ภาพรวมตลาดเฟอร์นิเจอร์ดูซบเซาเอามากๆ 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตแค่ 1-2% และล่าสุดปี 2559 ก็มีมูลค่า 80,000 ล้านบาท แต่ถ้าเจาะไปที่เฟอร์นิเจอร์หรูกลับเติบโต ทำให้ Sonder Living บริษัทเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมียมจากฮ่องกง ตัดสินใจบุกไทย
ตลาดหลักแข่งกันที่ราคา แต่เฟอร์หรูไม่ใช่
จากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจอั้นกำลังซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นเอาไว้ก่อน หนึ่งในสินค้านั้นคือเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน เพราะถ้ามีของเดิมอยู่แล้ว หรือไม่ขึ้นบ้านใหม่จริงๆ ก็คงไม่รู้จะซื้อไปทำไม จนแบรนด์ผู้ผลิตทั้งใน และต่างประเทศประกาศแคมเปญลดราคากันต่อเนื่อง เพื่อดึงกำลังซื้อเหล่านั้นมาให้ได้
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับไม่กระทบกับกลุ่มเฟอร์นิเจอร์หรู ที่เน้นคุณภาพของวัสดุ และดีไซน์ที่ตอบโจทย์ Lifestyle ของแต่ละบุคคล เพราะตลาดนี้ผู้ซื้อเป็นกลุ่ม B ถึงระดับ A++ ที่แทบไม่ถูกปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจซบกระทบมากนัก สังเกตจากอสังหาริมทรัพย์ระดับ Luxury ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านแนวราบต่างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อกลุ่มนี้
บุษกล เกียรติไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายการตลาดของ Sonder Living เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตลาดเฟอร์นิเจอร์หรูยังมีผู้เล่นไม่มาก ประกอบกับแต่ละรายไม่จริงจังกับตลาดนี้มากนัก เพราะยังติดกับการทำแบรนด์ย่อยของบริษัทเพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้ระดับกลางถึงล่างมากกว่า และจากช่องว่างนี้ ทำให้ Sonder Living ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
จริงจังกับตลาดนี้ ชูความ Affordable Luxury
“Sonder Living วางตัวเป็น Affordable Luxury หรือหรูหรา แต่เข้าถึงได้ ไม่เหมือนบางแบรนด์ที่จำหน่ายโซฟาตัวละเป็นล้าน โดยเราตั้งราคาไว้หลักพันถึงหลักแสนบาท ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็กๆ เช่นโคมไฟ จนถึงโต๊ะ, เตียงนอน และตู้ขนาดใหญ่ และทั้งหมดเป็นการออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ระดับโลก”
นอกจากนี้ความแตกต่างของ Sonder Living เมื่อเทียบกับคู่แข่งคือ AAT (Available Any Time) หรือรับสินค้าได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังสั่งซื้อ เพราะรายอื่นต้องรอรับการนำเข้าจากค่างประเทศเป็นเดือนๆ แต่บริษัทมีโรงงานที่เวียดนาม พร้อมกับคลังสินค้าหลายแห่งทั่วโลก ทำให้ส่งสินค้าได้เร็ว ประกอบกับตัว Flagship Store ในไทยเป็นเพียงจุดแสดงสินค้าเท่านั้น
ปีแรกตั้งเป้า 200 ล้านบาท เน้นขายเข้าโครงการ
ทั้งนี้ทาง Sonder Living ในประเทศไทยลงทุนทั้งการตลาด และสร้าง Flagship Store ราว 40 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ในปีแรกที่ทำธุรกิจไว้ราว 200 ล้านบาท ผ่านการจำหน่ายเข้าโครงการอสังหาฯ ระดับหรูต่างๆ กว่า 70% ส่วนที่เหลือเป็นการขายไปที่ผู้บริโภคโดยตรง และหลังจากนี้เตรียมขยายจุดจำหน่ายไปยังห้างเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ด้วย
สรุป
ตลาดเฟอร์นิเจอร์หรูยังมีโอกาสอีกมาก เพราะไม่มีใครเน้นตลาดนี้จริงๆ จังๆ ประกอบกับผู้ซื้อในตลาดนี้ยังไม่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจซบ ดังนั้นหากใครเข้ามาในตลาดนี้ พร้อมกับสินค้าที่โดดเด่น ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก และยิ่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์มีส่วนต่างกำไรค่อนข้างสูง การเติบโตในระยะยาวจึงเป็นไปได้เช่นกัน
สำหรับตัว Sander Living นั้นมีแบรนด์ดีไซน์เนอร์ย่อยประกอบด้วย Thomas Bina, Kelly Hoppen, Boyd, Andrew Martin, Maison 55, Nellcote Studio และ art Coup&Co ซึ่งทั้งหมดนี้จะเข้ามาขายในไทยทั้งหมด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา