“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ประโยคเด็ดที่นักลงทุนมักได้ยิน ได้ฟัง (อย่างรวดเร็ว) ทุกครั้งเมื่อมีการโฆษณา หรือพูดถึงเรื่องของการลงทุน แล้ว ความเสี่ยง ที่กำลังพูดถึงหมายถึงอะไร ทำไมนักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยง
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงที่กระทบกับความมั่งคั่งที่เกิดจากการลงทุน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องหลัก ๆ คือ
1 ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคา สามารถวัดได้ด้วยค่าทางสถิติ โดยวัดจากการแกว่งตัวของอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยงประเภทนี้ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ปกติจะน้อยกว่าหุ้น เป็นต้น ซึ่งการแกว่งตัวของอัตราผลตอบแทนอาจเกิดจากปัจจัยภาวะทางเศรษฐกิจ หรือ ปัจจัยเฉพาะตัวของหลักทรัพย์ที่กำลังลงทุนอยู่ ดังนั้น ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา ซึ่งส่งผลให้เมื่อต้องการขายหลักทรัพย์อาจพบกับการขาดทุน หรือได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดคิด
2 ความเสี่ยงถาวรที่เกิดจากการขายขาดทุน เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนไม่อยากพบ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูง เพื่อเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายมากขึ้นเป็นหลัก ในการหลีกเลี่ยงหรือชะลอการขาดทุนถาวร จากการขาดทุนบางท่านอาจใช้วิธี ไม่ขายไม่ขาดทุน แต่อาจต้องพบกับความเสี่ยงอีกประเภทที่ซ่อนตัวอยู่คือ ค่าเสียโอกาส ในการนำเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น เพื่อสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในอนาคต
ในการทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยง ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ “แก่นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ชื่อภาษาอังกฤษ “The Most Important Thing” แปลและเรียบเรียงโดยคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข
เรื่องความเสี่ยงถูกพูดถึงในบทที่ 5-7 เพื่อที่จะทำความเข้าใจความเสี่ยง ตระหนักถึงความเสี่ยง และการควบคุมความเสี่ยง ซึ่งถือได้ว่าการเข้าใจความเสี่ยงถือเป็นแก่นการลงทุนที่สำคัญ เนื่องจากในการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนในระยะยาวต้องการการบริหารความเสี่ยงที่ดีและเป็นระบบ และเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจ ตระหนักถึง และควบคุมความเสี่ยง ผมขอสรุปประเด็นสำคัญ 3 ข้อ เกี่ยวกับความเสี่ยงดังนี้
1 ทำความเข้าใจ Risk-Return ใหม่
โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงเรื่อง Risk-Return เรามักนึกถึงรูปกราฟเส้นตรง ที่แสดงว่า เมื่อความเสี่ยงสูงขึ้นผลตอบแทนจะมากขึ้น แต่หากพิจารณาให้ดี กราฟเส้นตรงที่เห็นอาจเป็นการวาดกราฟจากค่าเฉลี่ยของอัตราผลตอบแทนที่มีการกระจายตัวตามโค้งปกติ นั่นคือผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอาจมากหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยก็ได้ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง คือ การลงทุนที่มีความไม่แน่นอนของผลลัพธ์จากการลงทุนสูง หรือ โอกาสเกิดความเสียหายสูงนั่นเอง
2 ความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงไม่ได้หมายถึง อันตราย แต่หมายถึงความผันผวน
หรืออาจกล่าวได้ว่า ความผันผวนไม่ใช่ทั้งหมดของความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะ ความเสี่ยงที่แท้จริงของนักลงทุนคือ โอกาสขาดทุนถาวร การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ๆ ในราคาที่ต่ำมากพอ อาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงก็เป็นได้ กลับกันการเลือกลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนต่ำ มีความผันผวนต่ำ อาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากสำหรับผู้ที่กำลังเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ เนื่องจาก เงินจะไม่พอ ดังนั้น การเลือกลงทุนในสินทรัพย์เราไม่อาจพิจารณาจากความผันผวนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของผลตอบแทน ความเสี่ยง และวัตถุประสงค์ในการลงทุนด้วย
3 วัดผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ย Risk-Adjusted Return ด้วย Sharpe Ratio
Sharpe Ratio =
Sharpe ratio คือ การวัดอัตราผลตอบแทนส่วนเกินจากอัตราผลตอบแทนไม่มีความเสี่ยงที่กองทุนทำได้เมื่อเทียบกับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนกองทุน
ถึงแม้ว่า ความผันผวน จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเสี่ยงจากการลงทุน แต่หากเราสามารถลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนรวมหุ้น ที่มีความผัวผวนต่ำกว่าโดยให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน ก็คงจะดีไม่น้อย
เปิดตัว 4 กองทุนน้องใหม่ LTF RMF นโยบายความผันผวนต่ำ
1 กองทุนเปิดภัทร สมาร์ท มินิมั่ม โวลาติลิตี้ หุ้นระยะยาว (PHATRA SMART MINIMUM VOLATILITY LTF FUND): PHATRA SmartMV LTF
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหุ้นสามัญโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมโดย พิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและ/หรือลดความผันผวนของการลงทุนโดยรวมของกองทุน ทั้งนี้แนวคิดการสร้าง portfolio กองทุนจะมีเป้าหมายให้ความผันผวนที่คาด (Expected volatility) ของ portfolio อยู่ในระดับต่ำที่สุด ซึ่งการคาดการณ์ความผันผวนอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทจัดการกำหนดและการคาดการณ์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเช่นการกระจายการลงทุน สภาพคล่องของสินทรัพย์รายตัวเป็นต้น
กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน : กองทุนเปิดภัทร สมาร์ท มินิมั่ม โวลาติลิตี้ : PHATRA SMART MV
นโยบายการลงทุนของกองทุนรวม เน้นการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมีเป้าหมายเพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนของกองทุนโดยรวม เริ่มจดทะเบียนกองทุนวันที่ 23 มีนาคม 2559
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน และ 6 เดือน อยู่ที่ -3.19% และ 10.62% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ Bench Mark (SET 100 TRI) อยู่ที่ -1.67% และ 7.73% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2559) ด้วยผลการดำเนินงานระยะสั้นที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสรุปได้ว่านโยบายการลงทุนเน้นความผันผวนต่ำ จะส่งผลอย่างไรต่อผลตอบแทนในระยะยาว
พอร์ตการลงทุน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2559 พบว่า หุ้นที่ได้มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ BTS, BDMS, AOT, SPCG และ EGCO ในสัดส่วน 4.94%, 4.59%, 4.47%, 4.11% และ 3.93% ตามลำดับ
2 กองทุนเปิดทีเอ็มบี ไทย มิด สมอล ผันผวนต่ำ หุ้นระยะยาว: TMBTMSMVLTF
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหุ้นสามัญโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้น และ/หรือ หน่วย Infla และ/หรือ หน่วย Property รวมถึงหลักทรัพย์อื่นที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีจะไม่น้อยกว่าร้อยละ80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนโดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆข้างต้น ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับน้ำหนัก ที่เป็นส่วนประกอบของ Model ที่พัฒนาโดย FTSE Group (FTSE) ที่เรียกว่า FTSE Thailand Mid / Small Cap Minimum Variance (Total Return) โดยการนำหลักทรัพย์ในดัชนี FTSE Thailand Mid / Small Cap (Total Return) เข้าสูตรการคำนวณเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อให้ความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ (Minimum Variance) เมื่อเทียบกับดัชนี FTSE Thailand Mid / Small Cap (Total Return)
3 กองทุนเปิดทีเอ็มบี ไทย มิด สมอล ผันผวนต่ำ เพื่อการเลี้ยงชีพ: TMBTMSMVRMF
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหุ้นสามัญและ/หรือ หน่วย Infla และ/หรือ หน่วย Property รวมถึงหลักทรัพย์อื่นที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆข้างต้น ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับน้ำหนัก ที่เป็นส่วนประกอบของ Model ที่พัฒนาโดย FTSE Group (FTSE) ที่เรียกว่า FTSE Thailand Mid / Small Cap Minimum Variance (Total Return) โดยการนำหลักทรัพย์ในดัชนี FTSE Thailand Mid / Small Cap (Total Return) เข้าสูตรการคำนวณเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อให้ความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ (Minimum Variance) เมื่อเทียบกับดัชนี FTSE Thailand Mid / Small Cap (Total Return) ทั้งนี้บริษัทสงวนสิทธิที่จะพัฒนา/เปลี่ยนแปลง Model ที่อาจพัฒนาโดยบริษัทจัดการหรือผู้พัฒนาโปรแกรมรายอื่น โดยยังคงวัตถุประสงค์การลงทุนเช่นเดิม และถือว่าได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว
กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน: กองทุนเปิดทีเอ็มบี Thai Mid Small Minimum Variance (TMBTMSMV)
วัตถุประสงค์: เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารแห่งทุนของบริษัทที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กตามนิยามของ FTSE โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง portfolio ที่มีค่าความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับดัชนี FTSE Thailand Mid / Small Cap (Total Return) เริ่มจดทะเบียนกองทุนวันที่ 26 กันยายน 2559
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง: ตั้งแต่จดทะเบียนกองทุน ให้ผลตอบแทนประมาณ 1% เมื่อเทียบกับ Bench Mark ยังไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ
พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน: ไม่สามารถหาข้อมูลที่เป็นทางการจาก Fund Fact Sheet ได้
ที่มา: http://www.tmbam.co.th/v6/th/mutual-fund-detail.php?f=552
4 กองทุนเปิดเค มินิมั่ม โวลาติลิตี้ หุ้นระยะยาว K Minimum Volatility Quantitative LTF: KMVLTF
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหุ้นสามัญโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนใน SET ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET100 ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์แบบ Quantitative (Quantitative analysis) โดยใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทจัดการ และ/หรือ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยจำกัด(มหาชน) โปรแกรมจะคัดเลือกหุ้นและกำหนดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความผันผวนของผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด
กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน: กองทุนเปิดเค มินิมั่ม โวลาติลิตี้ หุ้นทุน (K-MVEQ)
นโยบายการลงทุน เน้นลงทุนเฉพาะหุ้นไทยในดัชนี SET100 โดยใช้กลยุทธ์ Minimum Volatility ใช้โปรแกรมคัดเลือกหุ้นและสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำสุด เริ่มจดทะเบียนกองทุนวันที่ 21 กรกฎาคม 2559
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง -2.3% ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559
ที่มา: https://www.wealthmagik.com/
พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน: ไม่สามารถหาข้อมูลที่เป็นทางการจาก Fund Fact Sheet ได้
จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 กองทุน LTF/RMF มีนโยบายหลักที่เน้นในเรื่องของการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนทั้งสิ้น แตกต่างกันที่สินทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุน โดยสามารถสรุปให้เห็นภาพง่าย ๆ ได้ดังนี้
สรุปนโยบายที่สำคัญ
สรุปค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุน
จากข้อมูลกองทุนใหม่ทั้ง 4 กองทุน เป็นกองทุนที่เน้นหนักในเรื่องของการควบคุมความผันผวนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงจากการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นเป้าหมายในเรื่องของการสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงานของกองทุน นอกจากนี้นโยบายย่อยในเรื่องของสินทรัพย์ที่ลงทุนของแต่ละกองทุนก็แตกต่างกัน ตั้งแต่เน้นไปที่ SET100 เน้นที่หุ้นขนาดกลางและเล็ก เป็นต้น ดังนั้นกองทุนแบบนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่กังวลกับความผันผวนของผลตอบแทน ไม่ได้เน้นการเติบโตของเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่านโยบายการลงทุนที่เน้นลดความผันผวนจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ ดังนั้น เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโยบานการลงทุนดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดความผันผวนแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยได้หรือไม่ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนที่แนะนำควรขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคาร หรือ ตัวแทนขายหน่วยลงทุน และโปรดจำไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
อ้างอิง
หนังสือชี้ชวนสรุปข้อมูลสำคัญ TMBTMSMVLTF: http://www.tmbam.co.th/pdfs/lfv_03.pdf
หนังสือชี้ชวนสรุปข้อมูลสำคัญ TMBTMSMVRMF: http://www.tmbam.co.th/pdfs/rfv_03.pdf
หนังสือชี้ชวนสรุปข้อมูลสำคัญ KMVLTF: http://www.kasikornasset.com/TH/FundDocuments/หนังสือชี้ชวนฉบับย่อ%20(Fund%20Fact%20Sheet)/KMVLTF.pdf
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา