองรับมากขึ้น
  • เฟสสาม ช่วงปลายปี มีการใช้เทคโนยีมาช่วย มีการใช้ AI และนำดาต้าของลูกค้ามาต่อยอด ดูว่าชอบหนังประเภทไหน และเชื่อมต่อกับบัตร M Gen

เกิดรูปแบบการดูหนังแบบใหม่ได้

นรุตม์บอกว่าไม่ใช่แค่การโหวตอย่างเดียว แต่สามารถรวมกลุ่มมาเพื่อเหมาโรงได้ หรือจัดปาร์ตี้ขอแต่งงานแล้วให้ฉายหนังที่อยากดูก็ได้ เกิดเป็นการดูหนังรูปแบบใหม่ๆ ไม่ได้ยึดติดแบบเดิม

บริการนี้ออกมาเพื่อจับกลุ่มแฟนหนังแบบ First Class ที่ดูหนังเฉลี่ยปีละ 30-40 เรื่อง ต่อไปในอนาคตอาจจะนำภาพยนตร์ต่างประเทศเจ๋งๆ ที่ไม่ได้มีโปรแกรมฉายเข้าให้เลือกก็ได้ มีการตั้งเป้าใน 6 เดือนนี้จะมียอดจำหน่ายตั๋ว 1 ล้านใบ

ปัจจุบัน Major มีสาขารวม 141 สาขา 733 โรง 166,444 ที่นั่ง สาขาในไทย 135 สาขา 705 โรง 159,257 ที่นั่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 41 สาขา 333 โรง 75,522 ที่นั่ง ต่างจังหวัด 94 สาขา 367 โรง 83,735 ที่นั่ง

ส่วนสาขาต่างประเทศ 6 สาขา 33 โรง 7,187 ที่นั่ง แบ่งเป็นประเทศกัมพูชา 4 สาขา 24 โรง และลาว 2 สาขา 9 โรง

สรุป

เป็นการแก้เกมของ Major ในการสู้ศึกกับ Netflix ที่สามารถดึงคอนเทนต์ก่อนที่จะไปช่องทางอื่นให้ยังอยู่ในโรง แถมยังได้รายได้เพิ่มอีกด้วย ถือเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการเลือกอะไรด้วยตัวเอง ดีไซน์เอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา