อัตราการเกิดน้อยลง กำลังสร้างปัญหาให้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเพราะไม่มีคนเรียน

อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กำลังสร้างปัญหาให้บรรดามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น

คณะทำงานจากสภากลางเพื่อการศึกษา (Central Council for Education) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กำลังหาทางให้มหาวิทยาลัยต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับมือกับอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ

Japan

ขณะเดียวกัน สมาคมมหาวิทยาลัยแห่งชาติญี่ปุ่นก็ออกแถลงการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยได้เตือนมหาวิทยาลัยระดับชาติต่างๆ ว่า พวกเขากำลังเผชิญกับขีดจำกัดที่วิกฤต โดยคณะทำงานฯ ได้จัดการประชุมทุกเดือน นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีด้านการศึกษา Masahito Moriyama มอบหมายไว้เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

ในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ ทางคณะทำงานฯ ได้เสนอร่างรายงานชั่วคราวไปยังคณะอนุกรรมการสภากลางเพื่อการศึกษาอีก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มวางแผนเพื่อปภิรายประเด็นนี้อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเพื่อที่จะส่งรายงานขั้นสุดท้ายไปยังรัฐมนตรีภายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปีหน้า

เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ที่มีอายุ 18 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้านับจากช่วงที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดคือ 2.49 ล้านคนในปี 1966 ทั้งนี้ คณะทำงานได้ร่างรายงานชั่วคราวที่คาดการณ์ว่าเด็กอายุ 18 ปีจะมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง และจะมีจำนวนราว 8.2 แสนคนในปี 2040

คาดว่าจำนวนผู้คนที่เข้ามหาวิทยาลัยจะลดลงจากปีที่แล้วจาก 630,000 คน เป็น 510,0000 ในปี 2040 โดยคณะทำงานพยายามเน้นย้ำให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการมีนักศึกษามาเข้าเรียนหลากหลาย ต้องดึงดูดผู้คนในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งผู้ใหญ่ในวัยทำงานและนักศึกษาต่างชาติด้ย รายงานระบุไว้ด้วยว่า ให้รักษาระดับการลงทะเบียนให้ดี หากเน้นที่เด็กวัย 18 ปีเหมือนเดิมก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ยังมีการส่งร่างรายงานเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ไว้ด้วยว่า พวกเขากำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนคนสมัครเรียน ซึ่งก็รวมถึงการระงับการสมัครเรียน หรือแม้กระทั่งภาวะล้มละลาย ซึ่งก็จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม ทั้งนี้ ในร่างรายงานนั้นยังแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องเผชิญเป็นพิเศษด้วย การเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูงกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

รายงานดังกล่าวยังระบุไว้ด้วยว่า มหาวิทยาลัยเอกชนราว 53% ที่อยู่ในชนบทกำลังเผชิญปัญหาในการดึงดูดผู้สมัครให้มากพอและตรงตามความสามารถในการลงทะเบียนเรียนด้วย ซึ่งคณะทำงานยังได้เสนอขั้นตอนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม โดยมีการคัดกรองที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นและลดบทลงโทษสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาทางการเงินด้วย ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของคณะทำงานก็ได้พูดถึงรายงานว่า มันยังมีความคลุมเครือในประเด็นที่จะให้เพิ่มประสิทธิภาพจนถึงปี 2040

ด้านสมาคมมหาวิทยาลัยแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติรวม 82 แห่งทั่วประเทศ ก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงการแถลงข่าวฉุกเฉินเมื่อเดือนมิถุนายนว่า สถานการณ์ทางการเงินของพวกเขากำลังถึงขีดจำกัดของภาวะวิฤตแล้วท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น และยังมีการเรียกร้องให้ออกมาตรการบรรเทาทุกข์ ซึ่งก็หมายรวมถึงการเพิ่มงบอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับสนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานด้วย

ด้าน Kyosuke Nagata ประธานสมาคมและประธานมหาวิทยาลัย Tsukuba ได้แถลงข่าว โดยพูดถึงความท้าทายทางการเงินที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติต้องเผชิญด้วย เขากล่าวว่า การตรวจสอบงบการเงินของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่า พวกเขากำลังเผชิญปัญหาสำคัญ เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากจริงๆ เขาชี้ให้เห็นว่า มีต้นทุนด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็รวมถึงเบี้ยประกันสังคมด้วย

ทางมหาวิทยาลัย Tokyo กำลังหารือเกี่ยวกับการเพิ่มค่าเล่าเรียนที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ถูกกำกับภายใต้กฎกระทรวง ที่จะต้องมีค่าธรรมเนียมรายปีที่กำหนดไว้ที่ 5.3 แสนเยน ที่สามารถเพิ่มเป็น 6.4 แสนเยนได้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยยังคงค่าเล่าเรียนไว้ในอัตราตามมาตฐาน ก็อาจจะเพิ่มค่าเล่าเรียนให้ถึงขีดจำกัดสูงสุดด้วย

ทั้งนี้ หากปล่อยให้สถานการณ์วิกฤตดำเนินต่อไป บางพื้นที่อาจจบปัญหาด้วยการไม่มีมหาวิทยาลัยให้เรียนก็เป็นได้ ทางกระทรวงฯ ระบุว่า เราต้องการสนับสนุนให้ทุกคนคิดถึงเป้าประสงค์พื้นฐานของการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา

ที่มา – The Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา