จับตาตลาด Gaming โตสวนกระแสเศรษฐกิจ เหตุผู้ซื้อใช้อารมณ์ – เทคโนโลยีใหม่ เป็นปัจจัยเหนือราคา

ภาพรวมของตลาด Gaming ยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง หลังจากหลายฝ่ายเข้ามาสนับสนุนวงการนี้ เช่นแบรนด์คอมพิวเตอร์จัดการแข่งขัน E-Sport และให้ค่าโฆษณากับเหล่า Caster หรือนักพากย์เกมบนแพลตฟอร์ม Streaming ซึ่งทั้งหมดนี้เอง ทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับเกม หรือ Gaming Gear ขายดีตามไปด้วย แม้ราคาจะสูง แต่ก็ยังมีคนซื้ออยู่

เริ่มต้นก็เกิน 800 บาท ไล่ไปถึงเกินครึ่งหมื่น

ศิราณี วุฒิภดาดร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท โลจิเทค เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน Gaming Gear ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะด้วยราคาที่สูง ทำให้มีผู้เล่นเกมเพียงส่วนน้อยที่ตัดสินใจซื้อ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะ เพราะมี Caster และนักกีฬา E-Sport เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงพวกเขาต่างใช้ Gaming Gear ทำให้ผู้เล่นเกมต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นบ้าง และเริ่มหันมาหาซื้อกันมากขึ้น แม้ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้ยังค่อนข้างสูง หรือมากกว่า 800 บาทขึ้นไปในกลุ่ม Interbrand และขึ้นไปสูงสุดที่ 7,000 – 8,000 บาท ก็ตาม

“ต้องบอกว่า Gaming Gear ตอนนี้ไม่มีชะลอ แม้ภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เพราะ Gaming Gear เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม และทุกคนกล้าที่จะซื้อสินค้า แม้ราคาจะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเกี่ยวกับการเล่นเกมของแต่ละคน เช่น Feeling ในการใช้งาน รวมถึงความทนทานของสินค้า ซึ่งในแต่ละปีกลุ่มสินค้า Gaming Gear ในไทยเติบโตกว่า 50% ทั้งในแง่มูลค่า และจำนวน ผ่านการนำเข้าของ Distributor หลากหลายราย รวมถึงแบรนด์จีนที่นำเข้ามาทำตลาดในราคาประหยัดด้วย ดังนั้นตลาดเกมจึงเป็นตลาดที่มองข้ามไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ยิ่งต้องจริงจัง”

ศิราณี วุฒิภดาดร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท โลจิเทค

ปั้นแบรนด์ Logitech G สร้างรายได้ครึ่งหนึ่ง

และจากการเติบโตนี่เอง ทำให้ Logitec ตัดสินใจสร้างแบรนด์ Logitec G ขึ้นมา วางตำแหน่งเป็นแบรนด์ย่อยสำหรับทำตลาดสินค้า Gaming Gear โดยเฉพาะ ซึ่งในประเทศไทยได้ทำตลาดตั้งแต่ปี 2558 เริ่มต้นด้วยสินค้า Mouse ที่มีความทนทาน สามารถปรับปุ่มได้หลาย มีทั้งแบบมีสาย และไร้สาย ราคาเริ่มต้นที่ 800 บาท ล่าสุดนำเข้าตระกูล Prodigy ที่เป็น Gaming Gear คุณภาพสูง มาเจาะตลาดประเทศไทย ผ่านการร่วมมือกับจุดจำหน่ายทุกแห่ง เพื่อนำสินค้าตัวจริงไปให้ทดลอง เพราะกลุ่ม Gamer ต้องการรู้ความรู้สึกของการใช้สินค้าจริงก่อนซื้อ

ขณะเดียวกัน Logitech ยังทำตลาด Gaming Gear เต็มรูปแบบ หรือรวมถึง Keyboard และ Headset ในระดับ Gaming เช่นกัน โดยใช้กลยุทธ์โปรโมทแบรนด์ผ่าน Social Network และร่วมกับนักกีฬา E-Sport ไทย รวมถึงจัดการแข่งขันเกม ทำให้ปัจจุบันรายได้ของ Logitech ในประเทศไทย 40% มาจากสินค้า Gaming Gear และปีหน้าอาจมากกว่านี้ได้ เพราะตัวมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่าสินค้าปกติมาก และไทยถือเป็นอีกประเทศสำคัญในการทำตลาดของบริษัท ดังนั้นการทุ่มงบการตลาดเขามาทำเรื่องอื่น เช่นเปิดหน้าร้าน Flagship Store เหมือนที่มาเลเซีย และสิงคโปร์ก็มีสูง

มั่นใจ Switch Brand ทำรายได้แตะ 700 ล้านบาท

ศิราณี ย้ำว่า ในปี 2560 การจำหน่ายสินค้า Logitech ในประเทศไทยต้องทำได้ 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 700 ล้านบาท) เพราะจะใช้งบการตลาดราว 10% ของเป้าดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ Gamer ตัดสินใจเปลี่ยน หรือ Switch Brand ผ่านสินค้าที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าไปทำตลาดกับสถาบันการศึกษาโดยตรง เพราะหนึ่งใน Gamer คือเด็กวัยรุ่น ดังนั้นการเข้าไปหา และให้ทดลองสินค้าได้เต็มที่ ก็มีโอกาสให้พวกเขาตัดสินใจซื้อได้ แม้คนเหล่านี้จะยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ปกครองจะซื้อให้ใช้

สรุป

Gaming Gear ตอนนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยม และมีหลากหลายแบรนด์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ดังนั้นปี 2560 จะเห็นการแข่งขันของแต่ละแบรนด์ที่สูงกว่าเดิม และทั้งหมดนี้จะไม่แข่งขันในเรื่องราคา เพราะผู้เล่นเกมไม่ได้มีเรื่องนี้เข้ามาเป็นปัจจัยในการซื้อ แต่จะแข่งขันที่เทคโนโลยี และการประชาสัมพันธ์แบรนด์มากกว่า แต่ใครจะเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ก็คงต้องดูต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา