Lombard Odier จับมือ KBank Private Banking สำรวจเหล่ามหาเศรษฐีในเอเชีย มองการลงทุนแบบยั่งยืนคือเรื่องสำคัญ

Lombard Odier จับมือกับ KBank Private Banking เปิดเผยผลสำรวจเหล่ามหาเศรษฐีในทวีปเอเชีย หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างมาก โดยมุมมองสำคัญคือการลงทุนแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องสำคัญหลังจากนี้

Wind Farm กังหันลม จีน
ภาพจาก Shutterstock

Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) จับมือกับ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) และพันธมิตรทางธุรกิจทั้ง 5 รายในภูมิภาคเอเชีย เผยผลสำรวจผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งศึกษามุมมองและข้อกังวลของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) และผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ในยุค New Normal พร้อมเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนบริการการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น

มุมมองต่างๆ ที่ Lombard Odier และพันธมิตรทางธุรกิจได้สำรวจมานั้นได้แก่

เรื่องของเทคโนโลยี

COVID-19 กลายเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ทั่วทั้งโลกต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในด้านการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล โดย 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียมองว่า การติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยที่คิดเห็นเช่นนี้มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและไพรเวทแบงก์ โดย 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์

และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์

มุมมองการลงทุน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังทำให้ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียมองเห็นถึงความผันผวนของตลาดมากขึ้น แต่นักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินในครั้งก่อนๆ ไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤตครั้งนี้มากนัก จากผลสำรวจพบว่า 70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน

สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วนเลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ด้วยแนวโน้มการหมุนกลับของโลกาภิวัตน์

ขณะเดียวกันผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายรายต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาด้านการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อเสนอแนวทางและให้คำแนะนำท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอน โดย 87% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร

โดยบริการ 3 อันดับแรกที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยให้ความสำคัญสูงสุด ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ

Thailand Forest ป่า ไทย
ภาพจาก Shutterstock

ความยั่งยืน

นอกจากนี้เหล่ามหาเศรษฐีเริ่มที่จะหันกลับมาตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งกระแสด้านความยั่งยืนคือหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจเลือกไพรเวทแบงก์ โดย 69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเทศไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สอง รองจากประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ก้าวต่อไปของไพรเวทแบงก์ไทย

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้เป็นการตอกย้ำความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติท่ามกลางวิกฤต COVID-19 และขณะเดียวกันทั่วโลกกำลังปรับตัวกับโลกในยุคหลังการแพร่ระบาด

KBank Private Banking พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ Lombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าในชีวิตวิถีใหม่ ได้แก่

  1. เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์
  2. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
  3. เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่ง
  4. เป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายงานฉบับเต็มจาก Lombard Odier สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ