Magic: The Gathering คือหนึ่งในการ์ดเกมชั้นนำของโลก ผ่านการเริ่มคิดค้น และจำหน่ายมากว่า 30 ปี มีการ์ดราคาแพงอย่าง Black Lotus ที่มีการซื้อขายกันจริง ๆ ด้วยราคา 5.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือล่าสุด Post Malone นักร้องชื่อดังมีการจ่ายเงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อการ์ดพิเศษแค่ใบเดียว
ในประเทศไทย Magic: The Gathering ถือเป็นหนึ่งในการ์ดเกมกลุ่มแรก ๆ ที่มีผู้เล่นนำมาเล่นกันอย่างจริงจังเมื่อราว 20 ปีก่อน และการ์ดเกมนี้ยังคงเป็นที่นิยมในประเทศไทยเช่นเดิม แม้จะต้องเผชิญกับการ์ดเกมที่ก่อตั้งมาหลายสิบปีเหมือนกัน หรือการ์ดเกมที่พัฒนาขึ้นใหม่มาดึงผู้เล่นไป
ปัจจุบัน Magic: The Gathering มีการทำตลาดอย่างไร และมีฐานผู้เล่นในประเทศไทยมากขนาดไหน Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ พัฒนกริช มุสิกะปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาวเออร์เกม เทรดดิ้ง จำกัด ตัวแทนจำหน่ายการ์ด Magic: The Gathering เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ดังนี้
ต้นกำเนิดของ Magic: The Gathering
พัฒนกริช มุสิกะปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาวเออร์เกม เทรดดิ้ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า Magic: The Gathering เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน โดย Richard Garfield นักคณิตศาสตร์ เป็นผู้ออกแบบการ์ดเกมดังกล่าว และจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา โดยยุคแรกจะเป็นการเล่นแข่งขันระหว่างผู้เล่น 2 คน โดยมีการ์ดคนละสำรับ สำรับละ 60 ใบ
ด้วยความสนุก และการตลาดแบบปากต่อปาก ทำให้ Magic: The Gathering เริ่มถูกเผยแพร่ออกมาในประเทศต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผ่านการมีผู้เล่นกลุ่มเล็ก ๆ จนขยายออกมาเป็นสังคมการ์ดเกม และมีการนำเข้ามาจำหน่ายอย่างถูกต้องหลังจากนั้น
ทั้งนี้ Magic: The Gathering เป็นหนึ่งในสินค้าของ Hasbro บริษัทของเล่นชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และทาง Hasbro ประเทศไทยเคยเข้ามาทำตลาด Magic: The Gathering ในประเทศไทยด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันได้ส่งไม้ต่อให้ บริษัท อาวเออร์เกม เทรดดิ้ง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย โดยบริษัทมีเครือข่ายร้านค้าอยู่ราว 100 ราย
ผู้เล่นหลักพัน ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของตลาด
ปัจจุบันฐานผู้เล่นการ์ด Magic: The Gathering ในประเทศไทยมีอยู่หลักพันคน ถือเป็นหนึ่งในการ์ดเกมที่มีผู้เล่นมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากในประเทศไทยหากรวมการ์ดเกมต่าง ๆ เช่น Yu-Gi-Oh!, One Piece และ Pokemon จะมีฐานผู้เล่นราว 5,000 คน ซึ่งผู้เล่นแต่ละรายมักจะเล่นการ์ดได้สูงสุดคนละ 2-3 ประเภทเท่านั้น
“ตลาดการ์ดเกมในไทยค่อนข้างคึกคัก ตัวแทนจำหน่ายการ์ดเกมแต่ละรายต่างจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดึงผู้เล่นใหม่ และทำให้ผู้เล่นเดิมกลับมาเล่นการ์ดอีกครั้ง แต่หากจะเล่นการ์ดเกมจริง ๆ ผู้เล่นต้องใช้เงินราว 2,000-3,000 บาท/สำรับ ดังนั้นพวกเขาจึงเล่นได้แค่ 2-3 การ์ดเกมเท่านั้น และถือเป็นการแข่งขันของแต่ละการ์ดเกมด้วย”
หากเจาะไปที่ Magic: The Gathering การ์ดเกมนี้มีการปรับตัวผ่านการแยกสินค้าสำหรับนักสะสม และสำหรับใช้เพื่อแข่งขัน เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับการจำหน่าย และตอบโจทย์ผู้ซื้อได้ทั้งสองกลุ่ม รวมถึงสร้างรูปแบบการเล่นที่เข้าถึงได้ทุกคนมากขึ้น ต่างกับ Yu-Gi-Oh!, One Piece และ Pokemon ที่ยังไม่มีการทำสองเรื่องนี้
Casual และ Collector สร้างเงินสะพัดในตลาด
พัฒนกริช เสริมว่า นอกจากการแข่งขันรูปแบบปกติ หรือ Standard ที่ใช้การ์ดสำรับละ 60 ใบ และเล่นกัน 2 คน Magic: The Gathering มีการทำรูปแบบ Commander ที่คล้ายกับการเล่นบอร์ดเกม กล่าวคือ เล่นพร้อมกันได้ 4 คน แต่ละคนมีการ์ดสำรับละ 100 ใบ ไม่จำกัดยุคของการ์ด และอาจใส่บทบาทสมมติเข้าไปเพื่อเพิ่มความสนุก
“การมี Commander ช่วยให้ Magic: The Gathering และร้านขายการ์ดเกมเข้าถึงผู้เล่นกลุ่มใหม่ได้ดีกว่าเดิม เพราะมันมีความสนุกคล้ายกับการเล่นบอร์ดเกม และผู้เล่นหน้าเก่าที่เลิกเล่นไปแล้วก็เอาการ์ดเก่า ๆ มาเล่นด้วยกันได้ ต่างกับ Standard ที่มีการกำหนดยุคของการ์ดไว้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นการ์ดที่จำหน่ายช่วง 2 ปีล่าสุดเท่านั้น”
นอกจากนี้ Magic: The Gathering ยังเห็นโอกาสในตลาดสะสม หรือ Collector ด้วยการจำหน่ายชุดการ์ดที่เน้นตอบโจทย์นักสะสม เช่น เป็นการ์ดลวดลายพิเศษ และการ์ดที่ร่วมกับตัวละครลิขสิทธิ์อื่น ๆ โดยจะจำหน่ายเป็นซอง หรือกล่องที่ราคาสูงกว่าปกติ เพื่อให้นักสะสมสามารถนำไปเก็บ หรือเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น
ขายการ์ดเป็นหลักจนมีรายได้รวม 126 ล้านบาท
สำหรับรายได้ บริษัท อาวเออร์เกม เทรดดิ้ง จำกัด ในปี 2022 มีรายได้รวม 126 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2021 โดย 80% มาจากการจำหน่ายการ์ด Magic: The Gathering แบบต่าง ๆ ที่เหลือเป็นการจำหน่ายบอร์ดเกมแบรนด์ต่าง ๆ และเกมเศรษฐี Monopoly รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับการ์ดเกม เช่น ซอง และแฟ้มใส่การ์ด
“เรามองว่าปี 2023 จนถึงปี 2024 บริษัทยังเติบโตในอัตราเดิม ล้อไปกับตลาดการ์ดเกมที่เติบโตในอัตราดังกล่าวเช่นกัน เพราะการ์ดเกม และบอร์ดเกมที่บริษัทจำหน่ายมีการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นมีการเข้ามาซื้อสินค้าใหม่ทุกปี และจะยิ่งเติบโตหากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเพิ่ม”
การทำตลาดของ Magic: The Gathering ในประเทศไทยจะทำผ่านร้านการ์ดเป็นหลัก เช่น การสนับสนุนสินค้าเป็นรางวัลในการแข่งขันประจำแต่ละร้าน รวมถึง บริษัท อาวเออร์เกม เทรดดิ้ง จำกัด มีการจัดแข่งขันในแต่ละไตรมาส พร้อมเปิดตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้การ์ดเกม และจัดการแข่งขันระดับประเทศต่อไป
ส่องราคาการ์ดเกม Magic: The Gathering
การ์ดเกม Magic: The Gathering ที่จำหน่ายในประเทศไทยเบื้องต้นจะแบ่งเป็นกล่อง หรือ Box แบบปกติ (Set Booster) ที่ภายในบรรจุซองที่ใส่การ์ดไว้ 30 ซอง แต่ละซองมีการ์ด 12 ใบ และมีการ์ดหายากทุกซอง ซึ่งกล่องแบบนี้จำหน่ายประมาณกล่องละ 4,000 บาท
ส่วน Collector Booster ที่แต่ละซองจะมีการ์ดพิเศษตอบโจทย์นักสะสมจะมีราคาซองละเกือบ 1,000 บาท และหากซื้อเป็นกล่องจะราคาเกือบหมื่นบาท เมื่อราคาสูงขนาดนี้จึงไม่แปลกที่การ์ดหายากบางใบจะราคาหลายพันบาท และด้วยความเป็นการ์ดสากล จึงนำไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน
- คุยกับ “วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์” ผู้อาสาพัฒนาตลาดการ์ดเกมในไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
- Mattel เปิดตัวของเล่นรักโลก เมืองสีเขียว-รถยนต์ไฟฟ้าของเล่น ให้เด็กคุ้นเคยเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ส่วนใหญ่คนทำธุรกิจร้านการ์ดเกมจะเริ่มมาจากเป็นผู้เล่น และขยับมาเป็นพ่อค้าขายการ์ดรายใบ จนต่อยอดมาสู่การเปิดร้าน ดังนั้นการทำธุรกิจร้านการ์ดเกมจึงเริ่มมาจากความชื่นชอบ และหลงใหลในการ์ดเกม โดยพวกเขาต่างมีวิธีสร้างรายได้ทั้งจากส่วนต่างการซื้อขายสินค้า และการสร้างสังคมในร้านให้แข็งแกร่ง” พัฒนกริช กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง // Magic: The Gathering
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา