เมื่อ Uber พลาด คู่แข่งอย่าง Lyft เลือกที่จะไม่ขยี้ซ้ำ แต่คงเรื่องจริยธรรมนำธุรกิจรักษายอดใช้

ปกติแล้วหากคู่แข่งพลาดพลั้ง คนที่เล่นอยู่ในธุรกิจเดียวกันก็คงส่งแผนมาอัดให้ยับลงไปอีก แต่นั่นไม่ใช่วิธีของ Lyft คู่แข่งรายสำคัญของ Uber ที่ไม่ส่งแผนการตลาดสกปรกมาซ้ำ กลับชูบริการที่ดี และรักษามารยาทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตแทน

จริยธรรมในการทำธุรกิจ คือสิ่งที่ปัจจุบันต้องการ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีองค์กรไหนเลือกจะอยู่นิ่งๆ เหมือนเดิม หรือไม่ได้รู้สึกยินดีที่คู่แข่งกำลังเกิดวิกฤต เพราะเมื่อมีโอกาสสร้างกำไร ใครๆ ก็อยากกอบโกยให้ได้มากที่สุด แต่นั่นเท่ากับความมีจริยธรรมในการทำธุรกิจแทบจะหดหายไป และทำให้ทุกอุตสาหกรรมนั้นใครสกปรกก็คงเป็นผู้ชนะ

John Zimmer ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานของ Lyft ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสาร และคู่แข่งสำคัญของ Uber ในตลาดสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่า ไม่ได้รู้สึกยินดีกับการที่คู่แข่งมีปัญหา รวมถึงเหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้บ่งชี้เป็นสัญญาณทางธุรกิจที่ดีที่ Lyft จะมีโอกาสเติบโตไปอีกระดับหนึ่ง

John Zimmer ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานของ Lyft (คนขวา) // ภาพจาก Facebook ของ Lyft

“มันไม่ใช่เรื่องที่จะมายินดีในตอนนี้ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมันแสดงให้เห็นถึงความต้องการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และความถูกต้องมากขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่ง Lyft ก็เลือกที่จะเป็นอย่างนั้น โดยไม่เลือกทุ่มการตลาดจำนวนมากเพื่อพาตัวเองเข้าเส้นชัย แต่จะคงเรื่องมารยาท และจริยธรรม รวมถึงความตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจ”

Nice-Guy Strategy ก็ทำให้ธุรกิจเติบโตได้

สำหรับการทำธุรกิจของ Lyft นั้น ทางองค์กรเลือกที่จะใช้ Nice-Guy Strategy หรือกลยุทธ์การปฏิบัติตัวอย่างน่ารัก และซื่อสัตย์ รวมถึงเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบันที่ทุกองค์กรแทบจะเน้นเรื่องการแข่งขัน จนลืมเรื่องจริยธรรมไปเสียหมด ซึ่งความเป็น Nice-Guy นั้น Lyft เป็นกับทั้งผู้ใช้บริการ, คนขับในระบบ รวมถึงคู่แข่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

Marketing ของ Lyft นั้นเป็นในแนวเข้าถึง และใกล้ชิดผู้ใช้ เช่นการนำหนวดสีชมพูไปแปะที่หน้ารถที่ขับกับ Lyft เพื่อสร้างความเป็นกันเอง // ภากจาก Facebook ของ Lyft

ตัวอย่างเช่น ฝั่งผู้ใช้บริการก็จะได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดี ไม่ใช่แค่แข่งขันกันในเรื่องราคาถูกเพียงอย่างเดียว รวมถึงคนขับรถก็มีการดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่กดขี่จนเกินไป ซึ่งปัจจุบันก็แทบไม่มีกรณีร้องเรียนกับ Lyft มากนัก และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ Lyft มียอดใช้บริการกว่า 70 ล้านเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปี 2559

ระดมทุน 600 ล้าน-ได้พาร์ทเนอร์กับผู้ผลิตรถยนต์

ขณะเดียวกันในเดือนเม.ย. Lyft ยังระดมทุนได้อีก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกอย่าง Jaguar และ Land Rover แต่ถึงอย่างไรคู่แข่ง Uber รายนี้ก็ยังเล็กกว่าเจ้าตลาดที่เพิ่งมีปัญหาทางธุรกิจไปหมาดๆ เพราะ Lyft กับบริการเรียกรถโดยสารรายอื่นมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐเพียง 25% โดยที่เหลือเป็นของ Uber

สรุป

จริยธรรมเป็นเรื่องดี เพราะทำให้การทำธุรกิจนั้นก้าวไปอีกขั้น และหนีจากคำว่าสงครามราคาไปไกล แต่มันก็ยากถ้าทุกรายมีจริยธรรมกันหมด เพราะอย่าง Uber ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจโต และให้บริการถึง 600 เมือง ก็มีมูลค่าธุรกิจสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า Lyft ถึง 10 เท่าตัว

อ้างอิง // The New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา