เมเจอร์เปิดโรงภาพยนตร์ Esports กลยุทธ์เสริมรายได้จาก Non-movie

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เปิดตัวโรงภาพยนตร์ Esport แห่งแรกของโลกที่เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ชูจุดเด่นครบวงจรตอบรับคอ Esports ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สร้างรายได้จาก Non-movie

ทำโรงหนังธรรมดาให้เป็นโรงหนัง Esports

ด้วยกระแสความนิยมของ Esports ในประเทศไทยมีมากขึ้นทุกปี ทำให้ปัจจุบันการแข่งขัน Esports มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และมีการเติบโต 12% อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการขึ้นทะเบียนให้เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ และถูกบรรจุเป็นกีฬาชนิดใหม่ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิคในอนาคตด้วย

จึงเห็นได้ว่าภาคเอกชนต่างตอบรับกับกระแสของ Esports ไม่น้อย ห้างค้าปลีกหลายแห่งอย่างพันธ์ทิพย์ พลาซ่าหรือเดอะสตรีท รัชดาก็ต่างมีอารีน่าสำหรับการจัดการแข่งขัน Esports

ล่าสุดเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้กระโดดลงมาจับตลาดนี้กับเขาบ้าง ด้วยการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ “Dell Gaming Esports Cinema” ถือว่าเป็นโรงภาพยนตร์ Esports แห่งแรกของโลก โดยมีพาร์ทเนอร์ในวงการอย่าง Dell ในฐานะเนมมิ่ง สปอนเซอร์ นีโอ ลูชั่น และทรู ออนไลน์ ในเรื่องระบบอินเทอร์เน็ต

ซึ่งโรงนี้จะเป็นโรงหนังแบบไฮบริด  ผสมกันระหว่างจัดกิจกรรมด้าน Esports แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมก็จัดฉายภาพยนตร์ปกติ แต่มีการวางระบบต่างๆ  เพื่อรองรับการแข่งขัน Esports ได้ครบวงจร ทั้งเครื่องฉายระดับ 4K หน้าจอขนาดใหญ่ ระบบเสียง ระบบอินเทอร์เน็ต รองรับผู้เข้าแข่งขันสูงสุดครั้งละ 60 คน และรองรับผู้ชมอีก 200 คน

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงที่มาในการทำโรงหนัง Esports ครั้งนี้ว่า

ในตอนแรกได้เริ่มคุยกับทางพาร์ทเนอร์ในวงการ Esports ก็มองเห็นโอกาสบางอย่าง เพราะปกติงานเหล่านี้จะไม่มีที่จัดแบบถาวร ที่อื่นที่สามารถจัดได้ก็เดินทางไม่สะดวก แต่ที่นี่มีระบบพร้อม และมีทราฟิกจากในห้างด้วย

ประเดิมแห่งแรกที่เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา

นรุตม์บอกอีกว่า ในปีที่ผ่านมาได้เห็นการเติบโตของงานอีเวนต์ด้าน Esports มีทั้งหมด 15 งาน แต่ส่วนใหญ่จะจัดที่โรงภาพยนตร์สยาม ภาวลัยที่พารากอนซีนีเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโรงใหญ่ระดับ 1,000 ที่นั่ง ค่าเช่าอยู่ที่วันละ 500,000 บาท ซึ่งโรงนั้นเป็นโรงหนังปกติที่จะจัดงานแต่ละทีก็ต้องเซ็ตระบบต่างๆ มีการจัดออแกไนซ์เพิ่มเติม

ทางเมเจอร์ฯ จึงอยากทำสเกลให้เล็กลง และทำเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีระบบครบวงจร จึงเลือกที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาเป็นแห่งแรกในการเปิดโรงภาพยนตร์ Esports พร้อมวางระบบเรื่องอินเทอร์เน็ต สตรีมมิ่ง ทำให้เป็น One Stop Service ให้ลูกค้ามาทีเดียวแล้วครบ ไม่ต้องจ้างออแกไนซ์เพิ่มเติม

เหตุผลที่เลือกเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดายังมีเรื่องการเดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้าใต้ดิ MRT อยู่ในห้างสรรพสินค้า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา และที่สำคัญคือในโซนรัชดายังใกล้กับที่ตั้งของบริษัทไอทีต่างๆ อย่างทรู, การีน่า เพราะโรงภาพยนตร์นี้จะจับลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

ส่วนโรงภาพยนตร์ Dell Gaming Esports Cinema มีค่าบริการแบ่งเป็น 2 ประเภทราคา ได้แก่ ราคาเหมาทั้งวัน 200,000 บาท และราคาเหมาครึ่งวัน 100,000 บาท แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา 10.00-15.00 . และ 17.00-22.00 .

เสริมรายได้จาก Non-movie อีเวนต์ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจของการเปิดโรงภาพยนตร์ Esports ของเมเจอร์ครั้งนี้ก็คือ เป็นการขยายตลาดรายได้จากส่วน Non-movie ให้มากขึ้น หรือธุรกิจที่ไม่ใช่ฉายภาพยนตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เมเจอร์ฯ ได้เอาคอนเสิร์ตจากต่างประเทศมาฉาย เช่น บัลเลต์ โอเปร่า คอนเสิร์ตเกาหลี ทำมาตลอด 3-4 ปีแล้ว

มีการจัดงานมาทั้งหมด 30 อีเวนต์แล้ว ส่วนใหญ่จัดที่สยามพารากอน เมเจอร์เอกมัย และเอ็มควอเทียร์ มีการจำหน่ายบัตร 2,000-3,000 บาท

ตอนนี้รายได้ในส่วนของ Non-movie ยังมีไม่ถึง 1% ของรายได้ทั้งหมดของเมเจอร์ แต่ก็คาดหวังว่าโรงภาพยนตร์ Esports จะเข้ามาช่วยเสริมให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ตั้งเป้ารายได้ใน 1 ปีจำนวน 120 ล้านบาท

และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 3-4 แห่ง แต่ต้องประเมินการตอบรับจากสาขาก่อนว่าดีแค่ไหน แล้วจะเลือกโลเคชั่นที่เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT

สรุป

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็อยู่เฉยๆ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการปรับตัวรับกับยุคสมัย ถึงแม้ว่าผู้บริโภคยังออกมาดูหนัง เสพความบันเทิงอยู่ แต่ก็ต้องสร้างความแปลกใหม่ให้ตลาดเพื่อเสริมรายได้ ทิศทางของเมเจอร์ฯ ก็มีการวางภาพลักษณ์ของตัวเองให้ชัดขึ้นว่าเป็นไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ต่อยอดให้เป็นมากกว่าโรงหนัง การที่เปิดโรงภาพยนตร์ Esports ในครั้งนี้ก็ถือว่าสร้างความตื่นเต้นในตลาดไม่น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา