ย้อนรอย อาณาจักรแบรนด์หรู LVMH เบื้องหน้าสวยงาม เบื้องหลังสงครามเฉือนคม

หากลองให้นึกชื่อแบรนด์หรูมาสักชื่อ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของแบรนด์ภายใต้อาณาจักรสุดหรู LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์หรูชื่อคุ้นหูทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Givenchy, Céline, Dior แต่ความยิ่งใหญ่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะบริษัทในเครือยังมีแบรนด์อื่น ๆ อีกกว่า 70 แบรนด์ ครอบคลุมทั้งแฟชั่น เครื่องดื่ม ห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ อีกมากมาย

อาณาจักรอันยิ่งใหญ่นี้ก่อตั้งในช่วง 1980s จากไอเดียที่อยากรวมจับกลุ่มแบรนด์หรูเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยความร่วมมือจาก Alain Chevalier ตำแหน่ง CEO Moët Hennessy และ Henry Racamier ประธาน Louis Vuitton ในขณะนั้น จึงสามารถก่อตั้ง LVMH ขึ้นมาได้ หลังจากนั้นเพียง 2 ปี Bernard Arnault นักลงทุนชาวฝรั่งเศส ก็ได้กลายเป็น chairman ล้มทั้งสองผู้ก่อตั้งไปแบบเหนือชั้น

 

ทำไมแบรนด์ใหญ่อย่าง Louis Vuitton ถึงสนใจเข้าร่วมกับดีลนี้? 

ต้องบอกก่อนว่า Henry Racamier ที่กุมบังเหียน Louis Vuitton ในขณะนั้น ไม่ได้เป็นทายาทโดยสายเลือดของผู้ก่อตั้ง Louis Vuitton (ในชื่อเดียวกับแบรนด์) ด้วยซ้ำ 

เดิมทีธุรกิจเครื่องหนังนี้อยู่ในมือของทายาทมาโดยตลอด แต่พอถึงรุ่นที่สี่ ทายาทชายทั้ง 3 คนต่างก็ไม่ลงรอยกันในแนวทางการดำเนินธุรกิจ ใครคนหนึ่งขึ้นมาเป็นใหญ่คนเดียวก็คงไม่ดีแน่ เลยหันมาที่ทายาทฝั่งผู้หญิงบ้าง แต่เล็งไปที่ Henry Racamier ที่เป็นลูกเขยของตระกูล เป็นอันจบการหยุมหัวกันของสามพี่น้อง

แม้จะไม่ใช่ทายาทโดยสายเลือด แต่เมื่อธุรกิจอยู่ในมือ Henry Racamier แล้ว เขาสามารถทำให้ยอดขายเติบโตจาก 20 ล้านดอลลาร์ พุ่งทะยานสู่ 260 ล้านดอลลาร์ภายใน 6 ปี และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ

จนเมื่อปี 1987 ยอดขายยังแรงดีไม่มีตก พุ่งไปแตะหลักพันล้านดอลลาร์ พอเหมาะพอดีกับในตอนนั้น Moët Hennessy ผู้ผลิตแชมเปญและคอนญักสุดหรู ที่กำลังหวั่นใจว่ากิจการของเขานั้นจะถูกฮุบ หุ้นฝั่งครอบครัวก็มีอยู่แค่ 22% เลยเสนอให้มีการควบรวมกิจการในชื่อ LVMH เพื่อให้ทั้งคู่ (ทั้งฝั่ง LV และ MH) ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจสูงสุดในการบริหาร รวมทั้งยังรักษาธุรกิจของตนเองต่อไปอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย Henry Racamier เห็นว่าก็ไม่เสียหายอะไร แถมได้โอกาสขยายตลาด luxury business อีกด้วย

ก้าวเดียวที่พลาดของ Henry Racamier

หลังจากก่อร่างสร้าง LVMH ให้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ใช่ว่าจะจูงมือกันเดินสู่กองเงินกองทองอย่างที่คิด เกิดความไม่ลงรอยกันอยู่ไม่น้อยระหว่างฝั่ง LV และ MH ด้วยความกังวลเรื่องเดิม ๆ ของฝั่ง MH ว่าจะโดนเทคกิจการไปแบบไม่ทันตั้งตัว จึงไปหาพาร์ทเนอร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าหนึ่งให้เข้ามาถือหุ้น ซึ่ง Alain Chevalier ซึ่งตอนนั้นนั่งเก้าอี้ Executive Vice-President ของ LVMH  บอกว่า จะแบ่งหุ้นให้พาร์ทเนอร์แค่เล็กน้อยเท่านั้น ประมาณ 3.5% แต่พอถึงเวลาจริง ดันได้ไป 20% เต็ม ๆ

Henry Racamier เริ่มเห็นว่าฝั่ง MH ค่อนข้างจะตุกติก และกำลังมีอำนาจเหนือเขา ทั้งที่ตอนแรกบอกจะจับมือกันบริหารแท้ ๆ จึงไปขอให้นักลงทุนรายหนึ่ง ที่เป็นคนเทคกิจการ Boussac บริษัทแม่ของ Christian Dior มาเป็นพาร์ทเนอร์ในฝั่งของเขา โดยหุ้นเสนอให้ถึง 25% รวมกับฝั่ง LV แล้วถือว่าพอคานอำนาจกับฝั่ง MH ได้บ้าง

แต่ความสบายใจนั้นอยู่ได้ไม่นาน Henry Racamier พบว่านักลงทุนรายนั้นที่เขาคิดว่าเป็นพันธมิตร แอบไปจับมือกับพาร์ทเนอร์แอลกอฮอล์ของ MH ฝั่ง LV รู้เข้าก็ไม่พอใจ ทุ่มเงินซื้อหุ้นเพิ่ม หวังให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือให้มากที่สุด ฝั่งพันธมิตรหน้าใหม่ก็ไม่ยอม ซื้อกันไปซื้อกันมา แต่สุดท้าย LV ก็พ่ายให้กับพันธมิตร ที่ในตอนแรก หวังให้มาเป็นเป็นพาร์ทเนอร์ของตัวเองเพื่อคานอำนาจฝั่ง MH

และพันธมิตรที่ว่านั้น คือ Bernard Arnault เขาเริ่มปฏิบัติการทำแบบเดิมกับหลายบริษัท เริ่มซื้อหุ้นในบริษัททางอ้อมผ่านบริษัทลูกของ LVMH จนกระทั่ง LVMH เป็นเจ้าของสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ 

เข้าเค้าตาอินกับตานา และตาอยู่คว้าไปกินไม่มีผิด Alain Chevalier และ Henry Racamier ที่เริ่มรู้ตัวแล้วว่า Bernard Arnault กำลังจะเอาทุกอย่างไป จึงเปิดไอเดียจบสงคราม ด้วยการแยก LV กับ MH ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป Bernard Arnault รู้อย่างนั้นมีหรือจะยอม จึงทุ่มทุนซื้อหุ้น LVMH อีกครั้ง จน Alain Chevalier ไม่มีอำนาจมากพอที่จะออกสิทธิ์ออกเสียงอีกต่อไป 

ทีนี้ก็เหลือ Henry Racamier ที่ไม่อยากเสีย LV ที่เขาปั้นมาเองกับมือไป จึงเปิดศึกฟ้องการซื้อหุ้นของ Bernard Arnault ให้เป็นโมฆะ เพื่อให้เขาเสียสัดส่วนหุ้นและฝั่ง LV จะได้อำนาจกลับมา ฝั่ง Bernard Arnault ก็ไม่ยอม เอาเรื่องอายุมาฟ้องด้วย ว่าถึงเวลาที่ Henry Racamier ต้องเกษียณได้แล้ว แต่สุดท้าย ศาลเห็นว่าการซื้อหุ้นของ Bernard Arnault ไม่ได้มีความผิด Bernard Arnault จึงยังมีจำนวนหุ้นในมือเต็มจำนวนเท่าเดิม

เรื่องราวแสนวุ่นวาย หักเหลี่ยมเฉือนคมนี้ เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 2 ปีหลังจากก่อตั้ง LVMH เท่านั้น 

 

จากข้างต้น Bernard Arnault เดิมทีกิจการที่บ้านของเขานั้นเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ได้ยินข่าวว่า Boussac บริษัทแม่ของ Christian Dior ยื่นล้มละลาย เขาเลยใช้เงินจากที่บ้าน เข้าไปเทคกิจการ แต่เข้าไปเปลี่ยนแปลงบริษัทครั้งใหญ่ ด้วยการยุบธุรกิจบางส่วนลง ปลดพนักงานกว่า 9,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลง จน Christian Dior กลับมายืนได้อีกครั้ง จนกระทั่งโปรไฟล์ของ Bernard Arnault เตะตา Henry Racamier และได้ชักชวนเขาได้เข้าสู่เกมธุรกิจ LVHM

เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อปี 2018 ไว้ว่า “ในปี 1990 ผมมีไอเดียที่จะรวมเอาแบรนด์หรูไว้ด้วยกัน และตอนนั้นผมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้  มีคนบอกว่ามันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะรวมหลายแบรนด์เข้าด้วยกัน แต่ผมก็ทำมันก็สำเร็จ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คู่แข่งทุกรายพยายามเลียนแบบ พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ แต่พวกเขาก็พยายาม”

Bernard Arnault ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น Chairman ของ LVMH บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เนมหรูชื่อดังกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมทั้งสินค้าแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง น้ำหอม นาฬิกา เครื่องประดับ ร้านค้ารีเทล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในเครือ LVMH เช่น Louis Vuitton, TAG Heuer, Dior, Fendi, Rimowa และ Bvlgari เป็นต้น

นอกจากอาณาจักร LVMH แล้ว Bernard Arnault ยังถือหุ้นของ Christian Dior อีก 97.5% และ Christian Dior ก็ถือหุ้นใน LVMH อีก 41.2%

อาณาจักรสุดหรูนี้ประสบความสำเร็จ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการรวมกลุ่มของแบรนด์หรูเพิ่มขึ้นอย่าง Kering มีแบรนด์ในเครือที่หลายคนคุ้นหูเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Gucci, Balenciaga, Bottega Veneta, Yves Saint Laurent และ Alexander McQueen และยังมี Richemont สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ มีแบรนด์ในเครือที่หรูไม่แพ้กัน อย่าง Cartier, Chloé, Vacheron Constantin และ Van Cleef & Arpels

ถือเป็นการแข่งขันอันดุเดือดในธุรกิจ Luxury Brands และการแข่งขันนี้ผลักดันให้คนที่มองเห็นช่องทางธุรกิจก่อนใครอย่าง Bernard Arnault ได้กลายเป็น Top 10 มหาเศรษฐีของโลก ผู้มั่งคั่งด้วยธุรกิจจาก Luxury Brands ในขณะที่คนอื่นในลิสต์นั้น มักจะเติบโตจากสายเทคโนโลยี 

ลองมาดูกันว่าในตอนนี้ อาณาจักรอันยิ่งใหญ่อย่าง LVMH ได้มีแบรนด์ในเครือแบรนด์ใดบ้าง

เริ่มกันที่ฝั่งแฟชั่นและเครื่องหนัง ได้แก่ Berluti, Celine, Christian Dior, Emilio Pucci, Fendi, Givenchy, JW Anderson, Kenzo, Loewe, Loro Piana, Louis Vuitton, Marc Jacobs, Moynat, Off-White, Patou, Phoebe Philo, Rimowa, Stella McCartney

น้ำหอมและเครื่องสำอาง ได้แก่ Acqua di Parma, Benefit Cosmetics, BITE Beauty, Cha Ling, Fenty Beauty by Rihanna, Fresh Beauty, Parfums, Givenchy, Guerlain, Kenzo Parfums, KVD Vegan Beauty, Maison Francis Kurkdjian, Make Up For Ever, Marc Jacobs Beauty, Parfums Christian Dior, Perfumes Loewe, Sephora

นาฬิกาและเครื่องประดับ ได้แก่ Bulgari, Chaumet, Daniel Roth, Fred, Gerald Genta, Hublot, Repossi, TAG Heuer, Tiffany & Co., Zenith

ไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ Ao Yun, Ardbeg, Belvedere, Bodega Numanthia, Chandon, Château d’Esclans (Whispering Angel), Château Cheval Blanc, Château d’Yquem, Château Minuty, Cheval des Andes, Clos des Lambrays, Cloudy Bay, Colgin Cellars, Dom Pérignon, Glenmorangie, Hennessy, Krug, Mercier, Moët & Chandon, Newton Vineyard, Ruinart, Terrazas de los Andes, Veuve Clicquot, Volcan de mi Tierra, Woodinville

ร้านค้าปลีก ได้แก่ DFS, La Grande Epicerie, La Samaritaine, Le Bon Marché, Starboard Cruise Services, 24S

ธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ Belmond, Bulgari Hotel and Resorts, Maisons Cheval Blanc, Connaissance des Arts, Cova, Investir, Jardin d’Acclimatation, Le Parisien, Les Echos, Radio Classique, Royal Van Lent

ในปี 2022 LVMH กวาดรายได้ไปกว่า 79,000 ล้านยูโร โดยมีสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังเป็นตัวชูโรง แค่หมวดเดียวก็ทำรายได้กว่า 38,000 ล้านยูโร จากรายได้ทั้งหมด ตามมาด้วยร้านค้าปลีก นาฬิกาและเครื่องประดับ น้ำหอมและเครื่องสำอาง และปิดท้ายด้วยไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Bernard Arnault ถึงสามารถก้าวเข้าสู่ Top 10 มหาเศรษฐีของโลกได้ด้วยธุรกิจแบรนด์หรู ท่ามกลางเหล่านักธุรกิจฝั่งเทคโนโลยี 

 

อ้างอิง

https://www.lvmh.com/ 

https://insider.finology.in/success-stories/louis-vuitton-success-story 

https://www.thefashionlaw.com/lvmh-a-timeline-behind-the-building-of-a-conglomerate/ 

https://www.longtunman.com/31197 

https://fourweekmba.com/lvmh-revenue-by-segment/#:~:text=Over%20the%20years%2C%20fashion%20and,cosmetics%2C%20and%20wine%20and%20spirits

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา