ธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบสุด ๆ จากวิกฤต COVID-19 ล่าสุดก็เพิ่งถูกสั่งปิดบริการชั่วคราวใน กทม. และปริมณฑล แล้ว Major Cineplex ที่ปรับตัวด้วยการให้เช่าพื้นที่จัดงาน, ขายป๊อปคอร์นเดลิเวอรี และอื่น ๆ จะประคองยอดขายได้หรือไม่?
คำตอบคือไม่ เพราะขาดทุนในรอบหลายปี
ปี 2020 เป็นปีที่สุดตกต่ำของหลายธุรกิจในประเทศไทย เพราะโรค COVID-19 ระบาดอย่างหนัก แม้จะมีบางช่วงที่ฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง แต่ภาพรวมทั้งปีก็ยังไม่โอเคอยู่ดี ซึ่ง Major Cineplex เบอร์หนึ่งของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย และระยะหลังเติบโตมาตลอด แต่ปี 2020 กลับขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
สำหรับรายได้ปี 2020 ของ Major Cineplex ปิดที่ 3,765 ล้านบาท ลดลง 65% เมื่อเทียบกับปี 2019 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,369 ล้านบาท ลดลง 213% และขาดทุนสุทธิ 527 ล้านบาท ลดลง 137% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจพอสมควร
เหตุผลหลักที่ทำให้ตัวเลขมันวิกฤตขนาดนี้มีทั้งการถูกสั่งปิดบริการชั่วคราวตามมาตรการสาธารณสุข และถึงจะกลับมาเปิดให้บริการได้บ้าง แต่ภาพยนตร์ระดับ Blockbuster หลายเรื่องเลื่อนฉายออกไป ทำให้ Major Cineplex ที่มีสัดส่วนรายได้ 46% มาจากการขายตั๋ว จึงไม่มีภาพยนตร์มาจูงใจให้ผู้บริโภคเสียเงินเข้ามารับชม
ดิ้นรนแค่ไหนก็ประคองรายได้ไม่ไหวจริง ๆ
แต่ในปี 2020 ทาง Major Cineplex ก็พยายามหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายป๊อปคอร์นเดลิเวอรี และป๊อบคอร์นสำเร็จรูปตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งยังเปิดให้เช่าโรงภาพยนตร์เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดประชุมสัมมนา และจัดคอนเสิร์ต แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยประคองยอดขายเอาไว้ได้
หากเจาะไปที่แต่ละผลิตภัณฑ์ เริ่มที่ป๊อปคอร์น และเครื่องดื่ม จะพบว่ามีรายได้เหลือเพียง 725 ล้านบาท ลดลง 65% ส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณา (รวมการเช่าจัดงาน) ทำรายได้ 573 ล้านบาท ลดลง 64% โดยธุรกิจค้าปลีกที่รายได้หลักมาจากการให้เช่าพื้นที่มีรายได้ลดลง 22% คิดเป็นอัตราน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ
ธุรกิจที่ช่วยเหลือ Major Cineplex จริง ๆ น่าจะเป็นธุรกิจภาพยนตร์ไทยมากกว่า เพราะ “อีเรียมซิ่ง” ที่มี เอ็ม พิคเจอร์ส ธุรกิจในเครือ Major ทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ของโรงภาพยนตร์ในเครือ Major ที่ 153 ล้านบาท แต่ถ้าเอาไปเทียบกับเบอร์หนึ่งปี 2019 อย่าง Avengers Endgame คงยาก เพราะทำยอดไปกว่า 753 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2021 ยังแก้ปัญหาไม่ตก
แม้วิกฤต COVID-19 เริ่มดีขึ้นในปี 2021 สุดท้ายโรงภาพยนตร์ยังเจอปัจจัยลบเดิม ๆ เช่นภาพยนตร์เลื่อนฉาย และเปิดบริการได้ไม่เต็มที่ ยอดขาย Major Cineplex ในไตรมาส 1 ปี 2021 จึงปิดที่ 853 ล้านบาท ลดลง 35% จากปี 2020 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 267 ล้านบาท ลดลง 31% ขาดทุนสุทธิ 120 ล้านบาท ลดลง 14%
แต่ถ้าเอาตัวเลขนี้ไปเทียบกับปี 2019 ตัว Major Cineplex เรียกว่าวิกฤตสุด ๆ เพราะไตรมาส 1 ปี 2019 มีรายได้ 2,400 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 182 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไร Major Cineplex จะมีตัวเลขกลับไปถึงระดับนั้น เพราะวิกฤติ COVID-19 ในประเทศไทยกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง
ที่น่าสนใจคือ รายได้ป๊อปคอร์น และเครื่องดื่ม ไตรมาส 1 ปี 2021 ปิด 195 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2020 แต่สัดส่วนของรายได้ธุรกิจนี้มาจากฝั่งเดลิเวอรีที่เริ่มเดือนเม.ย. 2020 ทั้งหมด 9% และช่องทางอื่นอีก 4% ที่เหลือ 87% เป็นการขายหน้าโรงภาพยนตร์ แม้จะน้อย แต่ก็ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสในอนาคต
สาขาจำนวนมากคือต้นทุนที่ต้องจัดการ
หากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยยังไม่กลับมาดีขึ้น Major Cineplex ที่ปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 817 โรงในไทย ทั้งที่อยู่ในศูนย์การค้าต่าง ๆ หรืออยู่ในค้าปลีกที่ Major Cineplex บริหารเอง และปี 2021 จะเปิดเพิ่มอีก 23 โรง คงต้องแบกรับต้นทุนทั้งค่าเช่า, พนักงาน และอื่น ๆ ไม่ต่างกับปี 2020
สำหรับต้นทุนบริการของ Major Cineplex ในไตรมาส 1 ปี 2021 อยู่ที่ 633 ล้านบาท ส่วนต้นทุนการขายอยู่ที่ 116 ล้านบาท รวมต้นทุนราว 750 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2020 ที่มีต้นทุนรวมราว 1,049 ล้านบาท แต่นั่นยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขาย 65 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหาร 295 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่ Major Cineplex ที่ประสบปัญหา เพราะ AMC Theatres โรงภาพยนตร์อันดับ 1 ของโลกยังไม่สามารถประคองธุรกิจไว้ได้ เพราะรายได้สุทธิจากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2021 ปิดที่ 148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีต้นทุนการขาย 401 ล้านดอลลาร์ จนสุดท้ายขาดทุนสุทธิ 567 ล้านดอลลาร์
สรุป
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Major Cineplex จะฟื้นธุรกิจให้กลับมากำไร เพราะโรค COVID-19 ในประเทศไทยยังระบาดอย่างต่อเนื่อง และภาพยนตร์ Blockbuster ก็ยังมีโอกาสเลื่อนตลอดเวลา ประกอบกับต้นทุนสาขาจำนวนมาก การจะดิ้นแค่ทำภาพยนตร์ไทย, ขายป๊อปคอร์นเดลิเวอรี และให้เช่าพื้นที่จัดงาน แค่นั้นก็คงไม่พอที่จะประคองธุรกิจแน่
อ้างอิง // Major Cineplex, AMC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา