สินค้าผลิตจากฮ่องกง แต่ติดป้ายว่า Made in China ทำลูกค้าตะวันตกหาย เพราะไม่มั่นใจคุณภาพ

บรรดาโรงงานในฮ่องกง เริ่มกังวลใจ หลังจากที่ต้องเริ่มผลิตสินค้าด้วยฮ่องกงเองแต่ต้องป้ายสินค้าว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากจีน Made in China เพราะทรัมป์ออกนโยบายนี้โดยอ้างว่าเป็นการโต้กลับจีนที่ออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ให้ฮ่องกง ทั้งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวฮ่องกงและจีนผิดสัญญาเรื่องการปกครองฮ่องกง 

Photo by Markus Winkler on Unsplash

สินค้าฮ่องกงติดป้ายผลิตจากจีน Made in China ทำลูกค้าขาดความเชื่อมั่น

นโยบาย Made in China ที่ทรัมป์เสนอเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ด้าน Jason Poon ผู้อำนวยการบริษัท Lockill ที่ผลิตอุปกรณ์ด้านการแพทย์ ทั้งที่ผลิตเพื่อขายในฮ่องกงและส่งออกต่างประเทศ ระบุว่า นโยบายดังกล่าวทำให้ฮ่องกงสูญเสียตลาดสหรัฐฯ ไป นโยบายดังกล่าวทำลายธุรกิจเขา เนื่องจากประเทศตะวันตกหลายชาติไม่มีความมั่นใจในสินค้าทางการแพทย์ที่ผลิตจากจีน 

Jason Poon ระบุว่า เมื่อมาตรการนี้ถูกประกาศใช้ ผู้ที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ กล่าวกับทางบริษัทว่า เขาพบว่า สินค้าที่ติดป้าย Made in China ทำให้ลูกค้ารับไม่ได้ ซึ่ง Lockill เป็นบริษัทผลิตหน้ากาก และไม่ใช่บริษัทนี้บริษัทเดียวที่ได้รับผลกระทบ หลายบริษัทขนาดเล็กในท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ตามจริงแล้วเป็นสินค้าที่ผลิตในฮ่องกง Made in Hong Kong แต่ต้องติดป้ายว่าเป็นสินค้าผลิตจากจีน Made in China 

ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงถือเป็นแหล่งผลิตที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู เป็นหนึ่งในเสือตัวที่ 4  ที่ประกอบด้วยเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ แต่หลังจากนั้นฮ่องกงก็มีต้นทุนทั้งแรงงานและค่าเช่าที่สูงมากขึ้น โรงงานในฮ่องกงจึงต้องย้ายทำเลไปผลิตอยู่ทางตอนเหนือของจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ขณะที่อุตสาหกรรมภาคการผลิตของฮ่องกงก็ไม่ค่อยสดใสนัก แต่ Poon เชื่อว่าการผลิตที่ติดป้ายสินค้าว่าเป็นสินค้าที่ผลิตเองจากฮ่องกง น่าจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ 

Photo by Simon Zhu on Unsplash

สหรัฐฯ ยุโรป คือลูกค้ารายใหญ่ที่ปฏิเสธสินค้าจากฮ่องกงที่ติดป้ายผลิตจากจีน

การส่งออกสินค้าจากฮ่องกงมายังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 3.7 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 477.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.7% ของการส่งออกโดยรวมเป็นเงินราว 4.78 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง ซึ่งก็รวมทั้งสินค้าที่ re-export คือการนำเข้ามาและส่งออกไปด้วย มูลค่ารวม 3.99 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง

Edward Yau รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจ ระบุว่า ขณะที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่ของสหัฐฯ ฮ่องกงซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก ผลกระทบจะตกหนักที่ภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดนี้โดยทันที 

เรื่องนี้ ทางกระทรวงได้ยื่นเรื่องไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ถึงประเด็นเรื่องการติดป้ายตามนโยบายของสหรัฐฯ ท่าทีเห็นค้านชาติสมาชิก WTO ดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของฮ่องกง อย่างไรก็ดี ข้อพิพาทดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรึกษาหารือในระยะเวลาเพียง 60 วัน แต่ฮ่องกงยังต้องการให้มีช่องทางการตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย 

Photo by Alison Pang on Unsplash

นโยบายที่ต้องติดป้าย Made in China ส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ผลิตจากฮ่องกงทันที โดยเฉพาะสินค้าด้านการแพทย์ ลูกค้าชาวตะวันตกหลีกเลี่ยงที่จะใช้สินค้าที่ติดป้ายว่าผลิตจากจีนเพราะเชื่อว่าสินค้านั้นมีปัญหา อาจกล่าวได้ว่า ลูกค้าชาวตะวันตกไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ผลิตจากจีน 

นอกจากนี้ สินค้าทางการแพทย์ที่ผลิตจากจีนหลายชิ้นก็ถูกรัฐบาลยุโรปไม่ยอมรับด้วย Poon ผู้ผลิตหน้ากากทางการแพทย์ในฮ่องกงระบุว่า สินค้าทางการแพทย์ที่ติดป้ายว่าเป็นสินค้าผลิตจากฮ่องกงมีความสำคัญมาก เพราะในสายตาของลูกค้า มองว่าฮ่องกงเป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว คุณภาพของหน้ากากที่ผลิตจากพื้นที่ที่พัฒนาแล้วย่อมมีคุณค่า น่าเชื่อถือ 

ไม่ใช่แค่สินค้าด้านการแพทย์ของฮ่องกงเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหา สินค้าที่เกี่ยวกับอาหารก็โดนพ่วงไปด้วย โรงงาน Koon Chun Sauce ระบุว่าก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1928 เป็นธุรกิจที่ทำกันมาสี่รุ่นแล้ว เป็นบริษัทที่ผลิตซอสถั่วเหลืองและเครื่องปรุงอาหารอื่น บริษัทผลิตสินค้าและส่งออกยังต่างประเทศ 90% ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ การตัดสินใจดำเนินนโยบายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อบริษัทโดยตรง นอกจากนี้ ก็มีสินค้าประเภทเครื่องประดับ อัญมณี แต่เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ จึงไม่กระทบมาก 

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา