ค้าปลีก-อสังหาฯ ปูพรม Net Zero โลตัส ติดแผงโซล่าครบพันสาขา แสนสิริ-สิงห์ เอสเตท ไร้มลพิษปี 2030

องค์กรขนาดใหญ่เดินหน้าแผน Net Zero ต่อเนื่อง โลตัส ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาสาขาครบ 1,000 แห่ง ในปี 2024 ด้าน แสนสิริ และสิงห์ เอสเตท เปิดแผนองค์กรไร้มลพิษยกระดับองค์กร พร้อมจูงใจลูกค้า

Net Zero

โลตัส กับแผน Net Zero ภายในปี 2050

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ตามเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และไมุ่งสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

หนึ่งในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของ โลตัส คือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาศูนย์กระจายสินค้าและสาขาทุกขนาด เพื่อผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าบางส่วน โดยแผนของการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังขาของโลตัสมีดังนี้

  • ปี 2021 ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาครบ 98 สาขา
  • ปี 2022 ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์อีก 468 สาขา
  • ปี 2024 ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์จนมีสาขาที่ผลิตไฟได้เองทั้งหมด 1,042 สาขา

ทั้งนี้ในปี 2022 โลตัสจะมีสาขาที่มีโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้เองทั้งหมด 566 สาขา รวมกำลังผลิต 101 เมกะวัตต์ หรือ 12% ของการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมดในธุรกิจ ส่วนในปี 2024 จะมีกำลังผลิตรวม 135 เมกะวัตต์ คิดเป็นประมาณ 13.4% ของการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมดในธุรกิจ

Net Zero

แสนสิริ เดินหน้า Net Zero ภายในปี 2050

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ. แสนสิริ เปิดเผยว่า ถึงภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงในปริมาณสูง แต่ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน

ปัจจุบันแสนสิริมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 229,486 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อันมาจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัทเพียง 4,939.74 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือคิดเป็น 2.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเท่านั้น แยกย่อยได้เป็น

  • ขอบเขตที่ 1 คือ การใช้น้ำมันในการดำเนินงานของแสนสิริ 0.2%
  • ขอบเขตที่ 2 คือ การใช้น้ำมันและพลังงานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ 2%
  • ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่มาจากห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Value Chain) รวมที่ 224,547.24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือ 97.8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

*ตัวเลขนี้สามารถแยกย่อยได้เป็นการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในอีก 60 ปีถึง 55% การซื้อวัสดุก่อสร้างจากคู่ค้า 29% การขนส่งสินค้าของคู่ค้า 2% และอื่นๆ 14%

แสนสิริมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัท (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ให้ได้ 20% ภายในปี 2025 และลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ให้อยู่ที่ 50% ในปี 2033 โดยมีเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net-Zero ให้ได้ภายในปี 2050

สิงห์ เอสเตท ขอเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำปี 2030

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า บริษัทมีแผนการเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำภายในปี 2030 โดยหนึ่งการเดินไปถึงจุดนั้น บริษัทจะกำหนดให้มีพื้นที่การสร้างพื้นที่สีเขียว ให้เท่ากับพื้นที่ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้าน ตร.ม. ภายใน 10 ปี

ล่าสุด สิงห์ เอสเตท เดินหน้าโครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว เริ่มที่ป่าต้นน้ำในบริเวณไร่สิงห์ปาร์ค จ. เชียงราย จำนวน 625 ไร่ และจะขยายต่อสู่ป่ากลางน้ำหรือป่าในเมือง โดยคาดว่าจะเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ต่อด้วยพื้นที่ป่าปลายน้ำ หรือป่าโกงกาง ที่เกาะพีพี ตั้งเป้าโครงการระยะยาว 10 ปี

สรุป

Net Zero ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักขององค์กรยุคนี้ เพราะผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นองค์กรใดที่เปลี่ยนแปลงได้ก่อน ย่อมสร้างความน่าสนใจ และต่อยอดเกี่ยวกับการเติบโตในธุรกิจได้ ซึ่งต้องดูว่า โลตัส, แสนสิริ และสิงห์ เอสเตท จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และเติบโตในธุรกิจได้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา