แข่งเงินเดือน – แย่งพริตตี้ หน้าที่หลักผู้ให้บริการไลฟ์โชว์

ปัจจุบันกระแสการใช้บริการแอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง เช่น Bigo Live (บีโก ไลฟ์) และ It’s Me (อิทส์มี) เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับ 2 – 3 เดือนก่อน อาจเพราะความจำเจของเนื้อหา ประกอบกับผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มจาก 2 ราย กลายเป็น 6 – 7 ราย และมีข่าวหลอกลวงเงิน ทำให้ผู้บริโภคหันไปสนใจบริการอื่นมากขึ้น

มีถึง 4 แอปไลฟ์สตรีมมิ่งที่ติดท็อปกรอสซิ่งในหมวดโซเชียล
มีถึง 4 แอปไลฟ์สตรีมมิ่งที่ติดท็อปกรอสซิ่งในหมวดโซเชียล

ลงทุนสูง แต่รีเทิร์นไม่คุ้ม

ส่วนใหญ่แล้วแต่ละแอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งจะมีดีเจ หรือเจ้าของแชแนลภายในแพลตฟอร์มเหล่านั้น เป็นคนหน้าตาดี และดีเจบางรายมีงานประจำเป็นพริตตี้ตามงานต่างๆ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความแตกต่างกับแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เพราะผู้ใช้แอปไลฟ์สตรีมมิ่งสามารถติดตามชีวิตของพริตตี้ได้แบบสดๆ และไม่ใช่แค่ภาพนิ่ง แต่เป็นภาพเคลื่อนไหว แต่ใช้ว่าพริตตี้ที่อยู่ในแอปไลฟ์สตรีมมิ่งจะเข้ามาใช้งานเอง เนื่องจากเจ้าของแอปเหล่านั้ต่างลงทุนจ้างพริตตี้เพื่อดึงดูดผู้ใช้ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ธนาชัย ชัยชำนะภัย หัวหน้าผู้ดูแลดีเจ แอปพลิเคชั่นอิสท์มี ยอมรับว่า การลงทุนจ้างพริตตี้สาวสวยเข้ามาถ่ายทอดสดชีวิตตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่นไลฟ์สตรีมมิ่งต่างๆ เป็นวิธีเพิ่มยอดผู้ใช้งานได้เร็วที่สุด และถึงตอนนี้ก็มีผู้ใช้กว่า 1 ล้านราย เพราะคอนเทนต์นี้มีผู้ต้องการติดตามอยู่มาก สังเกตจากยอดติดตามบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่นเฟสบุ๊ก กับอินสตาแกมก็มีผู้ติดตามใกล้เคียงดารานักแสดงบางคน แต่การจูงใจพริตตี้เหล่านี้เข้ามาเป็นดีเจจำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินค่าจ้างเพิ่มเติม ซึ่งบางคนก็สามารถทำเงินคืนให้กับบริษัท แต่บางคนก็ทำได้ไม่ขนาดนั้น

“ทุกอย่างเป็นต้นทุน อย่างพริตตี้ในแอปไลฟ์สตรีมมิ่งอื่นๆ ก็จ้างเข้ามาทั้งหมด และมีการเซ็นสัญญาไม่ให้ไปไลฟ์ในแอปอื่น  รวมถึงไลฟ์เกินเวลาก็มีโอทีให้ แต่พอหมดสัญญาทุกค่ายก็จะแข่งขันกันผ่านการเสนอเงินค่าตัว เพื่อดึงพริตตี้เหล่านั้นมาไลฟ์ และให้ผู้ใช้บริการซื้อของขวัญภายในแอปเพื่อส่งให้ การซื้อของขวัญก็คือรายได้ของผู้ให้บริการ กับดีเจ เท่ากับว่าถ้าผมจ้างดีเจคนนั้นมาแพง แต่มีคนส่งของขวัญให้น้อย ก็กลายเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า ดังนั้นมันก็ค่อนข้างเสี่ยงถ้าจะมีแค่คอนเทนต์เซ็กซี่ โดยหลังจากเริ่มให้บริการเดือนพ.ค. ปีนี้ ใช้งบการตลาดกว่า 10 ล้านบาท/เดือน”

ใช้พริตตี้ที่มาไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มโปรโมตแอปพลิเคชั่น
ใช้พริตตี้ที่มาไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มโปรโมตแอปพลิเคชั่น

สำหรับการจ้างพริตตี้ของแอปไลฟ์สตรีมมิ่งจะให้เป็นเงินเดือนประจำ 10,000 – 20,000 บาท/เดือน มีสัญญาเป็นเวลาชัดเจน ส่วนรายได้จากการซื้อของขวัญให้จะแยกเป็นอีกส่วน โดยอิทส์มีจะคิดราคา 2 เพชร เท่ากับ 1 บาทในฝั่งผู้ใช้งาน และเมื่อเพชรนั้นถูกส่งไปที่ดีเจ ดีเจสามารถเปลี่ยนเพชรเป็นเงินจริงได้ในอัตรา 60 เพชร เท่ากับ 11 บาท ซึ่งดีเจบางคนสามารถสร้างรายได้กว่า 2 แสนบาทได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และมีพระสงฆ์สมัครเข้าไลฟ์เพื่อสอนพระธรรมด้วย ดังนั้นแอปไลฟ์สตรีมมิ่งไม่ใช่จะขายแค่เซ็กซี่อย่างเดียว

ปรับเนื้อหาสู่การศึกษา

ขณะเดียวกันเป้าหมายของอิสท์มีคือการเป็นศูนย์รวมคอนเทนต์คุณภาพในด้านต่างๆ ทำให้หลังจากนี้จะขยายไปให้บริการคอนเทนต์เด็ก และการศึกษามากขึ้น เช่นการใช้ไลฟ์สตรีมมิ่งสอนภาษาจีน, ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยตอนนี้มีการเจรจากับสถาบัน และกลุ่มครูสอนพิเศษต่างๆ เพื่อให้สมัครใช้งาน แต่รูปแบบการดึงจะเหมือนกับการจ้างพริตตี้หรือไม่ ตรงนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยเพื่อรองรับการใช้งาน จากเดิมมีแค่เซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา

ซึ่งการเดินหน้าสู่คอนเทนต์การศึกษานั้น อิทส์มีจำเป็นต้องปลดล็อคช่วงอายุผู้ใช้ จากเดิมกำหนดให้อายุเกิน 18 จึงจะสมัครใช้งานได้ โดยมีทีมงานตรวจสอบกว่า 100 คนทั่วโลก และอีก 20 คนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเตรียมขยายตลาดไปที่ประเทศเวียดนาม เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคมีความใกล้เคียงกับไทย และจะใช้กลยุทธ์เซ็กซี่สร้างฐานผู้ใช้เหมือนเดิม ก่อนขยับไปที่แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งสำหรับการศึกษา และเด็กเช่นเดียวกับประเทศไทย

สตาร์ทอัพด้าน EdTech จากเวียดนามที่เตรียมทำตลาดในไทย
สตาร์ทอัพด้าน EdTech จากเวียดนามที่เตรียมทำตลาดในไทย

สิ่งที่น่าสนใจ

แอปพลิเคชั่นอิทส์มีวางตัวเป็นผู้ให้บริการจากสหรัฐอเมริกา ผู้สนับสนุนหลักของแอปพลิเคชั่นนี้คือทีมผู้สร้าง Camera 360 แอปพลิเคชั่นแต่งภาพชื่อดัง โดยการทำตลาดในประเทศไทย และเวียดนามได้แต่ตั้ง คุณนิติ นวรัตน์ ลูกชายของ นิติภูมิ เนาวรัตน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมกับเคลมตัวเองเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในตลาดแอปพลิเคชั่นไลฟ์สตรีมมิ่งในไทย ผ่านยอดผู้ใช้กว่า 1 ล้านดาวน์โหลด และมีดีเจไลฟ์ 500 คน/วัน ส่วนคู่แข่งประกอบด้วย Talk Talk ของการีนา มีผู้ใช้แอคทีฟ 5 แสนคน/เดือน และ Bigo Live, iShow รวมถึง Kitty live

สรุป

การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชั่นไลฟ์สตรีมมิ่งรูปแบบนี้อาจดูค่อนข้างฉาบฉวย เพราะใช้พริตตี้ในการดึงดูดให้เกิดผู้ใช้งาน แต่วิธีนี้อาจไม่ยั่งยืน และดูเป็นสีเทาในสังคม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มไลฟ์เนื้อหาอื่นๆ อาจเป็นอีกทางรอด แต่ก็จะไปเจอกับแพลตฟอร์มที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เช่น Topica แพลตฟอร์มการศึกษาจากเวียดนาม และ Twitch ที่เป็นไลฟ์สตรีมมิ่งของกลุ่มเกมเมอร์เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา