มาเก๊า ไม่มีวันแทนที่ฮ่องกงได้?

ถ้าให้เลือกเหตุการณ์เด่นประจำปี 2019 การประท้วงที่ฮ่องกงย่อมต้องติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน และความขัดแย้งในฮ่องกงที่ยืดเยื้อยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ ในปีนี้ แถมคงลากยาวต่อไปในปี 2020 อีกนาน

เหตุผลสำคัญคงมาจากท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลปักกิ่ง ที่มุ่งมั่นจะสยบผู้ประท้วงในฮ่องกงให้จงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ปักกิ่งก็พยายามผลักดันเมืองอื่นๆ ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกแทนฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นเซินเจิ้น หรือ มาเก๊า ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต้องเดินทางมาเยือนด้วยตัวเอง

กรณีของมาเก๊าถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะมาเก๊ามีสถานะเป็น “1 ประเทศ 2 ระบบ” เช่นเดียวกับฮ่องกง แตกต่างจากเซินเจิ้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จริง แต่ยังอยู่ใต้การปกครองระบบปกติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่าทีของจีนที่ต้องการผลักดันมาเก๊า จึงจุดกระแสความสนใจว่า สถานะของมาเก๊าที่น่าจะเปิดกว้างต่อนักธุรกิจนอกจีนมากกว่าเซินเจิ้น จะทำให้มาเก๊ากลายมาเป็นตัวตายตัวแทนของฮ่องกงได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน Fraser Howie เขียนบทความลงใน Nikkei Asian Review ให้เหตุผลว่ามาเก๊าไม่มีวันแทนที่ฮ่องกงได้

ภาพจาก GettyImages

เหตุผลของ Howie มีตั้งแต่ ขนาดของมาเก๊าเองที่มีพื้นที่เพียง 3% ของฮ่องกง มีประชากรเพียง 10% ของฮ่องกง ไม่มีโมเมนตัมเพียงพอสำหรับการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และในมาเก๊าเองแทบไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพทางการเงิน การธนาคาร กฎหมาย บัญชี อยู่เลย การสร้างฐานผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ขึ้นมาจากศูนย์ถือเป็นงานช้าง ที่รัฐบาลจีนไม่น่าจะมีวันทำสำเร็จ

ต่อให้รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนอย่างการออกพันธบัตรของรัฐบาล-รัฐวิสาหกิจจีนที่มาเก๊า (เป็นพันธบัตรสกุลเงินหยวน) ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ของมาเก๊าดีขึ้นสักเท่าไร เพราะฐานรากของฮ่องกงที่มีมาช้านานนั้นแข็งแกร่งกว่ากันมาก

จะว่าไปแล้ว เมืองเศรษฐกิจในจีนอย่างเซินเจิ้นหรือเซี่ยงไฮ้ ยังมีต้นทุนที่ดีกว่ามาเก๊าด้วยซ้ำ ในแง่ความพร้อมด้านบุคลากรหรืออุตสาหกรรมทางการเงิน

แต่จุดเด่นสำคัญของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก คือการไหลเวียนของเงินทุนและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี รวมถึงการเปิดกว้างรับบุคลากรชั้นหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลกมาทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจีนยังมีนโยบายไปในทางปิดกั้นหรือควบคุมอยู่เช่นเดิม ย่อมไม่สามารถสร้างเมืองใหม่มาแทนที่ฮ่องกงได้ ไม่ว่าจะเป็นเซินเจิ้นหรือเซี่ยงไฮ้ ถ้ายังปิดกั้นอยู่แบบเดิม ก็ไม่น่าจะสำเร็จอยู่ดี

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา