โลกจะเป็นอย่างไร สาวไทยก็ไม่หยุดสวย L’Oréal ปั๊มสินค้านวัตกรรม เร่งสปีดขึ้นเบอร์ 1 ตลาดไทย

ผู้หญิง กับความสวยเป็นของคู่กัน ดังนั้น Beauty Market จึงเติบโตขึ้นทุกปี และล่าสุดก็มีมูลค่าถึง 1.54 แสนล้านบาท เมื่อตลาดมันใหญ่ขนาดนี้ L’Oréal จึงไม่รอช้าที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มายกระดับสินค้า เพื่อขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง

เศรษฐกิจไม่กระทบอุตสาหกรรมความงาม

L’Oréal คือแบรนด์อันดับหนึ่งด้านสินค้าความงามของโลก มียอดขายกว่า 1.03 ล้านล้านบาท ผ่านแบรนด์สินค้าในเครือกว่า 40 แบรนด์ โดยในไทยนำเข้ามา 21 แบรนด์ตั้งแต่ระดับ Mass จนถึงกลุ่ม Luxury เช่น Garnier, NYX Professional, Kérastase, Lancôme และ La Roche-Posay ซึ่งสิ้นปี 2559 จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยไปทั้งหมด 123 ล้านชิ้น และสร้างยอดขายเติบโต 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมความงามที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ราว 6.5% จนยักษ์ใหญ่เครื่องสำอางจากฝรั่งเศสรายนี้เข้าใกล้เบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ในไทยเข้าไปทุกที

นาตาลี เกอร์ซไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถเติบโตได้เหนือกว่าอุตสาหกรรมความงามมาโดยตลอด แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะในประเทศไทยจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งปัจจัยนี้แสดงให้เห็นถึงคนไทยค่อนข้างใส่ใจเรื่องความสวยงาม และถึงเศรษฐกิจปี 2560 เศรษฐกิจก็ยังยากต่อการคาดเดา แต่อุตสาหกรรมความงามก็ยังมีโอาสเติบโตได้อยู่ โดยเฉพาะบริษัทเองก็ยังมีโอกาสเติบโตเหนือตลาดเป็น 2 เท่าตัวตลาดเช่นกัน

นาตาลี เกอร์ซไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

“จะบอกว่าปี 2560 จะเป็นปีที่ 6 ที่ L’Oréal ในประเทศไทยจะเติบโตเหนือตลาดก็ได้ เพราะตอนนี้มีหลายครัวเรือนที่ใช้งานสินค้าในเครือของบริษัทมากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ และช่วงไตรมาสแรกกของปี 2560 เราก็เริ่มต้นได้ดีมาก ดังนั้นเป้าหมายที่วางไว้ก็น่าจะทำได้แน่นอน โดยเฉพาะเป้าหมายขยับเข้าใกล้เบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมความงามในไทยที่จะทำได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่โหมตลาด เพราะะต้องการคงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว และพยายามจูงใจให้ผู้บริโภคใช้สินค้าของบริษัทที่มีหลากหลายประเภทด้วย”

นวัตกรรม-ดิจิทัล ช่วยขยับยอดขายยั่งยืน

ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดในปี 2560 นั้น L’Oréal จะแบ่งเป็น 4 ทิศทางคือ

  1. Consumer Centricity หรือการเป็นศูนย์กลางด้านความงามให้กับผู้บริโภค ทั้งเรื่องนัวตกรรมความงามต่างๆ และเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับความงาม เช่นการเพิ่มงบประมาณการสื่อสารบนโลกดิจิทัลอีก 30% และการมี Line Official Account ให้กับ 5 แบรนด์สินค้า เพื่อใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น
  2. Connected Beauty หรือการใช้ช่องทางออนไลน์ให้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขายผ่าน Ecommerce ทั้งภายใต้เว็บไซต์ของบริษัท และแพลตฟอร์มของพาร์ทเนอร์ เช่น Lazada และ Konvy จนมียอดขายช่องทางนี้เติบโตถึง 169% เมื่อเทียบกับปี 2559
  3. Great Employer หรือการสร้างเพิ่มตำแหน่งที่เกี่ยวกับดิจิทัลรวมกันราว 20 คน พร้อมกับดันทีมงานไทยขึ้นมาเป็นทีมบริหารหลัก เพื่อเข้าถึงตลาดได้ดีขึ้น
  4. Great Citizen หรือการช่วยเหลือสังคม ทั้งในแง่งานวิจัย และสร้างงานให้กับผู้หญิงในประเทศต่างๆ

ขณะเดียวกันปีนี้ L’Oréal ยังเตรียมนำเข้าสินค้ามากกว่าปี 2559 ที่มีสินค้าใหม่มากกว่าแบรนด์สินค้าคู่แข่งในประเทศไทยทุกราย

ภาพรวมอุตสาหกรรมความงามในประเทศไทย

เบอร์หนึ่ง Makeup และ Skincare

ทั้งนี้ถึง L’Oréal จะยังไม่เป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมความงาม แต่ถ้าแบ่งเป็นประเภท สินค้ากลุ่ม Skincare ยักษ์ใหญ่สินค้าความงามจากฝรั่งเศสรายนี้ครองอันดับ 1 ของตลาดในประเทศไทย และเหตุทีเป็นเบอร์หนึ่งได้เพราะเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรม และวางจำหน่ายสินค้า Skincare ใหม่ถึง 86 ตัว ส่วนสินค้ากลุ่ม Makeup ทางแบรนด์สามารถครองเบอร์หนึ่งในการจำหน่ายผ่านช่องทาง Modern Trade และกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นผมก็เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มร้านซาลอน และเติบโตเร็วที่สุดในช่องทาง Modern Trade

สรุป

นอกจาก Ecommerce จะเป็นอนาคตของธุรกิจค้าปลีกแล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมความงามก็เป็นอนาคตเช่นกัน และ L’Oréal ก็พยายามสร้างช่องทางนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยตอนนี้สัดส่วนยอดขายออนไลน์คิดเป็น 4.6% ของยอดขายในระดับโลก และถ้าในไทยยังโตต่อเนื่อง ก็น่าจะทำให้เป้าหมายเบอร์หนึ่งเรื่องยอดขายในไทยทำได้เร็วขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา