ภายในสิ้นปีนี้เตรียมพบกับ LINE TAXI บริการใหม่ของ LINE ที่เข้ามายกระดับการใช้งานแท็กซี่ในประเทศไทย แต่ในสภาวะที่ Ride Sharing อย่าง Uber และ Grab มีพื้นที่ในตลาดมากขึ้น แล้วจะเปลี่ยนใจผู้บริโภคอย่างไร
LINE TAXI กับการต่อยอดของ LINE MAN
หลายคนคงเคยเห็นข่าวการให้บริการ LINE TAXI ในประเทศญี่ปุ่นมาบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่า LINE TAXI ที่จะให้บริการในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ ไม่ได้ยกการทำงาน และแพลตฟอร์มมาจากญี่ปุ่น แต่ถูกสร้างขึ้นโดยนักพัฒนาในประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมกับการให้บริการในไทยมากที่สุด
ขณะเดียวกัน LINE TAXI จะอยู่ภายใต้การบริหารงานโดย LINE MAN แพลตฟอร์มบริการ O2O (Online to Offline) ของ LINE ประเทศไทย กล่าวคือเป็นบริการที่ 5 ต่อจากการรับส่งอาหาร, รับส่งสิ่งของ, รับฝากซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ และบริการส่งพัสดุ โดยการพัฒนาบริการนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการใช้บริการแท็กซี่ของคนไทย
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การพัฒนา LINE TAXI ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา 3 เรื่องคือ เรียกใช้บริการได้ยาก, ไม่ทราบว่าผู้ขับจะต้องไปส่งรถตอนไหน และช่วยเพิ่มความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง ผ่านการร่วมมือกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ เขตกรุงเทพมหานคร ที่มีรถแท็กซี่มิเตอร์ในระบบกว่า 60,000 คัน
ไม่แตกต่าง ก็คงยากในตลาดนี้
“ภายในปลายปีนี้ จะเห็น LINE TAXI ให้บริการ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นด้วย ถ้าทีมพัฒนาของ LINE MAN สามารถทำได้ทัน และที่ LINE เลือกร่วมมือกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ เพราะต้องการให้บริการอย่างถูกกฎหมาย และคิดว่าไม่ต้อง Disrupt ทุกอย่างตามยุคสมัยก็ได้ ถ้าจับมือกับผู้เล่นรายเดิมแล้วยกระดับบริการให้ดีขึ้นได้”
อย่างไรก็ตามตัวรูปแบบธุรกิจ เช่นช่วงแรกจะมีรถในระบบกี่คัน, คิดค่าบริการอย่างไร หรือผู้ขับจะมีรายได้มากขึ้นขนาดไหน ทาง LINE ยังไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าทำถูกกฎหมายจริงๆ น่าจะคิดค่าบริการตามมิเตอร์ และต้องชำระเพิ่ม 20-25 บาทเป็นค่าเรียกเหมือนกับการเรียกรถแท็กซี่ช่องทางอื่นๆ
ประกอบกับ “อริยะ” เองก็ยอมรับว่า ตัว Feature ของ LINE TAXI ก็ไม่แตกต่างกับบริการเรียกรถอื่นๆ ในตลาด เช่นการ Share สถานที่ให้ผู้อื่นรับรู้ มีเพียงความง่ายในการใช้งานแบบ LINE และจำนวนผู้ใช้ในประเทศไทยมากกว่า 33 ล้านบัญชี เป็นตัวดึงดูดเท่านั้น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าคงยากที่จะแข่งขัน หากยังลบภาพเดิมๆ ของแท็กซี่ไม่ได้
ภาพลบยังติดตา คนรุ่นใหม่เลือกทางอื่น
สำหรับแท็กซี่ในประเทศไทยปัจจุบันน่าจะมีอยู่ราว 90,000 คันที่วิ่งอยู่ในปีนี้ ลดลงจากปี 2559 ที่มี 1.1 แสนคัน เพราะมีจำนวนหนึ่งเข้าเกณฑ์ปลดระวาง และมีผู้ขับบางคนเลือกจะเลิกอาชีพนี้ เนื่องจากมีการแข่งขันสูง และค่าตอบแทนไม่จูงใจเพียง 400 บาท/วัน แถมยังต้องเหนื่อยกับการขับอย่างน้อย 12 ชม./วัน
และหากผู้ขับยอมรับความจริง ก็คงรู้ว่ามีแท็กซี่จำนวนหนึ่งที่ปฏิบัติตัวไม่ดี (หน่วยงานรัฐบอกว่ามีเพียง 10% ของแท็กซี่ทั้งหมด) ประกอบกับการนำเสนอข่าวที่มีแต่แง่ลบของการเดินทางด้วยวิธีนี้ ทำให้ความนิยมของการนั่งแท็กซี่มิเตอร์ในไทยลดลงไปบ้าง ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้จะใช้เทคโนโลยียกระดับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น
จึงเชื่อว่าเป็นการยากที่ LINE TAXI จะประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้ให้ LINE อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะ Uber และ Grab คงเตรียมตัวรับน้องใหม่ในช่วงปลายปีแน่ๆ และถึง LINE จะได้เปรียบเรื่องจำนวนผู้ใช้ในระบบจำนวนมาก แต่ถ้าแท็กซี่ที่อยู่ในระบบ LINE TAXI ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากมาย ความได้เปรียบก็ไร้ความหมาย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา