ฉีกกฎการสร้างตัวตนในโลกกีฬา Lonzo Ball นักบาสมหาวิทยาลัยผู้มีพ่อดัน แถมไม่สนแบรนด์ดังสปอนเซอร์

เป็นอีกกรณีศึกษาของการสร้างตัวตน เพราะนักบาสเก็ตบอลที่ยังไม่เคยเล่น NBA อย่าง Lonzo Ball กำลังจะมีรองเท้าภายใต้แบรนด์ของครอบครัว และจำหน่ายราคาคู่ละ 17,100 บาท ถ้าขายได้แพงขนาดนี้ แล้วทำไม Nike, Adidas ถึงไม่เอา

Lonzo Ball // ภาพจาก Facebook ของ Big Baller Brand

มีพ่อดัน และช่วยสร้างตัวตน

ก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้ Lonzo Ball ที่ปัจจุบันอายุ 19 ปี และเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะถูกคัดเลือก (Draft) เข้าไปเป็นผู้เล่นใน NBA ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิ.ย. หลังจากฉายแววโดดเด่นในการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ที่เล่นให้กับ UCLA ในตำแหน่ง Point Guard หรือคนที่ควบคุมจังหวะในการบุก และทำแต้ม

และคนที่ไม่ได้ติดตามบาสเก็ตบอลอาจเพิ่งได้ยินชื่อ Lonzo Ball แค่ช่วงนี้ แต่ถ้าใครที่เป็นแฟนกีฬายัดห่วงจะทราบว่า ชื่อ Lonzo Ball นั้นติดหูมาตั้งแต่การแข่งขันลีกมหาวิทยาลัยได้เริ่มต้นขึ้น เพราะ LaVar Ball ผู้เป็นพ่อได้ทำตัวเป็นข่าว และเที่ยวให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ในความเก่งของลูกตนเอง จนตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Lonzo Ball

LaVar Ball // ภาพจาก Facebook ของ Big Baller Brand

นอกจากนี้อีกหนึ่งวิธีในการสร้างตัวตนโดย Ball ผู้พ่อ คือการไปติดต่อสัญญาสนับสนุนรองเท้า และเครื่องแต่งกายกีฬาจากบริษัท Nike มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ Lonzo และลูกๆ ของเขาอีก 2 คน ซึ่ง Nike ก็ไม่สนใจ แถมบอกว่ากรณี Lonzo Ball คือ “The worst thing to happen to basketball in the last hundred years.” หรือสิ่งที่แย่ที่สุดที่เกิดขึ้นในวงการบาสเก็ตบอลในรอบหลายร้อยปี

และคงไม่แปลกที่ Lonzo จะไม่ได้ติดต่อจาก Adidas และ Under Armour รวมถึงแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน

มองแบบ Startup และสร้างแบรนด์เอง

เมื่อไม่ได้ติดต่อจากแบรนด์กีฬาใดๆ Ball ผู้พ่อจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์สินค้ากีฬาขึ้นมาด้วยตนเอง ภายใต้ชื่อ Big Baller Brand โดยสินค้าตัวแรกของบริษัทคือรองเท้ารุ่น ZO2 Prime เปิดให้สั่งจองได้ตั้งแต่ 4 พ.ค. และพร้อมส่งสินค้าภายใต้เดือนพ.ย. มากับราคาสูงลิ่วที่คู่ละ 495 ดอลลาร์ หรือราว 17,100 บาท โดยมี Lonzo Ball เป็นพรีเซ็นเตอร์

ZO2 Prime

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับรองเท้าบาสเก็ตบอลรุ่นที่มีชื่อนักกีฬาร่วมออกแบบ เช่น LeBron James ของ Nike, James Harden ของ Adidas และ Stephen Curry ของ Under Armour ทั้งหมดนี้มีราคา 120-175 ดอลลาร์ ดังนั้นการตั้งราคาของ ZO2 Prime จึงสูงมาก แถมนักกีฬาที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ยังไม่เคยเล่นใน NBA อีกด้วย

Ball ผู้พ่อ บอกแนวทางการสร้างแบรนด์ด้วยตนเองว่า เป็นการคิดแบบใหม่ คล้ายๆ กับการ Disrupt ของ Startup เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนักกีฬาคนดังคนใดมีแบรนด์สินค้าเป็นของตนเองก่อนเข้าวงการมาก่อน ดังนั้นถ้ามี แล้วเกิดโด่งดังขึ้นมา โอกาสการสร้างรายได้ก็น่าจะมหาศาล และดีกว่าที่จะเกาะอยู่กับแบรนด์กีฬาระดับโลกด้วย

สรุป

เห็นการสร้างตัวตนแบบนี้ก็นึกถึง “ลีซอ-ธีรเทพ วิโนทัย” ที่ได้พ่อที่เป็นผู้สื่อข่าวกีฬาช่วยสร้างตัวตน เพราะโด่งดังด้วยการเป็นนักเตะเยาวชนของคริสตัลพาเลซ และได้เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณามากมาย แต่กรณีของ Lonzo Ball นั้นอาจยากซักหน่อย เพราะส่วนใหญ่เป็นข่าวในแง่ลบ ประกอบกับการจะทำธุรกิจอุปกรณ์กีฬาก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็ต้องรอดูในลีก NBA ก่อนว่าจะมีทีมใด Draft นักกีฬาคนนี้ไปหรือไม่

อ้างอิง // Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา