จากจุดยืนที่เคยแข็งแกร่งในการเป็น Gift Destination หรือที่แห่งแรกที่ต้องมาซื้อของขวัญ วันนี้ Loft ต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นไลฟ์สไตล์ช้อป กระตุ้นให้ลูกค้ามาถี่ขึ้น ไม่ใช่แค่มาซื้อของขวัญปีละหน
จุดแข็งกลายเป็นข้อจำกัด
ร้าน Loft (ลอฟท์) ไลฟ์สไตล์ช้อปจากประเทศญี่ปุ่น ในยุคหนึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในร้านขายของขวัญยอดนิยมของวัยรุ่นไทย จุดเด่นของลอฟท์จึงเป็น Gift Destination ที่ต้องมาซื้อของขวัญที่นี่ เพราะสินค้าดูเก๋ และดูพรีเมี่ยมกว่าที่อื่น เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น
ลอฟท์ในประเทศไทยบริหารงานโดย “สยาม สเปเชียลลิตี้” ในเครือสยามพิวรรธน์ ตอนนี้ทำตลาดได้ 20 ปีแล้ว สภาพการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มีร้านไลฟ์สไตล์ ร้านกิฟท์ช้อปเกิดขึ้นมากมายทั่วมุมเมือง จึงทำให้ลอฟท์ต้องขยับตัวครั้งใหญ่
ได้ปรับภาพลักษณ์ตนเองให้เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพราะจากเดิมที่เป็น Gift Destination กลายเป็นข้อจำกัดที่ผู้บริโภคมักจะมาที่ร้านเพียงแค่ช่วง “เทศกาลปีใหม่” ที่มองหาของขวัญให้ผู้อื่น หรือหาของขวัญไปจับฉลาก นั่นคือในแต่ละปีจะมาเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง
เพิ่มไอเดียของขวัญ-เพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์
การแก้เกมของลอฟท์จึงมึ 2 ส่วนใหญ่ 1. การเพิ่มไอเดียของขวัญตามโอกาส เช่น Gift for her, Gift for him, Gift for family ของขวัญวันพ่อ วันแม่ รวมถึงจัดกลุ่มเป็นของขวัญในงบ 500 บาท หรือ 1,000 บาท สำหรับจับฉลาก เพื่อเพิ่มโอกาสในการมาร้านมากขึ้น และสะดวกในการหาของขวัญ ให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ซึ่งการทำไอเดียของขวัญเริ่มทำตั้งแต่ปี 2559 แต่ปีนี้ทำให้กว้างขึ้น เพราะเห็นผลตอบรับที่ดี
2.เพิ่มสินค้ากลุ่มความงาม และตกแต่งบ้าน เริ่มเพิ่มสินค้า 2 กลุ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเห็นเทรนด์ของผู้บริโภคที่สนใจมากขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปรับภาพลักษณ์ของลอฟท์ให้เป็นไลฟ์สไตล์ ดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านถี่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาแค่ช่วงเทศกาล
กฤษดา รินทรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม สเปเชียลลิตี้ จำกัด กล่าวว่า
“จากที่ได้สำรวจกับผู้บริโภค พบว่าหลายคนมองว่าลอฟท์เป็นร้าน Gift Shop จะมาเพื่อหาของขวัญ หรือเครื่องเขียน ทำให้เรามาปรับการทำงาน ปรับ Business Model ใหม่ ให้เป็นไลฟ์สไตล์ จึงเพิ่มสินค้ากลุ่มความงาม และสินค้าใช้ในบ้านเข้ามา เพื่อกระตุ้นทราฟิกให้สูงขึ้น ให้คนมาถี่ขึ้น ไม่ใช่แค่ร้านขายของกระจุกกระจิกที่มาแค่ปีละครั้ง”
กฤษดาเสริมอีกว่า ความท้าทายในการสร้างแบรนด์ในตอนนี้ ต่างจากในอดีตอยู่ที่ต้อง Educate ผู้บริโภคไม่ให้ติดกับภาพร้าน Gift shop ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้มีการทำ Workshop ต่างๆ เช่น ทำกาแฟ แต่งหน้า เพื่อต้องการฉีกภาพ Gift shop อย่างเดียว
อยากโตต้องโกออนไลน์
ลอฟท์ได้เริ่มขยายสู่ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ปี 2559 เช่นกัน มีช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ เพราะมองเห็นเทรนด์ผู้บริโภคช้อปออนไลน์มากขึ้น ซึ่งความสำคัญของการขยายออนไลน์ของลอฟท์ในครั้งนี้ไม่ใช่ “เม็ดเงิน” แต่เป็นเรื่องการขยายฐานลูกค้า และเช็คเรตติ้งในการขยายสาขาสู่ต่างจังหวัด
“การทำช่องทางออนไลน์หวังในเรื่องของการสื่อสารว่าลอฟท์มีสินค้าอะไรบ้าง เพื่อนำลูกค้าให้กลับมาที่ร้าน และต้องการขยายกลุ่มลูกค้าไปกลุ่มใหม่ๆ อย่างต่างจังหวัดที่ยังไม่มีสาขา พบว่าได้ผลตอบรับดี ลูกค้าออนไลน์ 50% มาจากต่างจังหวัด”
พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือลูกค้าออนไลน์มีการใช้จ่ายต่อบิลสูงกว่าปกติ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,800-2,000 บาท/บิล ปัจจุบันออนไลน์มีสัดส่วนรายได้เพียงแค่ 1% เท่านั้น มีการตั้งเป้าให้มีสัดส่วน 5-10% ภายใน 5 ปี
เปิดสถิติร้านลอฟท์
- ปัจจุบันลอฟท์มีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี่, เมกา บางนา, สเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และพาราไดซ์ พาร์ค
- สินค้าขายดี 5 อันดับแรก ได้แก่
1. เครื่องเขียน 26% โต 25%
2. วาไรตี้ (ของสะสม ตุ๊กตา) 25% โต 20%
3. สินค้าไอที 25% โต 40%
4. สุขภาพและความงาม 13% โต 70%
5. ของใช้ในล้าน 8% โต 20% - จำนวนสมาชิก 100,000 ราย
- กลุ่มลูกค้าแบ่งเป็น สมาชิก 40% คนทั่วไป 35% และนักท่องเที่ยว 25%
- กลุ่มลูกค้าหลัก อายุ 25-40 ปี 65% นักเรียน 20% และผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป 15%
- จำนวนทราฟิกรวมทุกสาขา 3,000 คน/วัน
- ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 700 บาท/บิล
- สินค้านำเข้า 70%
สรุป
- ไม่มีธุรกิจใดในโลกที่ไม่ต้องปรับตัว เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน จึงต้องหมุนให้ทันผู้บริโภค
- การที่ลอฟท์หันมาโฟกัสที่ไลฟ์สไตล์มากขึ้นนั้น ย่อมได้ผลดีขึ้น ทำให้ลูกค้าอยู่ในร้านได้นาน และเข้าร้านถี่ขึ้น จากเดิมที่มาแค่เฉพาะเทศกาล
- ข้อจำกัดของลอฟท์ยังอยู่ที่จำนวนสาขาที่น้อย แต่ก็ถือว่าครอบคลุมโลเคชั่นสำคัญ การขยายไปออนไลน์ช่วยให้ธุรกิจโต โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูงเท่าเปิดสาขา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา