หรือเครื่องสำอางเกาหลีจะเสื่อมความนิยม หลังแบรนด์ Top 10 ต่างทยอยปิดสาขาในประเทศต่อเนื่อง

“อยากสวยเหมือนสาวเกาหลีจัง” คือประโยคที่สาวๆ ในยุค 2000 ต้องเคยคิดอยู่ในใจบ้างแหละ แต่ประโยคนี้คงหายไปจากความคิดในปัจจุบันไปบ้างแล้ว และกลายเป็นตัวแปรสำคัญให้แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีเสื่อมความนิยม

ภาพโดย Albertao YeungLoun (Own work) [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons

ปิดสาขาในเกาหลีอย่างหนักในรอบหลายสิบปี

ก่อนหน้านี้ความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะศิลปินดาราที่มีหน้าตาสะสวยเป็นเอกลักษณ์ และการจะสวยในแบบนั้นได้ เครื่องสำอางก็มีส่วนสำคัญ เหตุนี้เองเครื่องสำอางท้องถิ่งของเกาหลี ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น Etude, Innisfree หรืออื่นๆ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แต่ความสนุกในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางท้องถิ่น หรือที่เกาหลีเรียกว่า Road Shop เพราะร้านต่างๆ จะตั้งอยู่ริมถนน นั้นเริ่มหมดไป หลังวัฒนธรรมเกาหลีเริ่มเสื่อมความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จนในเดือนพ.ย. 2560 กลายเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่อัตราการเปิดสาขาใหม่ในเกาหลีใต้ของแบรนด์เครื่องสำอางท้องถิ่นติดลบ 1.3%

หรือเหลือหน้าร้านเครื่องสำอางท้องถิ่นทั่วประเทศ 6,035 แห่ง เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. ของปี 2559 โดยหน้าร้านเหล่านี้ประกอบด้วยสาขาของแบรนด์ Missha, Innisfree, The Face Shop, Etude, It’s Skin, Nature Republic, Tony Moly, Skinfood, Banilaco และ The Saem ซึ่งสาวๆ หลายคนน่าจะรู้จักกันดี

หน้าร้าน Olive Young // ภาพจาก Facebook ของ Olive Young

ปรับสู่ Multi-Brand Shop ตามสมัยนิยม

และถ้าเจาะไปแต่ละแบรนด์ The Face Shop ดูจะมีอาการหนักที่สุด เพราะมีหน้าร้านลดลง 11.1% เหลือ 1,070 แห่ง จาก 1,204 ในปี 2558 รองลงมาเป็น Missha ที่ลดลงเหลือ 699 แห่ง จาก 739 แห่งในปี 2557 และ Nature Republic ลดลงเหลือ 714 แห่ง จาก 778 แห่งในปี 2558

หากย้อนไปปี 2554 หน้าร้าน Road Shop ในเกาหลีใต้มีทั้งหมด 3,500 แห่ง เพิ่มขึ้น 60% เป็น 5,600 แห่งในปี 2556 แต่เหตุการณ์นี้คงเกิดยาก เพราะทิศทางเครื่องสำอางที่นี่ได้ปรับสู่ร้าน Multi-Brand ไม่ใช่ร้านขายแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งต่อไป เช่นร้าน Olive Young ที่มีหน้าร้านกว่า 950 สาขา เพิ่มขึ้น 72.1% จากปี 2015

ในไทยก็เสื่อมความนิยมไม่แพ้กัน

ขณะเดียวกันกระแสความนิยมในเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีข้างต้นก็เริ่มไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต หลังแบรนด์ต่างชาติ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มทำราคาให้เอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น ประกอบกับทิศทางร้าน Multi-Brand Shop ที่ได้รับความนิยมกว่า เช่น Eveandboy เพราะมีสินค้าให้เลือกได้หลากหลาย เริ่มเข้ามาแทนที่ด้วย

ภาพหน้าร้าน Etude House ในไทยเมื่อ 5 ปีก่อน // ภาพจาก Facebook ของ Etude House Thailand

สรุป

ต้องรอดูว่าการปรับตัวของแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะถ้ายังอยู่เฉยๆ ก็ต้องรอวันที่จะล่มสลายไปทีละแบรนด์แน่ๆ ส่วนแบรนด์ที่นำเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างถูกต้อง ก็เจอกับร้านรับฝากหิ้วที่ราคาถูกกว่า รวมถึงแบรนด์ฝรั่งที่ได้รับความนิยมมากกว่าเดิม และทำให้สมรภูมิเครื่องสำอางในประเทศไทยก็ดุเดือดไม่แพ้ที่ไหนๆ

อ้างอิง // The Korea Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา